วันที่ 3 สิงหาคม 65 เพจเฟซบุค "กรมประชาสัมพันธ์" ได้เผยแพร่ความคืบหน้าการดำเนินงาน คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 5 THE PEACE DIALOGUE PANEL
เมื่อวันที่ 1 -2 สิงหาคม 2565 คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คพส) นำโดย พล.อ. วัลลภ รักเสนาะ กับคณะผู้แทน BRN นำโดยอุชตาส อานัส อับดุลเราะห์มาน ได้มีการพบปะหารือและพูดคุยแบบเต็มคณะ ครั้งที่ 5 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเชีย โดยมี ตันซรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นอร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวก และมีผู้เชี่ยวชาญร่วมสังเกตการณ์ด้วย สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1) คพส. และ BRN ได้ร่วมกันประเมินการปฏิบัติตามความริเริ่มรอมฎอนสันติสุขระหว่าง วันที่ 3 เมษายน - 14 พฤษภาคม 2565 ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ถอดบทเรียนเพื่อนำไปปรับปรุงการปฏิบัติร่วมกันต่อไป
นอกจากนี้ ยังเห็นพ้องกันว่า ความริเริ่มรอมฎอนสันติสุขเป็นก้าวสำคัญที่จะไปสู่ความร่วมมือในการลดความรุนแรงใน จชต. ในรูปแบบที่เข้มข้นยิ่งขึ้นในห้วงต่อไป
2) จากประสบการณ์ที่ได้จากการปฏิบัติตามความริเริ่มรอมฎอนสันติสุข และตามเอกสาร "หลักการทั่วไปเกี่ยวกับ การพูดคุยเพื่อสันติสุข" คพส. จึงได้นำเสนอร่างข้อเสนอการลดความรุนแรงร่วมกันชั่วคราว (ระยะที่ 2) และริเริ่มให้มี
การจัดการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ในห้วงต่อไป ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวได้กำหนดกรอบมาตรการและกลไกการปฏิบัติร่วมกัน ในรูปแบบที่ครอบคลุมและชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดสันติสุขในพื้นที่ จชต. ส่วน BRN ได้นำเสนอร่างเอกสารแนวคิดในการยุติความรุนแรงในพื้นที่ จชต. พร้อมด้วยร่างเอกสารแนวคิดเกี่ยวกับการจัดเวทีปรึกษาหารือกับประชาชนใน จชต. ด้วย ซึ่งข้อเสนอจากทั้งสองฝ่ายมีจุดประสงค์เพื่อให้บรรลุการลดความรุนแรงทุกรูปแบบใน จชต. ในระยะยาว อย่างเป็นระบบและยั่งยืน พร้อมทั้งริเริ่มจัดเวทีปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่อย่างเปิดกว้าง ซึ่งแสดงถึงความเห็นพ้องร่วมกันถึงความจำเป็นในการจัดให้มีกลไกเพื่อติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ จชต. และรายงานเหตุรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำและเป็นกลาง
3 ) ในขั้นต่อไป คพส. และกลุ่ม BRN เห็นพ้องที่จะนัดหมายพบกันอีกครั้งในระยะอันใกล้นี้ เพื่อหารือร่างเอกสารต่างๆ ร่วมกันในรายละเอียด โดยมีเป้าหมายร่วมกันที่จะบรรลุข้อตกลงและสามารถเริ่มขั้นตอนการปฏิบัติจริงได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งในช่วงก่อนที่จะสามารถบรรลุข้อตกลงดังกล่าว คพส. และกลุ่ม BRN ยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างเสริมบรรยากาศที่เอื้อต่อสันติสุขในพื้นที่ จชต. เพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่
คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดน ภาคใต้ขอความร่วมมือให้ประชาชนและทุกภาคส่วนทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ติดตามสถานการณ์ในการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสันติสุขในพื้นที่ โดยทั้งสองฝ่าย หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในการเสริมสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูล/ ภาพจากเพจ "กรมประชาสัมพันธ์"