บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

สภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ(มลพิษ)ไทยเริ่มที่อากาศพิษ

การจัดการปัญหามลพิษทางอากาศของไทยมีกฎหมายสิ่งแวดล้อมครอบคลุมทุกเรื่องในกฎหมายฉบับเดียว หรือมีกฎหมายเฉพาะเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องอากาศกระจัดกระจาย ได้แก่ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 และกฎหมายเฉพาะเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องอากาศ ได้แก่ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 นอกจากนั้นยังกระจัดกระจายอยู่ในกฎหมายอื่นๆ อีกหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522

เป็นปัญหาระดับชาติมานาน จนคณะรัฐมนตรี (คสช.)มีมติเมื่อ 17 มีนาคม 2558 ถือเป็น “วาระแห่งชาติ” (National Agenda) มอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นเจ้าภาพบูรณาวางแก้ไข “ปัญหาหมอกควัน” อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นพิษขนาดเล็ก หรือ ฝุ่นจิ๋ว ฝุ่นพิษ (อนุภาคขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ Particulate Matter : PM2.5 )และ “ปัญหาหมอกควัน” ที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ(ตอนบน)

ฝุ่นควัน ฝุ่นจิ๋ว ฝุ่นพิษ PM2.5 เป็น "คาร์บอนไดออกไซด์" ในสถานะหนึ่ง เป็นหน้าที่และอำนาจของ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ที่ต้องออก "ประกาศกำหนดเขตควบคุมฝุ่นควันพิษ" ในเขตพื้นที่ที่มีปัญหา มิใช่ปล่อยให้แต่ละจังหวัดบริหารจัดการกันเอง เพราะ จังหวัดและ ส่วนควบคุมไฟป่า กรมอุทยานฯ หรือ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ไม่มีอำนาจนี้โดยตรง เพราะต้องมีการใช้อำนาจแก้ไขปัญหาเชิงบูรณาการ (Integrated) ร่วมกัน

ในเขตเมืองถือเป็นมิติใหม่ในแนวนโยบายการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ของผู้สมัครหลายคน เช่น ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หนึ่งในนโยบายหาเสียง 214 ข้อ คือ “การจัดทีม 'นักสืบฝุ่น' ศึกษาต้นตอ PM2.5” อันเป็นหัวข้อสำคัญของโพลสำรวจความเห็นคน กทม. 75.2% ที่เห็นด้วยกับ “ออกมาตรการตั้งรับวิกฤติฝุ่น PM 2​.​5 ที่จะเกิดขึ้นซ้ำแน่นอน”

การแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ล่วงเลยมาถึงกลางปี 2565 ประเทศไทยได้มีพัฒนาการแก้ไขปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ที่น่าจะดีขึ้น เป็นคำถามของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสายกรีน (Green) ทั้งนี้แนวโน้มพัฒนาการต้องเปรียบเทียบกับกระแสโลกด้วย เพราะ ปัญหา PM 2.5 กับสถานการณ์โรคระบบทางเดินหายใจ มลพิษทางอากาศนับเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมอันดับต้นๆ แม้ว่า มีการอ้างเหตุต้นตอสำคัญของฝุ่นพิษ PM2.5 ไทยว่า มาจากการเผาวัสดุการเกษตรในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ในแปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อย ต้นตอนี้อาจะมีเพียงพื้นที่ภาคเหนือตอนบน แต่ก็มีการอ้างควันไฟป่าจากอินโดนีเซียที่ส่งผลกระทบมาถึงอ่าวไทยตอนบนและ กทม.ด้วย ซึ่งต้นตอที่แท้จริงยังมีอีกมากมาย เช่น ใน กทม.และเมืองใหญ่ คือ ปัญหาการจราจรรถติด ปัญหาควันจากโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น

นอกจากนี้ เรื่อง PM2.5 เป็นปัญหาใหญ่แต่คนสนใจน้อยมาก ชาวบ้านไม่รู้เรื่องอะไร มีคนออกมาเรียกร้องให้ รัฐบาลแก้ปัญหาไม่กี่คน รัฐบาลไม่ให้ความสนใจ หากมีคนมากันเยอะ รัฐบาลต้องสนใจมากกว่านี้ เพราะจะมีผลกระทบต่อคะแนนนิยมของรัฐบาลได้

