วันที่ 2 ส.ค.65 เวลา ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกทม.ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับคณะผู้แทนจากสถาบันอาหารเพื่อยกระดับคุณภาพของสตรีทฟู้ดและขับเคลื่อนนโยบาย Bangkok Street Food ว่า สถาบันอาหารสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารปลอดภัย และมุ่งพัฒนาคุณภาพอาหารตลอดเวลาที่ผ่านมา สอดคล้องกับนโยบายของกทม.ที่มีความตั้งใจพัฒนาคุณภาพอาหารของสตรีทฟู้ดและหาบเร่แผงลอย รวมถึงร้านอาหารในความดูแลของสำนักอนามัยให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และได้รับความเชื่อถือจากนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ

"ปัจจุบัน กทม.มีร้านอาหารกว่า 20,000 ร้าน ซึ่งในเบื้องต้นกทม.มุ่งไปที่เรื่องสตรีทฟู้ดเป็นอันดับแรก เพราะเป็นจุดที่ต้องเร่งในการพัฒนาคุณภาพ ในส่วนของสถาบันอาหารมีทั้งสถานที่ในการฝึกอบรม ตรงสะพานพระราม 8 มีห้องปฏิบัติการในการตรวจคุณภาพต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับ กทม.ที่จะมีการจัดคุณภาพมาตรฐานของสตรีทฟู้ด หาบเร่แผงลอย"

ทั้งนี้ กทม.จัดสตรีทฟู้ด ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ตลาดชุมชน หรือตลาดที่อยู่ในชุมชนมายาวนาน 2.ตลาดของคนทำงาน หรือตลาดที่อยู่ในเมือง กลุ่มเป้าหมายคือคนทำงานออฟฟิศต่างๆ 3.ตลาดนักท่องเที่ยว โดยในช่วงแรก กทม.จะเริ่มจัดคุณภาพอาหารที่กลุ่ม 2 และ 3 ก่อน คือตลาดออฟฟิศและตลาดนักท่องเที่ยวในโซนสุขุมวิท สีลม โดยให้สถาบันอาหารช่วยดูแลเรื่องคุณภาพมาตรฐานของอาหารตามที่กำหนด เพื่อปรับคุณภาพของสตรีทฟู้ดในพื้นที่ให้ปลอดภัยและน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าว "สตรีทฟู้ดในกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทยมีชื่อเสียงไปทั่วโลก เป็นอันดับ 1 ของสตรีทฟู้ดที่ดีที่สุดในโลก แต่สิ่งที่ถูกตั้งตำถามคือ อาหารสะอาดปลอดภัยหรือไม่ในการรับประทาน มีผู้นำเสนอในงานเขียนของต่างประเทศว่า สตรีทฟู้ดของไทยรับประทานได้ แต่ควรจะรับประทานอาหารที่คุณเห็นการปรุงจริงๆ ถ้าไม่เห็นการปรุงด้วยความร้อน ณ ตรงนั้นห้ามกิน เพราะเสี่ยงต่ออาการท้องเสีย ฉะนั้น เราไม่อยากให้เป็นแบบนั้น เราอยากให้คนทานสตรีทฟู้ดของเราด้วยความเชื่อมั่นว่าจะไม่ท้องเสีย ป่วยไข้ในระหว่างเดินทาง เป็นความร่วมมือที่ท่านผู้ว่าฯให้ความกรุณากับสถาบันอาหาร รวมทั้งสภาอุตสาหกรรมและสภาหอการค้าไทย เพื่อทำเรื่องนี้ให้ประชาชนในกรุงเทพฯและต่างชาติมีความเชื่อมั่นในสตรีทฟู้ดของเรา"

ด้าน ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในแง่ของสาธารณสุขเรื่องความปลอดภัย กรุงเทพมหานครพยายามยกระดับมาตรฐานในการประกอบอาหาร จึงต้องการความร่วมมือทางด้านวิชาการ ด้านเทคนิค เพื่อให้ประชาชนที่ประกอบอาหารรายย่อย สามารถสร้างมาตรฐานของอาหารได้จากตัวชุมชนเอง ซึ่งจะช่วยชูจุดเด่นอาหารในชุมชนขึ้นมา ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในอาหาร เขื่อว่าจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ ช่วยให้กรุงเทพมหานครกลับมามีจุดเด่นทางสตรีทฟู้ดที่มีคุณภาพ พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากนี้