วันที่ 5 ส.ค.2565 - ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะโฆษกกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวผลงาน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. หลังจากดำรงตำแหน่งมากว่า 60 วัน ว่า แบ่งออกเป็น 6 มิติ คือ มิติแรก การบริการสถานการณ์สาธารณสุข ปรับการทำงานของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) ให้เป็น ศูนย์เฝ้าระวังภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพกรุงเทพมหานคร (BHEOC) โดยให้มีภาคประชาสังคมเข้าร่วมเป็นกรรมการภายในศูนย์ด้วย

ซึ่งสถานการณ์การรับมือโรคโควิด-19 มีจำนวนเตียงผู้ป่วยสังกัดกทม. จำนวน 1,148 เตียง มีการครองเตียง 440 เตียง คิดเป็น 38.33% เตียงว่าง 708 เตียง คิดเป็น 61.22% ด้านยารักษา เช่น ฟาวิพิราเวียร์ โมนูพิราเวียร์ มีปริมาณเพียงพอกับผู้ป่วย ด้านการฉีดวัคซีน สามารถวอร์คอินได้หลายที่ เช่น อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพฯ (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง ได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.00-16.00 น., ศูนย์บริการสาธารณสุข ทั้ง 69 แห่ง ในทุกวันศุกร์ เป็นต้น ส่วนโรคฝีดาษวานร มีการรับมือเตรียมพร้อมการป้องกัน และการให้ความรู้กับประชาชน

ส่วน มิติที่สอง คือการเปิดข้อมูลสาธารณะ มีการเปิดสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ทำระหว่าง กทม. กับ บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ทั้งส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ผ่านเว็บไซต์ ต่อมาประชาชนสามารถขอวิดีโอกล้อง CCTV ขอได้ใน 24 ชม. ไม่เกิน 6 กล้อง โดยสามารถระบุกล้องในแผนที่ได้กว่า 62,000 กล้อง พร้อมหาแนวร่วมจากภาคเอกชนในการขอภาพเพิ่มเติม โดยเดือนก.ค. ที่ผ่านมา มีผู้ขอภาพจำนวน 166 ราย ได้ภาพจำนวน 158 ราย ต่อมาการสานต่อเจตนารมณ์ต่อต้านทุจริต 5 Quick Win เช่น การห้ามรับของขวัญ, รื้อฟื้นโครงการใบอนุญาตยิ้ม เป็นต้น

สำหรับมิติที่สาม คือเมืองสร้างสรรค์ มีการจัดงานเทศกาลกรุงเทพกลางแปลง ฉายภาพยนตร์ 26 เรื่อง ผู้ร่วมงาน 88,368 คน มีร้านค้า 345 ร้าน มีเงินหมุนเวียนกว่า 4.3 ล้านบาท ต่อมางานแข่งดุริยางค์ ซึ่งเป็นการที่ไม่มีการจ้างออแกไนเซอร์เอกชนจัดงาน ซึ่งมีประชาชนให้ความสนใจจำนวนมาก บัตรถูกจองหมดภายใน 26 นาที มีผู้ชมผ่านเฟสบุ๊คไลฟ์กว่า 9 แสนคน ต่อมางานดนตรีในสวนจัดทั้งหมด 21 วัน 53 ครั้ง โดยได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ต่อมาการปรับห้องสมุด กทม. จำนวน 12 แห่ง เป็น Co-Working Space ตั้งแต่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ต่อมางานเทศกาลบางกอกวิทยา เป็นการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ได้ตลอดทั้งเดือนส.ค.

โดย นายเอกวรัญญู ยังกล่าวต่อว่า มิติที่สี่ เมืองแห่งโอกาส เป็นการฟื้นเศรษฐกิจเมือง ทาง กทม. ได้จ้างงานคนพิการครบทั้ง 7 ประเภทไปแล้ว 247 คนโดยภายในเดือนก.ย.นี้จะจ้างเพิ่มเป็น 306 คน และเป้าหมายการจ้างงานทั้งหมด 654 คน คิดเป็น 1% ของผู้ปฏิบัติงานของ กทม. ต่อมางานถนนคนเดิน มีหลายเขตได้จัดกิจกรรมแล้ว สำรวจพื้นที่การค้าเพิ่มเติม 15 ย่าน พร้อมยกระดับอาหารริมทางปลอดภัยกว่า 20,000 ร้านค้า

ขณะที่ มิติที่ห้า เพิ่มประสิทธิภาพการบริการและแก้ไขปัญหา ผ่านแอพพลิเคชั่นทราฟฟี่ฟองดูว์ โดยมีคนส่งเรื่องร้องเรียนมาแล้ว 113,881 เรื่อง แก้ไขเสร็จแล้ว 53,358 เรื่อง คิดเป็น 47% ทั้งนี้ 5 ปัญหาที่คนกรุงเทพร้องเรียนมากที่สุด คือ ถนน 19.1% น้ำท่วม 6.8% ทางเท้า 5.7% แสงสว่าง 5.6% ความปลอดภัย 4.9% ต่อมาการขยายศูนย์ One Stop Service 50 เขต จากปัจจุบันที่มีอยู่ 16 เขต ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดขั้นตอน ลดการใช้เอกสาร ต่อมาผู้ว่าสัญจรเดือนก.ค.ที่ผ่าน 3 เขต ประกอบด้วย จตุจักร บางบอน และปทุมวัน

ด้านมิติที่หก ต้นไม้ล้านต้น มียอดจองปลูกต้นไม้ 1.6 ล้านต้น มีการปลูกต้นไม้แล้วทั้งหมด 8.2 หมื่นต้น อีกทั้งทุกคนสามารถร่วมกันปลูกต้นไม้ผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ @Tomorrow tree ต่อมาในเดือนก.ย. นี้จะเริ่มนโยบายแยกขยะ ภายใต้โครงการนำร่อง 3 เขต โดยเป็นการเริ่มแยกเศษอาหาร และขยะอื่นๆ