การฟ้องคดีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) กรณีละเลยล่าช้า

ในรอบปี 2564 ที่ผ่านมามีคดีน่าสนใจที่ชาวบ้านเชียงใหม่ (นายภูมิ วชร เจริญผลิตผล) ยื่นฟ้อง กก.วล. กรณีละเลยล่าช้าเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน จ้งหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน โดยผู้รับมอบอำนาจ คือ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ตามคำพิพากษาศาลปกครองเชียงใหม่ คดีหมายเลขดำที่ 1/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 1/2564 (8 เมษายน 2564) ศาลชั้นต้นสั่งให้ กก.วล.ประกาศเขตควบคุมมลพิษ ตามมาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 คดีอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ศาลสูงของ กก.วล. ซึ่ง กก.วล.ได้ขอขยายเวลายื่นคำให้การแก้คำฟ้องหลายครั้ง (เป็นครั้งที่ 5 เมื่อ เมษายน 2565) นอกจากนี้ชาวบ้านรายเดิมได้ยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่อีกคดี (ศาลปกครองกลางรับคำฟ้อง 28 ตุลาคม 2564) โดยมีคำขอท้ายฟ้องให้ กก.วล. ประกาศมาตรฐาน PM2.5 “ให้มีค่าเฉลี่ย 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร” ในระยะเวลา 24 ชม. ตามมาตรฐาน FRM : Federal Reference Method องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ตามค่าเฉลี่ยรายปีของไทยคือไม่เกิน 25 มคก./ลบ.ม. และเฉลี่ย 24 ชั่วโมงต้องไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.

นอกจากนี้ยังมีองค์กรรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ยื่นฟ้องรัฐเช่นกัน คือ “กรีนพีซ-หมอชนบท” ฟ้องศาลปกครอง (22 มีนาคม 2565) กรณีการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ของรัฐ มีคำขอท้ายฟ้อง 4 ประเด็นคือ

(1) ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ออกหรือแก้ไขประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในบรรยากาศทั่วไป ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล(WHO-IT3) ตามที่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว คือ ค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงของฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (2) ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันออกหรือแก้ไขประกาศกำหนดค่ามาตรฐานควบคุมมลพิษฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนจากโรงงานอุตสาหกรรม และแหล่งกำเนิดอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ในการปล่อยทิ้งอากาศเสีย ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ออกสู่สิ่งแวดล้อม ตาม มาตรา 55 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล (3) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ออกหรือแก้ไขประกาศกำหนดค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานสู่สิ่งแวดล้อม ให้มีค่าปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ไม่เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดและเทียบเท่ามาตรฐานสากล (4) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ออกประกาศกำหนดประเภทสารมลพิษ หรือสารเคมีที่โรงงานต้องจัดทำรายงานข้อมูลตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 27 (พ.ศ.2563) ออกตามความใน พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 โดยมีการรายงานฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน อยู่ในบัญชีมลพิษและสารเคมีเป้าหมาย และจัดทำทำเนียบ การปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) รวมถึงมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะเพื่อให้ประชาชน ภาคประชาสังคม สามารถมีส่วนร่วมตรวจสอบ ป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมได้

สถานการณ์ภาพรวมการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 น่าจะดีขึ้น

คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ประกาศราชกิจจานุเบกษา วันที่ 8 กรกฎาคม 2565 เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป โดยปรับปรุงเปลี่ยนค่ามาตรฐาน PM2.5(ใหม่) ใช้วิธีตรวจวัดอ้างอิง ด้วยวิธีกราวิเมตริก เช่น Federal Reference Method (FRM) และ วิธีตรวจวัดเทียบค่า ได้ปรับปรุง ดังนี้ (1) เดิม ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. มีผลจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ปรับใหม่เป็น ไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 (2) เดิม ค่าเฉลี่ยราย 1 ปี ไม่เกิน 25 มคก./ลบ.ม. ปรับใหม่เป็น ไม่เกิน 15 มคก./ลบ.ม. มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป

หลังจาก กก.วล.และ คพ.ได้ลากยาวคดีปกครองมานานเกือบสองปี คิดว่ามหากาพย์การแก้ไขปัญหาฝุ่นมลพิษ PM2.5 น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น เพราะค่ามาตรฐานฝุ่นที่ กก.วล.ประกาศใหม่สอดคล้องกับที่ชาวบ้าน (นายภูมิ วชร เจริญผลิตผล) และ กลุ่ม กรีนพีซ-หมอชนบท ได้ยื่นฟ้องดังกล่าวข้างต้น คือ ค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. (ตามคำขอท้ายฟ้องขอให้กำหนดค่าเฉลี่ย 37 มคก./ลบ.ม.)

