ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

“เราไม่ควรแสวงหากำไรในชีวิต เพราะชีวิตไม่มีต้นทุน ทุกอย่างนี้คือกำไรในทุกชีวิตนั้นอยู่แล้ว”

ตอนที่อมรกลับมาเมืองไทยเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้วนั้น เป็นยุคที่เมืองไทยกำลังเข้าสู่ยุค “ฟองสบู่แตก” เงินทองหาง่ายมาก ซื้อขายอะไรก็มีราคาและได้ราคาดี อะไร ๆ ก็ดูน่าลงทุน เขาลงทุนร่วมกับเพื่อนฝรั่งค้าขายงานศิลปะทุกประเภท ที่ขายดีที่สุดก็คือรูปแกะสลักโบราณ ซึ่งมีคนขนมาขายกันมากแถวชายแดนไทยกัมพูชา เขาโชคดีที่ศึกษาเรื่องวัตถุทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ มาพอสมควร และยิ่งได้ไปเพิ่มเติมความรู้ทางด้านนี้ที่ยุโรป ก็ยิ่งทำให้เขามีความเชี่ยวชาญถึงขั้นที่เรียกภาษาวัยรุ่นได้ว่าเป็น “เทพ” ในเรื่องโบราณวัตถุทั้งหลาย ชื่อเสียงของเขาจึงเป็นเครื่องหมายประกันคุณภาพว่าลูกค้าจะได้ของโบราณแท้ ทั้งยังมีประวัติหรือเบื้องหลังอธิบายที่ไปที่มาของศิลปะโบราณแต่ละชิ้นนั้นได้ อันทำให้สินค้าของเขามีมูลค่าสูงกว่าผู้ค้ารายอื่น อีกทั้งสินค้าของเขาก็ถูกนำออกประมูลโดยบริษัทชื่อดังบ่อยครั้ง ก็ยิ่งทำให้เขาทำมาค้าคล่องจนแทบจะไม่มีเวลานับเงิน

เขาค้าขายโบราณวัตถุอยู่เกือบ 10 ปี วันหนึ่งมีคนบอกว่าจะมีการขาย “ของเก่า” จากนักสะสมศิลปะ “ท่านหนึ่ง” แต่ความจริงเป็นการ “ล่อขาย” เพื่อที่จะจับตัวขบวนการค้าศิลปวัตถุโบราณของชาติ ซึ่งชื่อของอมรก็อยู่ในข่ายนั้นด้วย โดยนัดหมายไปดูสินค้ากันที่จังหวัดสุรินทร์ ก่อนเดินทางไปซื้อสินค้าลอตนั้น อมรได้ไปกราบหลวงพ่อที่วัดป่าในจังหวัดที่มีคนแนะนำ เมื่อได้รับศีลรับพรจากท่านแล้วก็จะถวายเงินทำบุญจำนวนหนึ่ง แต่หลวงพ่อท่านไม่รับ ทั้งยังบอกว่าเก็บเงินจำนวนนั้นไว้ “ซื้ออิสรภาพ” ให้กับตัวเองเกิด ทำให้เขาเอะใจและกลับมาคิดถึงเรื่องที่กำลังจะไปซื้อของเก่าล็อตนั้น จนกระทั่งระแคะระคายว่าจะมีการจับกุมในระหว่างที่ซื้อขาย เขาจึงให้ลูกน้องไปแจ้งแก่ผู้ขายว่า ผู้ซื้อที่ต่างประเทศระงับออร์ดอร์ จึงขอชะลอการซื้อนั้นไปก่อน กระนั้นก็มีคนมาบอกอีกว่าจะมีคนมาล่าตัวเขา เขาจึงออกไปอยู่ที่นอกประเทศเกือบ 2 ปี แล้วแอบกลับมาทางเรือ ขึ้นท่าที่ชลบุรี มาเก็บตัวที่บ้านเพื่อนแถวจันทบุรีอีกเกือบปี จนทราบว่าขบวนการค้าวัตถุโบราณนั้นถูกจับแล้ว โดยไม่มีชื่อของเขาในแบล็คลิสต์อีกแล้ว ซึ่งเขาก็ไม่ประมาท ได้ไปขอบวชกับหลวงพ่อที่เป็นคนบอกลางให้เขารอดคุกมาเมื่อ 3 ปีก่อนนั้น หลวงพ่อบอกว่าใครที่บวชกับหลวงพ่อต้องบวชตลอดชีวิต และดูแล้วว่าเขาไม่ใช่คนแบบนั้น จึงแค่อนุญาตให้ปฏิบัติธรรมอยู่ในวัด ซึ่งถ้าเขาเปลี่ยนแปลงได้ก็อาจจะได้บวชต่อไป

