ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

ข้ออ้างของรัฐบาลสหรัฐฯ ก็จะบอกว่ารัฐบาลไม่ได้รับรู้และเห็นด้วย เพราะเข้าใจดีกว่าการกระทำดังกล่าวจะส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน แต่ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจในระบอบประชาธิปไตยรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่อาจไปก้าวล่วง การตัดสินใจของฝ่ายนิติบัญญัติได้

ฟังดูก็เหมือนมีหลักการที่ดี แต่ถามว่าเมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ ก็รู้ว่ามันจะเกิดผลกระทบอย่างไร และรัฐบาลก็คือผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทำไมไม่ห้าม

ส่วนการอ้างว่าเป็นการแบ่งแยกอำนาจในระบอบประชาธิปไตยนั้นมันคนละเรื่อง นั่นมันเป็นประเด็นการแบ่งแยกอำนาจของระบอบการปกครองภายในประเทศ แต่นี่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการกระทำของนางเพโลซี อาจนำมาสู่สงครามที่จะนำหายนะมาสู่ชาติ ไม่ว่าใครจะชนะก็ตาม และจะเดือดร้อนไปทั่วโลกอีกด้วย

ดังนั้นถ้าจะมองดูเจตนาการไปเยือนไต้หวันของนางเพโลซีแล้ว ก็ต้องบอกว่าเพื่อไปปลุกระดมชาวไต้หวันให้กระด้างกระเดื่องต่อจีนแผ่นดินใหญ่ ขณะเดียวกันก็เป็นการไปยั่วยุจีน ทั้งๆที่จีนเตือนหลายครั้ง

หากพิจารณาในแง่กฎหมายระหว่างประเทศและมติของสหประชาชาติที่ 2758 นั่นคือการยอมรับว่ามีจีนเดียว จึงนำไปสู่การถอนไต้หวันออกจากการเป็นคณะมนตรีความมั่นคงถาวร 5 ชาติ แต่นำจีนแผ่นดินใหญ่เข้าไปแทน ในขณะที่สหรัฐฯก็ยอมรับเงื่อนไขนี้ จึงยกเลิกสถานทูตสหรัฐฯประจำไต้หวัน แล้วจัดตั้งเป็นสำนักงานการค้าแทน

ดังนั้นอำนาจอธิปไตยเหนือไต้หวันย่อมเป็นของจีน ก็ในเมื่อรัฐบาลจีนเขาไม่ต้อนรับการไปเยือนของนางเพโลซี และโดยเฉพาะพรรคการเมืองของรัฐบาลไต้หวันก็ได้ยกเลิกคำเชิญไปแล้ว เพราะไม่อยากตกเป็นเหยื่อของการเผชิญหน้าระหว่าง 2 ขั้วมหาอำนาจ ซึ่งจะทำให้ไต้หวันแหลกราญ เหมือนยูเครน ที่ได้เห็นมาแล้ว

ทว่ารัฐบาลของนางไช่ อิงเหวิน ก็ยังคงต้อนรับนางเพโลซีตามคำบัญชาของรัฐบาลสหรัฐฯอยู่ดี ซึ่งพรรค Taiwan Democratic Progressive Party (DPP) ก็ต้องทำนิ่งเฉย

งานนี้อดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย Paul Keating หรือนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ และนักการเมืองระดับนำในประเทศต่างๆ ก็ได้ให้สัมภาษณ์สื่อด้วยความกังวลใจว่าเหตุการณ์มันอาจบานปลายไปสู่ความขัดแย้งขนาดใหญ่ จนเป็นสงครามโลกได้

และเหตุการณ์ก็เป็นไปดังคาดจีนเริ่มปฏิบัติการซ้อมรบด้วยกระสุนจริง มิสไซล์จริง รอบเกาะไต้หวัน

นอกจากนี้ยังประกาศปิดช่องแคบไต้หวัน โดยแสดงความชัดเจนว่าช่องแคบนี้มิได้เป็นเขตน่านน้ำสากล ซึ่งแต่เดิมจีนอะลุ้มอะล่วยเสมอมา เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง แม้กระทั่งการเดินทางผ่านช่องแคบของกองเรือรบสหรัฐฯก็ตาม

อนึ่งสิ่งที่ตามมานอกจากปฏิบัติการทางทหารที่กำลังเผชิญหน้ากันอยู่ แล้วจีนยังตัดรายการค้าสินค้าหลายชนิดจากไต้หวัน เช่น การงดนำเข้าผลไม้ เช่น ส้มจากไต้หวัน และงดส่งทรายให้อีกด้วย ซึ่งยังคงจะมีอีกหลายรายการ คนที่จะได้รับผลกระทบก็คือคนไต้หวัน