เปรียบค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 เดิม

ค่ามาตรฐานความปลอดภัยของฝุ่น PM 2.5 แตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ ชุมชนเมือง ชุมชนชนบท ท้องที่การเกษตร ป่าเขาฯลฯ ค่ามาตรฐาน PM2.5 ตามประกาศของ กก.วล. มีตัวเลขสูงมากเมื่อเทียบกับตัวเลขที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด กล่าวคือ ค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 ที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยจะไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) จากเดิมที่ 10 มคก./ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 15 มคก./ลบ.ม. จากเดิม 25 มคก./ลบ.ม. ปัจจุบันค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ของไทยเฉลี่ยรายปีคือไม่เกิน 25 มคก./ลบ.ม. และเฉลี่ย 24 ชั่วโมงต้องไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.ค่ามาตรฐานที่ “เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ” (PM2.5 = 51-90 มคก./ลบ.ก.) และหากค่าเกิน 200 “ทุกคน” ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หรือเป็นค่า “มีผลกระทบต่อสุขภาพ” (PM2.5 = น้อยกว่า 90 มคก./ลบ.ม.) จากมาตรฐานที่ต่างจาก WHO กำหนดไว้ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในระยะเวลา 24 ชม.

ร่างกฎหมายข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR)

ที่จริงปัญหามลพิษมีมากมาย มิใช่เรื่องฝุ่นเท่านั้น เมื่อ 4 กรกฎาคม 2565 ตัวแทนจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ได้ยื่นเสนอร่าง “พ.ร.บ.การรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ….” (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อดำเนินการรวบรายชื่อ 10,000 รายชื่อในการเสนอร่างกฎหมายภาคประชาชนเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติของรัฐสภา

สาระสำคัญ “หยุดปกปิดมลพิษ : ข้อมูลมลพิษ คือ สิทธิที่ประชาชนต้องเข้าถึงได้ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและสื่อสารต่อสาธารณะให้เข้าใจและเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการพัฒนาระบบการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR) ขึ้นในประเทศไทย เป็น สิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน (Community Right-to-Know) เป็นกฎหมายที่กำหนดให้มีการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนเกี่ยวกับชนิดและปริมาณของสารเคมีหรือมลพิษที่มีการปลดปล่อยจากแหล่งกำเนิดมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม รวมถึงข้อมูลการนำน้ำเสียหรือของเสียที่มีสารเคมีหรือมลพิษออกจากแหล่งกำเนิด ไปบำบัดหรือกำจัด”

ซึ่งกว่า 50 ประเทศทั่วโลกได้ออกกฎหมายและนำเอา PRTR ไปประยุกต์ใช้ ประโยชน์ของ PRTR เป็นที่ยอมรับทั้งจากหน่วยงานรัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน ในการเป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมต่างๆ รวมถึง กำหนดแนวทางวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษ ติดตามตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมาย การวางแผนรองรับเหตุฉุกเฉิน การลดใช้สารเคมีเป็นพิษในกระบวนการผลิตและการลดการปล่อยมลพิษจากโรงงาน ความปลอดภัยด้านสารเคมีของผู้ประกอบการและคนงาน การมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหามลพิษร่วมกับหน่วยงานรัฐ การเข้าถึงข้อมูลการจัดการสารเคมีเพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องกันตนเองจากมลพิษ เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับพนักงานดับเพลิง โรงพยาบาล ตำรวจ หน่วยกู้ภัย หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินเมื่อเกิดอุบัติภัยสารเคมี

