ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ จ.นครปฐม พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. รับผิดชอบงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม เป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาทางวิชาการตามโครงการ RTP Cyber Village โดยมีผู้เข้าร่วมรับการสัมมนา เป็นผู้แทนจาก บช.น. และ ภ.1-9 ผู้แทนจากสถานีตำรวจที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกหมู่บ้านหรือชุมชน ที่ใช้เป็นต้นแบบ (Best Practice) จำนวน 10 แห่ง รวมถึงตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วมการสัมมนา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ แสดงความคิดเห็น แบ่งปันประสบการณ์ เพื่อให้ได้รูปแบบการดำเนินงานตามโครงการที่ดีที่สุด (Best Model) นำมาปรับปรุงพัฒนาการดำเนินการตามโครงการ RTP Cyber Village ต่อไป 

พล.ต.ท.ประจวบ  กล่าวบรรยายในหัวข้อการมีส่วนร่วมของประชาชนในงานตำรวจชุมชนและมวลชนสัมพันธ์ ให้แก่ผู้เข้าร่วมการสัมมนา โดยกล่าวถึงนโยบายขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน (Stronger Together) ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่มุ่งการบูรณาการความร่วมมือของส่วนราชการ ภาคเอกชน และประชาชนทุกภาคส่วน รวมพลังกันเพื่อทำนุบำรุงสถาบันหลักของชาติ ตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในทุกมิติ ประกอบกับตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านความมั่นคง ที่ได้กำหนดและให้ความสำคัญในการแสวงหาความร่วมมือจากประชาชน ชุมชน ท้องถิ่นและองค์กร เพื่อป้องกันปราบปรามอาชญากรรมและรักษาความสงบเรียบร้อย 


 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้นำนโยบายรัฐบาลมาสู่การปฏิบัติ โดยได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์ที่ 3 การมีส่วนร่วมของประชาชนในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมอย่างยั่งยืน และดำเนินโครงการ “สร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันอาชญากรรมระดับตำบล เพื่อสนับสนุนการป้องกันอาชญากรรม ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามนโยบายขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน (Stronger Together)” โดยมีเป้าหมาย “เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอและแก้ไขปัญหา ชุมชน สังคมมีความสงบเรียบร้อย ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ ส่งเสริมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เพื่อความผาสุกของประชาชนอย่างยั่งยืน” โดยมอบหมายให้ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข และ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้ช่วย ผบ.ตร. ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ

พล.ต.ท.ประจวบ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินโครงการข้างต้นมาแล้ว 3 ปี (พ.ศ.2563 - 2565) โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 และ พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา มีการอบรมเครือข่ายประชาชนไปแล้วกว่า 296,000 คน และในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ได้มีการอบรมเครือข่ายประชาชนที่เป็นผู้นำและผู้มีบทบาทในสังคม      ทุกสาขาอาชีพ จาก 1,483 สถานีตำรวจทั่วประเทศ สถานีตำรวจละ 50 คน รวม 74,463 คน ทำให้ปัจจุบันมีเครือข่ายประชาชนแล้วจำนวนทั้งสิ้น 371,063  คน   

 

โดยผลการปฏิบัติตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 ถึงปัจจุบัน ได้รับรายงานปัญหาที่ประชาชนเดือดร้อน จำนวน 10,047 เรื่อง และได้ติดตามขับเคลื่อนและเร่งรัดให้หน่วยดำเนินการแก้ไขปัญหาเสร็จสิ้นแล้ว     9,843 เรื่อง ได้แก่ ปัญหาด้านสังคม 7,419 เรื่อง ปัญหาด้านเศรษฐกิจ 394 เรื่อง ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม 1,378 เรื่อง ปัญหาด้านความขัดแย้ง 652 เรื่อง และมีปัญหาที่อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไข โดยได้สั่งการเร่งรัดและคาดว่าจะสามารถแก้ไขได้ 202 เรื่อง และอยู่ระหว่างเสนอส่วนกลางเพื่อดำเนินการแก้ไข 2 เรื่อง

พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวต่อว่า ในปี พ.ศ.2563 - 2564 ขณะดำรงตำแหน่ง ผบช.ภ.5 ได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการข้างต้นเพื่อตอบสนองนโยบายขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน (Stronger Together) ของรัฐบาล โดยการอบรมเครือข่ายประชาชนที่เป็นผู้นำและผู้มีบทบาทในสังคมทุกสาขาอาชีพ จาก 159 สถานีตำรวจในสังกัด ภ.5 สถานีตำรวจละ 100 คน และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและชุมชนได้สำเร็จเป็นรูปธรรม ต่อมาเมื่อได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วย ผบ.ตร. จึงได้รับมอบหมายให้ร่วมกับ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ฯ ร่วมกันขับเคลื่อนและกำกับดูแลงานการมีส่วนร่วมของประชาชนในภาพรวมของ ตร. ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

พล.ต.ท.ประจวบ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้กำชับให้สถานีตำรวจทั่วประเทศ เพิ่มความเข้มในการประสานงานกับเครือข่ายภาคประชาชนที่ได้รับการคัดเลือก ให้สะท้อนสภาพปัญหา ความต้องการของชุมชน และประชาชนในพื้นที่ เพื่อประสานหน่วยงานผู้รับผิดชอบเข้าช่วยเหลือแก้ไขปัญหา และเน้นย้ำให้ข้าราชการตำรวจที่เข้ารับการอบรมตามโครงการนี้ ตระหนักถึงความสำคัญในการมีส่วนร่วมของประชาชน และนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่และสร้างความสงบเรียบร้อยในสังคมต่อไป