มาตามนัดสำหรับยุทธการสอย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ตกเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ที่กำหนดว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้”

เร้าบรรยากาศเดือนสิงหาคมให้ร้อนแรงขึ้นตามความคาดหมาย เริ่มก่อหวอดกันด้วย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย หรือครป.  ในนามกลุ่มปัญญาชนและพลเมืองไทย 99 คน ออกมาแถลงเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนวันที่ 24 สิงหาคม เพื่อไม่ให้ละเมิดต่อหลักการ ขัดต่อรัฐธรรมนูญและเกิดความขัดแย้งในสังคมไทย

สอดประสานกับท่วงทำนองของ  จตุพร พรหมพันธุ์ และ นิติธร ล้ำเหลือ หรือ “ทนายนกเขา” ประกาศขีดเส้นตายหลังเที่ยงคืนวันที่ 23 สิงหาคม “บิ๊กตู่” จะต้องพ้นจากตำแหน่งไปโดยอัตโนมัติ หากยังอยู่ในตำแหน่งจะกลายเป็นนายกฯเถื่อน พร้อมปลุกระดมให้ประชาชนแจ้งความได้ทั่วประเทศ

แต่ที่น่าสังเกตก็คือ ไม่มีฝ่ายใดมีท่าทีว่าจะยื่นตีความการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “บิ๊กตู่”  ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน คือพรรคเพื่อไทย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคตั้งแท่นจะไปยื่นตีความในวันที่ 23 สิงหาคม

ทว่ากลับมีรายงานข่าวว่า  “นักรบห้องแอร์” ไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าการยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น กลับจะกลายเป็นการ “ประทับตรา” การันตีให้ “บิ๊กตู่” อยู่ต่อในตำแหน่งไปได้อย่างสะดวกโยธิน

เนื่องด้วยนักกฎหมายระดับมือพระกาฬทั้งหลาย ในพรรคเพื่อไทย ต่างรู้ ทั้งรู้ อยู่แก่ใจ ว่าตามกฎหมายแล้ว “บิ๊กตู่” ได้วีซ่าอยู่ต่อโดยชอบธรรมจนครบเทอม และมีโอกาสที่จะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

ทั้งนี้การดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ “บิ๊กตู่” เกิดขึ้น 2 ครั้ง  ครั้งแรกคือวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2550 ซึ่งไม่มีบทบัญญัติกำหนดเรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง และครั้งที่ 2 คือวันที่  9 มิถุนายน 2562 ตามรัฐธรรมนูญปี 2560  ซึ่งข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญปี 2560

หลักการของกฎหมายทั่วไปและหลักนิติธรรม ระบุว่า จะต้องไม่บังคับใช้รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายย้อนหลังเป็นโทษกับบุคคล  ดังนั้น หากบังคับใช้บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ กับ “บิ๊กตู่”ย้อนหลังให้พ้นจากตำแหน่งไปในวันที่ 24 สิงหาคม ถือว่าเป็นโทษกับบุคคล จึงขัดหลักกฎหมายทั่วไปและหลักนิติธรรม

และหากกฎหมายจะมีผลย้อนหลังก็ต่อเมื่อเป็นคุณเท่านั้น เทียบเคียงกับกรณีการต่ออายุ วรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีอายุ 70 ปี คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ว่าให้อยู่ในตำแหน่งต่อไป ตามบทเฉพาะกาล ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 293 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ต่อมาเมื่อการตรากฎหมายใหม่ คือ  พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2561  บทเฉพาะกาล มาตรา 79 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งยังไม่ครบวาระตามรัฐธรรมนูญ 2550 และดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่ พ.ร.ป. นี้ใช้บังคับยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะครบวาระตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550

ส่วน “บิ๊กตู่” จะอยู่เป็นนายกรัฐมนตรีได้ถึงเมื่อไหร่ มีความเห็น2 แนวทางคือให้แนวทางหนึ่งเริ่มนับตั้งแต่วันที่ รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศบังคับใช้คือ วันที่ 6 เมษายน 2560 ก็จะเป็นได้จนถึงวันที่ 5 เมษายน 2568 แต่หากนับแต่วันที่ถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนายกรัฐมนตรี คือวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 ก็จะสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2570 ทีเดียว

นั่นจึงได้เห็นการ “พลิกเกม”  ของเพื่อไทย โดยดร.สุทิน คลังแสง ที่บอกว่าจะไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพราะกลัวว่า จะเป็นการไปประทับตราความชอบธรรมให้ “บิ๊กตู่”

จึงตีเนียนไม่ยื่นตีความการขาดคุณสมบัติของ “บิ๊กตู่” และหันไปสร้างแรงกดดันให้เกิดขึ้นจากภาคประชาชนนอกสภาฯ หวังผลให้ “บิ๊กตู่” ลาออกเองแทน  ที่แน่นอนว่า “บิ๊กตู่” ย่อมจะไม่ลาออก ซึ่งอาจมีผลต่อการปลุกเร้าการเมืองบนท้องถนน หรือ ม็อบคืนชีพ!!

แม้ลำพัง “จตุพร-ทนายนกเขา” อาจไม่แรงมากพอจะปลุกม็อบใหญ่ แต่เมื่อเงี่ยหู่ฟังสัญญาณ อดีตคนเดือนตุลา อย่าง ภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร หนึ่งในทีมแคร์ หรือที่ถูกขนานนามว่า “นักรบห้องแอร์” ได้ออกมาเขย่าประเด็น 8 ปี ของนายกรัฐมนตรี ก็ต้องบอกว่าต้องเฝ้าระวัง

“วันที่ 23 ส.ค.นี้ ในโอกาสที่นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จะครองอำนาจครบ 8 ปี ขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันจับตามอง และเฝ้าระวังการสืบต่ออำนาจของนายกฯและพวกพ้อง เราจะได้รู้กันว่ามีใครเป็นผู้สนับสนุน เป็นเนติบริกร เป็นผู้คุ้มครอง สร้างเงื่อนไขและโอกาสให้พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงนั่งอยู่ในตำแหน่งนายกฯต่อไป โดยไม่รู้จักอายและไม่สนใจว่ากำลังย่ำยีหลักการกติกาในรัฐธรรมนูญซ้ำๆ เป็นครั้งที่เท่าไร อย่าลืมว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นของพล.อ.ประยุทธ์และพวก แต่เป็นของประชาชนไทยทุกคน ถึงเวลามียางอายคืนอำนาจกลับไปให้ประชาชน”ภูมิธรรม ระบุ

และดูเหมือนจะเริ่มมองเห็นเค้าลาง และกลิ่นแห่งความวุ่นวาย รัฐบาลชิงออกประกาศของ  ห้ามชุมนุม และกิจกรรมมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อโควิด-19 หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่น ที่ก็ถูกตีความว่าเป็น สกัดม็อบ

ดังนั้น ห้วงระยะเวลานับจากนี้ จนถึงวันที่ 23 สิงหาคมจึงเป็น “ห้วงเวลาอันตราย”สำหรับ “บิ๊กตู่” กระนั้นแม้ “บิ๊กตู่”จะได้วีซ่าอยู่ต่ออีกกี่ปีก็ตาม แต่ผู้ที่จะประทับตราให้ “บิ๊กตู่” อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ แค่ไหน คือประชาชน

ที่นับถอยหลังไป เหลือเวลาอีก 8 เดือนก็จะครบวาระรัฐบาล และจะได้ไปตัดสินกันในสนามเลือกตั้ง