อมรอยู่ที่วัดป่าแห่งนั้นได้ราวครึ่งปี และกำลังปวารณาตัวเองว่าจะขอบวชตลอดชีวิต แต่ญาติที่จังหวัดนครศรีธรรมราชได้ตามหาตัวเขาจนเจอ มาบอกว่าเขาได้รับมรดกส่วนหนึ่งจากตายาย เป็นที่ดินใกล้วัดห่างจากตัวจังหวัดเกือบ 30 กิโลเมตร เนื้อที่สัก 2 งาน เขาก็เลยเดินทางไปดู แล้วได้แวะไปทำบุญในวัด และได้เจอกับเจ้าอาวาส ที่ก็ให้บังเอิญว่าเป็น “เกลอเก่า” กันมาตั้งแต่เด็ก ก่อนที่อมรจะไปเรียนชั้นมัธยมที่กรุงเทพฯ ด้วยคำพูดไม่กี่ประโยค ทำให้อมรอยากจะมาอยู่ใกล้ ๆ เพื่อนคนนี้ โดยเฉพาะประโยคที่ว่า “เราไม่ควรแสวงหากำไรในชีวิต เพราะชีวิตไม่มีต้นทุน ทุกอย่างนี้คือกำไรในทุกชีวิตนั้นอยู่แล้ว”

อมรจำได้ว่าตอนนั้นเขาได้พูดขึ้นมาว่า เขาอยากจะบวช เพราะเขาได้ใช้ชีวิตมาอย่างคุ้มค่า จากชีวิตที่เป็นเลขศูนย์ก็สามารถยืนหยัดจนมีเงินทองได้มากมาย ถือว่าชีวิตนี้ “ได้กำไรมาก ๆ”

พระเพื่อนเจ้าอาวาสบอกว่า แต่ไหนแต่ไรเราก็ถูกสั่งสอนว่า เราเกิดมาชดใช้กรรม อย่างกับว่าเรานี้เป็นหนี้เป็นสินใคร ๆ มาแต่ชาติปางก่อน แต่พอร่ำรวยแล้วก็บอกว่าชีวิตนี้มีกำไรมาก ๆ อย่างกับว่าการมีชีวิตอยู่คือผลกำไรของแต่ละคนกระนั้น แต่อย่าลืมว่าคนเราเกิดมาก็ต้องตายทุกคน เกิดแก่เจ็บตายเป็นสามัญลักษณะของทุกคน ชีวิตจึงไม่ใช่ธุรกิจที่จะคิดต้นทุนและมองเห็นผลกำไรอะไรได้ เพราะถ้าเป็นธุรกิจเราสามารถสร้างและพัฒนาธุรกิจของเราได้ แต่ชีวิตของทุกคนไม่อาจจะสร้างและพัฒนาอะไรได้ เราห้ามเกิด ห้ามแก่ ห้ามเจ็บ และห้ามตายไม่ได้ การมีชีวิตอยู่นั่นแหละคือกำไร ตายไปคือปิดกิจการ แต่ถ้าไม่เวียนว่ายตายเกิดนั่นแหละจึงจะเลิกกิจการได้โดยสิ้นเชิง

เขาไม่ได้ไปอยู่กับเพื่อนที่เป็นเจ้าอาวาส และก็ไม่ได้กลับไปบวชที่วัดป่าในจังหวัดสุรินทร์ เขาเลิกทำธุรกิจการค้าทุกอย่าง แล้วไปซื้อที่ 2 ไร่อยู่ที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งแต่แรกเขาคิดจะไปอยู่ในชนบทห่างไกลหรือในป่าลึก ๆ แต่เขายังอยากสัมผัสและใกล้ชิดกับผู้คน เพื่อทำในบางสิ่งบางอย่างที่เขาเคยคิดจะทำ เขาจึงเลือกที่จะอยู่ในชุมชน และทำสวนพืชผักกับเลี้ยงเป็ดไก่เหมือนกับชาวบ้าน เขาแนะนำตัวเองว่าเขาเป็นศิลปิน ปลีกวิเวกมาจากกรุงเทพฯ อยากใช้ชีวิตแบบบ้าน ๆ กินง่าย อยู่ง่าย และชอบช่วยเหลือผู้คน

