ราม วัชรประดิษฐ์ www.arjanram.com พระกริ่ง แม้จะเริ่มมีการเผยแพร่เข้ามาสู่สยามประเทศตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศจีน ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพนรัต แห่งวัดป่าแก้ว หรือ วัดใหญ่ชัยมงคล ได้รับ “ตำราการสร้างพระกริ่ง” มาจากที่ใดไม่ปรากฏ และไม่มีหลักฐานการสร้างที่แน่ชัด ต่อมาตกทอดมายัง สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนฯ แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง กระทั่ง “ตำราพระกริ่ง” ตกทอดมาถึง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร จึงปรากฏหลักฐานการจัดสร้างพระกริ่งขึ้นและทรงขนานพระนามว่า “พระกริ่งปวเรศฯ” สุดยอดของพระกริ่งของไทยที่หาดูได้ยากยิ่งเพราะจำนวนการสร้างน้อยมาก จนเมื่อตกทอดมาถึง สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสเทว) วัดสุทัศนเทพวราราม สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 12 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระกริ่งจึงเริ่มเป็นที่รู้จักและนิยมสะสมกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะสายวัดบวรนิเวศวิหาร, วัดจักรวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม) และ วัดสุทัศนเทพวราราม จวบจนปัจจุบันยังคงมีการจัดสร้าง “พระกริ่ง” ในหลายๆ สำนักทั่วประเทศไทย ด้วยเชื่อในพุทธาคมความศักดิ์สิทธิ์ที่มีมาแต่อดีต กล่าวถึง พระกริ่งยุคสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ที่สร้างให้พระกริ่งเป็นที่กล่าวขานเลื่องลือและแพร่หลายสืบมานั้น เริ่มจากที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ มีความนิยมชมชอบมาแต่ครั้ง “พระกริ่งปวเรศ” จนมาคิดค้นสูตรเฉพาะต่างๆ ของท่านเอง และริเริ่มสร้าง ‘พระกริ่ง’ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2441 ถึง พ.ศ.2486 ซึ่งล้วนทรงคุณค่าและทรงพุทธาคมเป็นเลิศ เป็นที่นิยมสะสมและแสวงหาทั้งสิ้น มีอาทิ พระกริ่งเทพโมลี, พระกริ่งธรรมโกษาจารย์, พระกริ่งพรหมมุนี, พระกริ่งพุฒาจารย์ ฯลฯ จนมาถึงรุ่นสุดท้ายคือ ‘พระกริ่งเชียงตุง’ แต่ด้วยจำนวนการสร้างในแต่ละรุ่นนั้นน้อยมาก ปัจจุบันจึงนับว่าหาได้ยากยิ่งนัก โดยเฉพาะรุ่นแรกและรุ่นสุดท้าย พระกรุ่งรุ่นแรก พระกริ่งเทพโมลี พระกริ่งเทพโมลี พระกริ่งรุ่นแรกของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ.2441-2442 ในวโรกาสที่ได้รับแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ที่ ‘พระเทพโมลี’ โดยสร้างตามตำรับ ‘วัดป่าแก้ว’ และ ‘พระกริ่งปวเรศ’ ที่ทรงรำลึกถึง ซึ่งมีวิธีการอันละเอียดซับซ้อนและเต็มไปด้วยพิธีกรรมมากมาย ทรงตรัสว่า “ต้องดีในและดีนอก” “ดีใน” หมายถึง เมื่อสร้างพระกริ่งออกมาแล้วจะต้องมีเสียงเขย่าดังของเม็ดกริ่งที่ดังกังวาน โดยไม่ปรากฏรูเจาะรูคว้านให้เห็น ซึ่งจะต้องทำอย่างประณีตให้เป็นเนื้อเดียวกับองค์พระ ส่วน “ดีนอก” นั้น คือมวลสารแห่งเนื้อพระต้องตามสูตรอย่างโบราณทุกประการ เป็นเนื้อนวโลหะ ภายในขาวคล้ายเงิน แล้วกลับดำสนิท นอกจากนี้ จำนวนการจัดสร้างก็ต้องถือคติกำลังวัน เช่น วันจันทร์ มีกำลังวัน 15 ก็สร้างพระ 15 องค์, วันอังคาร กำลังวัน 8 ก็สร้าง 8 องค์ เป็นต้น พระกริ่งพระเทพโมลี นับเป็นพระกริ่งมีความงดงามของพุทธศิลปะแบบไทยประยุกต์ มีพุทธลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกริ่งอื่นทั้งมวล และมีพุทธานุภาพเป็นที่ปรากฏ ประการสำคัญคือ จำนวนการสร้างน้อยมาก กล่าวกันว่ามีการจัดสร้างเป็น 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ.2441 จำนวน 9 องค์ และอีกครั้งในปี พ.