ส่วนพวกนักสิทธิมนุษยชนอาจอ้างว่า นี่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่จะแสดงเจตนารมณ์อย่างเสรี ใช่ครับแต่มันไม่ใช่การแสดงสิทธิจนล้นออกไปนอกประเทศ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนที่จะตามมา และยังขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศกับมติของสหประชาชาติ

ขณะนี้ในไต้หวันก็เกิดการชุมนุมมีทั้งผู้สนับสนุนและผู้ประท้วงการมาเยือนของนางเพโลซี ประธานสภาผู้แทนฯของสหรัฐฯ และความขัดแย้งนี้ก็มีโอกาสบานปลายไปสู่การปะทะกันของ 2 ฝ่าย จนกลายเป็นจราจลได้ แล้วใครเดือดร้อนจากการมาเยือนของนางเพโลซี มันก็ประชาชนชาวไต้หวันนั่นเอง

ทีนี้ลองมานึกภาพว่าเหตุการณ์เหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้หรือไม่ หรือเป็นไปได้หรือไม่ นั่นคือเมื่อเกิดการจราจลในแผ่นดินไต้หวัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจีนตามกฎหมาย ไม่ว่าจะใช้ระบบเศรษฐกิจอะไรก็ตาม แต่เมื่อเกิดการจลาจลแล้วรัฐบาลท้องถิ่นใช้กำลังปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง หรือเกินกว่าเหตุ หรือไม่อาจระงับเหตุได้ ซึ่งก็เกิดจากการมาเยือนของนางเพโลซีนั่นเอง

รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ย่อมมีสิทธิที่จะส่งกองกำลังทหารไปปกป้องประชาชนชาวจีน (ไต้หวัน) ได้หรือไม่ แล้วสหรัฐฯจะมีข้ออ้างอะไรที่จะไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศจีน เพราะมันมีเหตุที่รัฐบาลจีนต้องเข้าไปปกป้องประชาชนของตนเอง

ถ้าสหรัฐฯเข้าไปแทรกแซงก็ย่อมเป็นความชอบธรรมของจีนที่จะปกป้องอธิปไตยของตนเอง มันจะยุ่งกันไปใหญ่ไหมนี่ แค่การไปเยือนของนางเพโลซีเพียงคนเดียว กลับก่อให้เกิดสงครามโลกได้

มองอีกด้านก็เท่ากับนางเพโลซีเข้าไปช่วยจีนสร้างความชอบธรรมให้จีนในการรวมประเทศเหลือเพียง 1 เดียว

แต่หากมองอีกด้านเรื่องนี้อาจเป็นการวางแผนของสหรัฐฯ โดยที่จะใช้สงครามในการกำจัดจีนที่กำลังเติบโตขึ้นมาเป็นคู่แข่งทั้งด้านการทหาร และที่สำคัญทางเศรษฐกิจ

หรือถ้าไม่ประสงค์จะให้เกิดสงครามแต่ใช้ไต้หวันเป็นตัวปั่นสถานการณ์และ เป็นการทำการตลาดค้าอาวุธให้แก่ญี่ปุ่น และเกาหลี เพื่อหาเงินมาหล่อเลี้ยงประเทศ โดยการสนับสนุนบริษัทค้าอาวุธให้ร่ำรวยยิ่งขึ้น และบริษัทค้าอาวุธนี้ก็เป็นบริษัทที่ทุนยิวไซออนิสต์ครอบงำอยู่ นอกเหนือจากบริษัทซื้อขายน้ำมันทั้งดิบและสุก

ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วละก็ ใครที่จะร่ำรวยจากการสร้างสถานการณ์ในครั้งนี้ ก็กลุ่มทุนไซออนิสต์นั่นเอง แต่คนซวยก็คือชาวไต้หวัน

เป็นห่วงประเทศไทยที่อยู่ระหว่างเขาควาย หากไม่มีนโยบายต่างประเทศที่ชาญฉลาดจะเอาตัวไม่รอด เพราะลาว กัมพูชา เขาก็อยู่ค่ายจีน เวียดนามกับเมียนมาก็เลือกข้างรัสเซีย ซึ่งก็ถือว่าเขาทำถูกทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ด้วยมีดินแดนติดจีนหากไม่นำรัสเซีย เข้ามาคานก็คงจะไม่ดีนัก

ประเทศไทยจะเอาอย่างไร ถ้าไม่เป็นกลางก็ต้องเลือกข้าง ก็ต้องเลือกให้ดี ถ้าเป็นกลางก็ต้องมีพวกการเป็นกลาง แบบโดดๆในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ยาก เราไม่เหมือนสวิตเซอร์แลนด์ทั้งในแง่ภูมิรัฐศาสตร์และภูมิศาสตร์เศรษฐกิจครับ

แต่หากจะกล่าวว่านางแนนซี เพโลซี คือน้ำผึ้งหยดเดียวจะใช่หรือไม่