ในหมู่บ้านที่เขาอยู่มีปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตรอยู่คนหนึ่ง ทั้งยังมีตำแหน่งหน้าที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน ที่ชาวบ้านเรียกว่า “พ่อหลวง” นั้นอีกด้วย อมรเทียวไปเทียวมาที่บ้านพ่อหลวงอยู่บ่อย ๆ อย่างหนึ่งคือไปเรียนรู้วิถีชีวิตแบบการเกษตรพอเพียง และอีกอย่างหนึ่งก็เพื่อจะได้ไปพบกับผู้คนที่เขาจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือพูดคุยด้วย อมรชอบคุยกับเด็ก ๆ และขอให้พ่อแม่ของเด็ก ๆ พาลูกๆ ไปเรียนศิลปะที่บ้านของเขา ซึ่งก็มีคนสนใจจำนวนมาก เนื่องจากเขาสอนฟรี ทั้งยังแถมอุปกรณ์การเรียนให้ด้วย พร้อมกับมีอาหารกลางวันและขนมให้กิน รวมถึงแจกเสื้อผ้าให้เด็กที่ขาดแคลนนั้นด้วย ตลอดจนหาเวทีแข่งขันหรือให้เด็กส่งผลงานไปประกวด  จนได้รับรางวัลอยู่บ่อย ๆ หลายคน และถ้าคนไหนอยากเรียนต่อทางด้านนี้เขาก็ออกทุนให้เรียน รวมถึงหาผู้สนับสนุนและสถานที่ที่เรียนต่อทางด้านศิลปะนั้นให้ด้วย

มีชาวบ้านมาถามว่า เขาเอาเงินมาจากไหนมาดูแลและส่งเสียเด็ก ๆ เหล่านี้ เขาตอบชาวบ้านว่าเขา “กินบุญเก่า” คือผลงานของเขายังมีคนเอาไปทำก๊อบปี้และขายได้ จึงมีค่าลิขสิทธิ์และเปอร์เซ็นต์การขายการทำซ้ำนั้นอยู่ตลอดมา เหมือนกับพวกศิลปินนักร้องและนักแต่งเพลง เขาก็ได้ส่วนแบ่งจากเพลงที่พวกเขาร้องและแต่งเมื่อมีการเอาเพลงของพวกเขาไปเปิดหรือขายนั้นด้วย นอกจากนี้ก็จากพรรคพวกเพื่อนฝูงของเขา รวมถึงนักธุรกิจที่เขาเคยติดต่อหรือเคยซื้อผลงานของเขา ก็ช่วยกันบริจาคมาบ้าง และเขาจะทำอย่างนี้จนตาย โดยบอกกับชาวบ้านว่า บางคนเรียกการทำอย่างนี้ว่า “คืนกำไรให้กับสังคม” แต่สำหรับเขานั้นเชื่ออย่างที่พระเพื่อนเจ้าอาวาสเคยบอกไว้เสมอว่า “ชีวิตนี้ไม่ใช่ธุรกิจ แต่เป็นสหกิจ หรือการอยู่ร่วมกันเท่านั้น”

มีคนถามเขาว่าทำไมเขาจึงไม่มีครอบครัว เขาตอบว่าเขาไม่อยากให้ชีวิตของเขาเป็นเพียงของของใคร แต่อยากให้เป็นของทุก ๆ คน เพราะเราทุกคนนั้นเกิดมาเพื่อใช้ชีวิตเกิด แก่ เจ็บ และตายไปด้วยกันทั้งสิ้น

เมื่อเรามีชีวิตเป็นของกันและกันทุกคนเช่นนี้ แม้จะตายไปเราก็เป็นอมตะ เพราะยังมีคนอื่น ๆ ที่เคยใช้ชีวิตร่วมกันกับเรานั้นยังคงมีชีวิตอยู่ต่อ ๆ ไป