กฎหมาย PRTR จะสามารถบังคับให้โรงงานอุตสาหกรรมเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษที่เกิดจากการผลิตภายในโรงงานเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบที่มาของมลพิษที่อยู่ใกล้ตัวที่อาจส่งผลต่อสภาพแวดล้อมที่ตนอาศัยอยู่ โดยมีหลักเกณฑ์ในการตรวจวัดมลพิษที่ชัดเจนที่ต้องรายงานต่อกรมควบคุมมลพิษ ในขณะเดียวกันกฎหมายดังกล่าวจะเป็นตัวช่วยให้ประชาชนมีข้อมูลเบื้องต้นในการป้องกันและรับมือจากผลกระทบของปัญหามลพิษจากแหล่งกำเนิด

ร่างกฎหมายอากาศสะอาดสำคัญมาก

จากข้อมูล IQAir ของ กรีนพีซ (2 มิถุนายน 2565) มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 29,000 รายใน 31 จังหวัดของไทย กฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (PRTR) จะเป็นหัวหอกให้การบริหารจัดการอากาศสะอาด หรือการแก้ไขปัญหามลพิษ ฝุ่นพิษ PM2.5 เพราะสารมลพิษต่างๆ ที่ปล่อยออกสู่ดิน น้ำ อากาศ มีสารมลพิษชนิดใดบ้างที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารที่เรากิน อากาศที่เราหายใจ และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน และสารมลพิษดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของเราอย่างไร จึงต้องมีกฎหมาย PRTR นี้ขึ้น ตัวอย่างกฎหมายอากาศสะอาดสหรัฐฯกำกับสารเคมีอันตรายในอากาศ และส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพคนมี 184 ชนิด กลไกของกฎหมายนี้มุ่งตรวจสอบมลพิษร้ายแรง อาทิ เป็นสารก่อมะเร็ง สารที่มีพิษเรื้อรัง ตะกั่ว แคดเมียม

“สาระสำคัญกำหนดให้ผู้ผลิต ครอบครองสารมลพิษ จัดทำรายงานข้อมูลและปริมาณการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษต่อกรมควบคุมมลพิษ หากผู้ประกอบการเบี้ยวไม่รายงาน มีโทษทางปกครอง หน่วยงานรัฐบังคับปรับ ปรับเป็นรายวัน ทวีคูณตามระยะเวลาที่ละเลยไม่รายงาน หรือหากรายงานข้อมูลเป็นเท็จมีโทษทางอาญาทั้งจำทั้งปรับ“

เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานพลาสติกหมิงตี้เคมิคอล อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ(5 กรกฎาคม 2564) ถ้าไทยมีกฎหมาย PRTR ก่อนหน้านี้ จะไม่เกิดเหตุระเบิดรุนแรง กรณีหมิงตี้พบฟอร์มัลดีไฮด์ฟุ้งกระจาย ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง จากการสำรวจข้อมูลประเภทโรงงานที่ใช้สารเคมีใกล้เคียงกับโรงงานหมิงตี้กระจายตัวใน กทม. มากถึง 969 โรง นครปฐมมี 389 โรง นนทบุรี 104 โรง ปทุมธานี 268 โรง สมุทรสาคร 1,000 กว่าโรง

ที่ผ่านมาในช่วงปี 2563-2565 มีร่างกฎหมายเกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหามลพิษและเกี่ยวข้องกับอากาศสะอาดที่เสนอต่อสภา 4 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ.... พรรคภูมิใจไทยเสนอ  9 กรกฎาคม 2563 (2) ร่างพ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ.... เสนอโดยประชาชน (หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ สมาคมการค้า สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และเครือข่ายภาคประชาสังคม) 13 กรกฎาคม 2563 (3) ร่างพ.ร.บ.การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ.... พรรคก้าวไกลเสนอ 4 กรกฎาคม 2565 (4) ร่างพ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ..... โดย “เครือข่ายอากาศสะอาด” ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่สำคัญมากฉบับหนึ่ง กำลังอยู่ในกระบวนการรวบรวมรายชื่อให้ถึง 10,000 ชื่อ

หวังว่า อากาศไทยต้องสะอาด เพื่อลูกหลานและอนาคตด้านสุขภาพที่ดีต่อไป เราคนไทยต้องมาช่วยกันผลักดันกฎหมายเหล่านี้ออกมาให้ได้