สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม  วัชรประดิษฐ์

เมืองสมุทรสงคราม หรือเมืองแม่กลอง มีพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังหลายรูป ซึ่งวัตถุมงคลของแต่ละรูปล้วนเป็นที่นิยมสะสมอย่างมากในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องและเหรียญคณาจารย์ รวมทั้งพุทธศาสนิกชนทั่วไป อาทิ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม, หลวงพ่อบ่าย วัดช่องลม, หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน ฯลฯ  แต่มีพระเกจิอาจารย์รูปหนึ่งนับว่ามีความโดดเด่นและมีชื่อเสียงลือเลื่องในยุคก่อนหน้านั้น เรียกได้ว่าเป็นอันดับหนึ่งมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันทีเดียว ท่านคือ “หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย”

หลวงพ่อแก้ว พรหมสโร หรือพระครูวินัยธรรม เกิดเมื่อปี พ.ศ.2393 ที่ ต.บางแค อ.อัมพวา อายุได้ 10 ขวบก็บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบางแคใหญ่ ศึกษาอักขระสมัยและภาษาไทยกับพระอาจารย์ที่วัด ระหว่างนั้นท่านได้ร่ำเรียนกับบิดาผู้เชี่ยวชาญด้านไสยเวทไปด้วย จนอายุครบ 20 ปีจึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ศึกษาด้านพระธรรมวินัยกับพระอุปัชฌาย์จนแตกฉาน ท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อเส็งซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับการถ่ายทอดวิชาด้านพุทธาคมและวิปัสสนากรรมฐานจากพระอาจารย์ อีกทั้งยังเดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อวัดเขาตะเครา จ.เพชรบุรี ศึกษาด้านวิทยาอาคมจนมีความชำนาญเชี่ยวชาญอีกด้วย ในปี พ.ศ.2424 ชาวบ้านได้เดินทางไปนิมนต์ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดช่องลมซึ่งว่างลง ท่านจึงเดินทางมาพร้อมหลวงพ่อบ่ายและพระติดตามอีก 3 รูป จนถึงปี พ.ศ.2430 ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพวงมาลัย จึงมอบหมายให้หลวงพ่อบ่ายเป็นเจ้าอาวาสวัดช่องลมสืบแทน

หลวงพ่อแก้ววัดพวงมาลัย

หลวงพ่อแก้วเป็นพระภิกษุที่เคร่งครัดในวัตรปฏิบัติ มีคุณวิเศษหยั่งรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า มีวาจาสิทธิ์ และเป็นพระนักพัฒนา สมัยที่เป็นเจ้าอาวาสวัดพวงมาลัย ท่านทำการบูรณปฏิสังขรณ์และก่อสร้างพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ และเสนาสนะต่างๆ ภายในวัดจนเจริญรุ่งเรือง ท่านยังได้ช่วยสร้างวัดอีกหลายแห่ง เช่น วัดเขาอีโก้ วัดสาธุชนาราม เป็นต้น ท่านจึงเป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาของบรรดาพุทธศาสนิกชน แม้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่อย่างพระองค์เจ้าภาณุรังษีก็ทรงเคารพเลื่อมใส ถึงกับมาสร้างวังอยู่ใกล้ๆ วัดพวงมาลัยและเสด็จมาเยี่ยมท่านเป็นประจำ

เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อแก้ววัดพวงมาลัย

กิตติศัพท์ทางด้านวิทยาอาคมของหลวงพ่อแก้วเป็นที่เลื่องลือขจรไกล ลูกศิษย์ลูกหาและพุทธศาสนิกชนได้ปรากฏประจักษ์เป็นเนืองนิจ ยกตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่ง เมื่อครั้งดำเนินการสร้างวัดเขาอีโก้ ซึ่งอยู่ในถิ่นทุรกันดารไม่ค่อยมีใครเข้าไปนัก วันหนึ่งลูกศิษย์มาบอกว่าข้าวสารหมด ท่านก็บอกไม่เป็นไรพร้อมนั่งบริกรรมพระคาถาหยิบผ้าอาบมาพาดบนบ่าแล้วฟาดลงบนพื้นดิน 3 ครั้ง จากนั้นก็เดินเข้าไปจำวัดปกติ พอรุ่งขึ้นเช้า ปรากฏมีพวกชาวตลาดได้หาบข้าวสารมาถวายมากมายเป็นที่อัศจรรย์แก่บรรดาลูกศิษย์ยิ่งนัก ชื่อเสียงและเกียรติคุณของท่านในสมัยนั้นโด่งดังมาก พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงกล่าวพาดพิงถึงวัดพวงมาลัยไว้ในเรื่องวัดอัมพวันเจติยารามตอนหนึ่ง มีความว่า

เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อแก้ววัดพวงมาลัย

“…ข้อขัดข้องนั้นคือหาเจ้าอธิการ (หมายถึงวัดอัมพวันฯ) ไม่ได้ แต่ก่อนมาเป็นวัดพระราชาคณะอยู่เสมอ แต่โทรมเข้า โทรมไม่สิ้น เพราะไม่มีใครยอมไปอยู่ การที่ไม่ยอมไปนั้นเห็นด้วยปราศจากลาภผล ไม่เหมือนวัดบ้านแหลม และวัดพวงมาลัย ซึ่งได้ประโยชน์ในด้านของขลังต่างๆ แต่ด้วยเหตุที่ไม่มีสมภารดีจนราษฎรในคลองอัมพวาพากันไปทำบุญเสียที่วัดปากน้ำลึกเข้าไปข้างใน การที่จะแก้ไม่ให้ร้างไม่มีอย่างอื่นนอกจากจะหาสมภารที่ดีมาไว้…”

เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อแก้ววัดพวงมาลัย

วัตถุมงคลของหลวงพ่อแก้วมีมากมายหลายแบบ ทั้งตะกรุดใบลาน ผ้ายันต์ และเหรียญต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นที่นิยมอย่างมากในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องและเหรียญคณาจารย์ โดยเฉพาะชาวแม่กลองและพุทธศาสนิกชนผู้เลื่อมใสศรัทธา โดยเฉพาะ “เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อแก้ว ปี 2459” ซึ่งสร้างขึ้นในโอกาสสร้างพระอุโบสถวัดพวงมาลัย มีการจัดสร้างหลายเนื้อ และแบ่งแยกพิมพ์เป็น 2 พิมพ์ คือ พิมพ์วัดและพิมพ์วังบูรพา นับเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด และสนนราคาค่อนข้างแพง เนื่องด้วยจำนวนการสร้างน้อยและหาดูหาเช่ายากในปัจจุบัน

“เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อแก้ว พิมพ์วัด” ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ หูเชื่อม ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อแก้วเต็มองค์ นั่งขัดสมาธิ ล้อมโดยรอบด้วยช่อดอกไม้ เหนือศีรษะเป็นตัว “อุณาโลม” หางยาวจดขอบเหรียญ รอบนอกสุดเป็นอักขระขอมอ่านว่า “พุทยัด ธาปิด ยะอุด นะอุด โมอัด” ล่างสุดเป็นปี พ.ศ.ที่สร้าง “2459” ด้านหลัง บนสุดเป็นตัว “อุณาโลม” ถัดมาตามแนวรอบขอบเหรียญเป็นอักขระขอมอ่านว่า “นะ โม พุท ธา ยะ อุ ทัง อัด โท ปิด คะ นะ” ช่วงกลางลงอักขระขอมว่า “ภู ภี ภุ ภะ” ต่อลงมาเป็นฉายาอ่านว่า “พรหมสโร” สำหรับ “เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อแก้ว พิมพ์วังบูรพา” พระองค์เจ้าภาณุรังษี เป็นผู้สร้างถวาย ลักษณะเหรียญจะเป็นแบบเดียวกับพิมพ์วัด ต่างกันที่หูเป็นแบบหูในตัว และศิลปะการแกะแม่พิมพ์เป็นฝีมือช่างคนละคนกัน

เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อแก้ววัดพวงมาลัย บล็อกวังบูรพา

หลวงพ่อแก้ว มรณภาพในปี พ.ศ.2464 สิริอายุ 71 ปี พรรษาที่ 51 ในวันพระราชทานเพลิงศพประชาชนผู้เลื่อมใสศรัทธาต่างเฮโลเข้าไปแย่งอัฐิของท่านในขณะที่ไฟลุกโชนอยู่ แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดเป็นแผลไฟไหม้เลยเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก และความศักดิ์สิทธิ์ของท่านยังมีมากมายมาจนถึงปัจจุบัน กล่าวกันว่าถ้าผู้ใดจะจัดงานหรือกิจกรรมใดๆ ที่วัดพวงมาลัยจะต้องจุดธูปเทียนขออนุญาตท่านก่อน งานจึงจะสำเร็จลุล่วง ไม่เช่นนั้นก็จะมีอุปสรรคหรือเหตุขัดข้องต่างๆ นาๆ บางทีไฟก็ดับ บางทีเครื่องเสียงเสีย บางทีนักแสดงป่วยไม่สามารถแสดงได้ อะไรทำนองนี้แน่นอนครับผม

เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อแก้ววัดพวงมาลัย บล็อควัด