ศ.2442 อีกจำนวนหนึ่ง โดยรวมแล้วไม่น่าจะเกิน 20 องค์เท่านั้น จึงจะหาดูหาเช่าของแท้ได้ยากยิ่ง นับเป็นหนึ่งในสุดยอดพระกริ่งของไทยอันทรงคุณค่ายิ่ง พระกริ่งรุ่นสุดท้าย พระกริ่งเชียงตุง ส่วนพระกริ่งรุ่นสุดท้าย นาม พระกริ่งเชียงตุง นั้น เป็นการสร้างโดยใช้ “พิมพ์พระกริ่งใหญ่” ของ พระยาศุภกรบรรณสาร (นุ่ม วสุธาร) ผู้อำนวยการกองพระคลังข้างที่ในสมัยรัชกาลที่ 6 อดีตช่างทองหลวงฝีมือดี ด้วยท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงโปรดพิมพ์ “พระกริ่งจีนใหญ่” ที่มีความสวยงามในทุกมุมมอง ซึ่งพระยาศุภกรบรรณสารจะรับอาสาทำแม่พิมพ์พระกริ่งใหญ่ถวายมาโดยตลอด ตั้งแต่ ‘พระกริ่งพรหมมุนี’ ในปี พ.ศ.2458 เมื่อกรอกหุ่นเทียนเสร็จตามจำนวนที่จะเข้าหุ่นดินไทยแล้ว ก็จะนำแม่พิมพ์กลับไปและเป็นเช่นนี้ทุกครั้ง แต่พอถึงปี พ.ศ.2466 ที่ทรงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ก็ทรงใช้เป็นแบบสร้าง ‘พระกริ่งพุฒาจารย์’ เช่นกัน ซึ่งในช่วงนั้นพระยาศุภกรบรรณสารได้ถึงแก่อนิจกรรม จากนั้นมาท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงต้องเปลี่ยนไปใช้แม่พิมพ์อื่นในการสร้างพระกริ่งเป็นเวลาถึง 10 ปี จนถึงปี พ.ศ.2486 คุณหญิงศุภกรบรรณสาร ภรรยาของพระยาศุภกรบรรณสาร ได้นำ ‘แม่พิมพ์พระกริ่งใหญ่’ ซึ่งเป็นแม่พิมพ์ตะกั่วอันเดิมกลับมาถวาย และในปีนั้นเอง ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงโปรดให้หล่อพระกริ่งใหญ่โดยใช้แม่พิมพ์ตะกั่วเดิมนั้น เพื่อประทานแก่เจ้าหน้าที่กรมการศาสนาและพระสงฆ์ที่จะเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ สาธารณรัฐเชียงตุง (ปัจจุบันอยู่ในประเทศพม่า-เมียนม่าร์) ถวายพระนามว่า “พระกริ่งเชียงตุง” โดยสร้างจำนวน 108 องค์ สถาปนาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2486 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ครั้นพอถึงปีรุ่งขึ้น ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2487 ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ก็เสด็จดับขันธ์สิ้นพระชนม์  สิริพระชนมายุ 89 พระพรรษา 66  พระกริ่งเชียงตุง เป็นพระกริ่งที่ทรงสร้างโดยใช้ชนวนพระกริ่งรุ่นต่างๆ ที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงเก็บไว้บนตำหนักสมเด็จฯ ผสมกับเนื้อชนวนพระกริ่ง ปี 2482 และแผ่นทองที่จารพระยันต์ 108 กับ นะ ปถมัง 14 รวมกับแผ่นทองที่เหลือจากการหล่อพระพุทธชินราชอินโดจีน ปี 2485 อีกจำนวนมาก กระแสเนื้อภายในจะออกสีนากอ่อนแล้วกลับเป็นสีน้ำตาล มีทั้งวรรณะอมเขียว ที่เรียกว่า ‘สีไพล (ว่านไพล)’ คือออกสีเขียวเข้ม เพราะแก่ชนวนพระกริ่งนวโลหะ และวรรณะออกน้ำตาลอ่อนและน้ำตาลอมแดง โดยมีท่านผู้รู้ได้ผูกคำพ้องจองกันว่า “พระกริ่งเชียงตุง พิมพ์กริ่งใหญ่ เนื้อเหลืองไพล อุดใหญ่ใกล้บัว” นับเป็นพระกริ่งที่งดงามและหายากยิ่งครับผม