ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

หลายๆประเทศในโลกกำลังมีการเปลี่ยนแปลง โดยอีกหลายแห่งต้องผจญกับวิกฤติ อันเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การแพร่ระบาดของโควิด ความแปรปรวนของภูมิอากาศและสภาพแวดล้อม กระทั่งความขัดแย้งระหว่างขั้วอำนาจเก่ากับขั้วอำนาจใหม่ ก็ยิ่งเพิ่มความเข้มข้น จากความขัดแย้งที่ยูเครนเพราะมันคือเกมส์ของอำนาจและผลประโยชน์ ซึ่งฝ่ายใดหากพ่ายแพ้ก็จะถึงกับล่มสลายลงไปทีเดียว

และโดยไม่คำนึงถึงอะไรทั้งสิ้น ต่างก็มุ่งที่จะรักษาผลประโยชน์ของตนเป็นใหญ่ โดยแอบอิงอยู่เบื้องหลังหลักการ เช่น หลักประชาธิปไตย หลักมนุษยธรรม และหลักความยุติธรรม

แต่เอาเข้าจริงกลับกลายเป็นการเลือกปฏิบัติหากมันเอื้อต่อผลประโยชน์ของตน สำหรับมหาอำนาจ โดยที่มิได้คำนึงถึงความทุกข์ยากของประชาชนในประเทศและชาวโลกตาดำๆ

ขอเริ่มจากเหตุการณ์ใกล้บ้านเราที่สุด คือ เมียนมาร์ ที่คณะทหาร ผู้ปกครองได้สั่งประหารนักกิจกรรมด้านประชาธิปไตย 4 คน โดยข้อกล่าวหาที่ฉกาจฉกรรจ์ แต่ในสายตาคนทั่วไปก็มองว่าไม่น่าจะมีโทษถึงประหาร

ทั้งนี้นักกิจกรรมไทย ในหลายส่วนต่างก็ออกแถลงการณ์ประณามการตัดสินประหารในครั้งนี้ แต่ก็คงทำได้แค่นั้นเพราะเราคงจะไปแทรกแซงกิจการภายในของเมียนมาร์ไม่ได้

หรือจะให้ไทยทำตามคำแนะนำของว่าที่ทูตสหรัฐฯ คนใหม่ที่แนะนำให้ไทยและอาเซียนกดดันเมียนมาร์ให้เปิดประตูให้การเมืองไปสู่ประชาธิปไตยแบบตะวันตก หรือจะให้เลิกใช้ก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาร์ สำคัญคือ รัฐบาลไทยจะทำได้หรือไม่ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่นำมาเป็นพลังงานผลิตไฟฟ้าของไทย

ทางด้านสปป.ลาว ขณะนี้เกิดวิกฤติด้านพลังงานอย่างหนักทำให้เกิดผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ แม้ประชาชนรากหญ้าจะยังพอหากินในพื้นที่ได้อยู่ เพราะยังเป็นสังคมเกษตรกรรม แต่ตัวอย่างการร่วมทุนทำรถไฟความเร็วสูงโดยหวังว่าจะเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาเศรษฐกิจของสปป.ลาวนั้นก็เป็นที่ชัดเจนว่ามันไม่ได้ช่วยค้ำชูเศรษฐกิจเลย

แต่ก็แปลกที่ยังมีคนไทยจำนวนหนึ่งเชียร์โครงการนี้ โดยไม่คำนึงถึงว่ามันจะคุ้มค่าและเกิดประโยชน์กับประชาชนรากหญ้าเพียงใด มิหนำซ้ำยังจะทำให้หนี้สาธารณะของไทยเพิ่มขึ้นอีก และที่สำคัญจากตัวอย่างของสปป.ลาว ก็ยังไม่เห็นว่าจีน ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงจะเข้ามาช่วยลาวพยุงเศรษฐกิจอย่างไรที่เป็นรูปธรรม อันนี้ก็ต้องขอเพิ่มเติมโครงการท่าเรือน้ำลึกของศรีลังกา ที่จีนเป็นผู้ให้กู้เงินมาลงทุน มาบัดนี้ต้องให้จีนเช่า 99 ปี ครั้นศรีลังกาประสบกับปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ก็ยังไม่เห็นว่าจีนที่เป็นผู้นำแนวคิด “การริเริ่ม หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ที่สร้างความหวังให้มีความร่วมมือในความริเริ่มการสร้างผลประโยชน์ร่วมกันได้ออกมาช่วยพยุงเศรษฐกิจศรีลังกาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน มีแต่ปล่อยให้ตะวันตกโดย IMF เข้ามาบีบคั้นด้วยระบบเงินกู้ที่มีเงื่อนไขผูกมัดรัดคอ

มาดูญี่ปุ่นภายหลังนายอาเบะถูกลอบสังหาร การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกข้อจำกัดในการใช้งบประมาณขยายกองทัพ และแนวโน้มเพื่อเปิดทางสำหรับการสร้างตนเป็นมหาอำนาจทางทหารของญี่ปุ่นก็ชัดเจนมากขึ้น อันจะก่อให้เกิดการเผชิญหน้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกับจีนและเกาหลี

ที่สำคัญที่ญี่ปุ่นได้แอบทำแบบเงียบๆแต่จะมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของโลกอย่างยิ่งยวด คือการแอบระบายทิ้งน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี จากการผลิตล้มเหลวของระบบโรงไฟฟ้าเซนไดที่จังหวัดฟูกูจิมะ โดยญี่ปุ่นอ้างว่ามีการปนเปื้อนในน้ำเพียงเล็กน้อย แต่ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มายืนยัน ที่สำคัญมันมีวิธีการที่จะกำจัดน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี อยู่หลายวิธีที่นักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์แนะนำ แต่มันแพงกว่า และบริษัทที่ดำเนินการบริหารโรงไฟฟ้านั้นได้ประกาศล้มละลายไปแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นจึงเลือกเอาวิธีที่ถูกๆมักง่าย โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสภาพนิเวศน์ในการระบายน้ำลงสู่ทะเล

ประเทศไทยจึงควรศึกษาให้รอบคอบ อย่าเพียงแต่อ้างว่ามันเป็นพลังงานสะอาดและมีราคาถูก เพราะต้นทุนที่เขาไม่พูดถึงกัน คือการกำจัดกากปฏิกรณ์ปรมาณู ที่แม้แต่ฝรั่งเศสก็เคยแอบเอาไปทิ้งทะเลมาแล้ว เพราะถ้าเก็บรักษาตามกรรมวิธีที่เข้มงวดบนแผ่นดินมันแพงมากครับ

จากญี่ปุ่นไปสู่อังกฤษที่กำลังมีการรณรงค์เพื่อชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษแทนนายบอรีส จอห์นสัน ที่ต้องถูกบีบให้ลาออกไป

จะสังเกตได้ว่าทั้งคู่ใช้การโต้วาทีด้วยถ้อยคำเผ็ดร้อน และพาดพิงถึงเรื่องส่วนตัว ส่วนนโยบายภายในประเทศโดยเฉพาะการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนโดยเพียงแต่แตะๆไม่ได้ชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาเงินเฟ้ออย่างไร การแก้ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยจะทำอย่างไร จะช่วยเหลือคนรากหญ้าอย่างไร ครับแน่นอนว่านี่มันเป็น PLAT FORM ของพวกอนุรักษ์นิยมที่ประกอบไปด้วยนายทุน ชนชั้นกลางส่วนบน และคนผิวขาวเป็นส่วนใหญ่ โดยนาง LIZ TRUSS เน้นการที่ประเทศจะต้องสร้างหนี้สาธารณะเพิ่ม โดยไม่เพิ่มภาษีธุรกิจ และยังอ้างว่าเรื่องหนี้สาธารณะนั้นไม่สำคัญ ให้ดูตัวอย่างสหรัฐฯและญี่ปุ่น ซึ่งในความเป็นจริงกำลังกระอักเลือดเพราะหนี้สาธารณะ และมันเป็นการผลักภาระไปให้คนรุ่นต่อไปต่างหาก

อย่างไรก็ตามทั้งสองฝ่ายต่างโหนกระแสด้วย การมุ่งนโยบายต่างประเทศ โดยประการแรกประณามจีนว่าเป็นภัยคุกคามอังกฤษเบอร์ 1 (นายฤษีกล่าว) แต่นาง LIZ ก็มิได้น้อยหน้าในการประณามจีน โดยมิได้มีหลักฐานข้อมูลใดๆสนับสนุน นอกจากความรู้สึกล้วนๆ

เรื่องต่างประเทศอีกเรื่องที่ทั้งคู่นำมาโต้กัน แต่ก็มิได้มีแนวคิดอะไรใหม่ๆ คือ ปัญหารัสเซีย-ยูเครน นั่นคือการสนับสนุนการแซงก์ซั่น ซึ่งทำให้ประชาชนอังกฤษเดือดร้อน จากการขาดแคลนพลังงาน อาหารและเงินเฟ้อ

ทั้งคู่ต่างไม่มีแนวทางอะไรที่จะแก้ปัญหาอันนำไปสู่การใช้มาตรการทางการทูต เพื่อนำไปสู่การสร้างสันติภาพ

อนึ่งผู้เขียนจากที่ได้ติดตามโพลพบว่าสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมส่วนใหญ่จะเลือกนาง LIZ TRUSSที่ เป็นสายเหยี่ยว และเหยียดผิว ทั้งนี้เพราะสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมผิวขาวยังมีความคิด เหยียดเชื้อชาติที่ยังฝังรากลึกอยู่ในคนแองโกรแซคก์ซั่น

อนึ่งอย่าได้แปลชื่อคู่แข่งอีกท่านคือนายฤษี สุนัก ว่า นามสกุลหมา แม้ว่าหมาบางตัวจะดีกว่าคนบางคน แต่คำว่าสุนักหรือสุนัขในภาษาสันสฤตแปลว่าผู้มีเล็บงาม และเป็นคนผิวสีเชื้อสายอินเดีย

เมื่อลูกคู่ คือ อังกฤษมีแนวโน้มที่จะใช้วิธีการรุนแรงให้เงินให้อาวุธ สนับสนุนสงครามในยูเครน เช่น เดียวกับสหรัฐฯ ก็คงเป็นที่มั่นใจได้ว่าสงครามยูเครนคงจะยืดเยื้อต่อไปเพื่อทำลายรัสเซียให้ได้

แต่ปัญหาเฉพาะหน้า คือ การแซงซั่น ทำให้เกิดการขาดแคลนพลังงาน และอาหารในยุโรปทำให้ประชาชนรากหญ้าเดือดร้อน และจะเดือดร้อนมากยิ่งขึ้นเมื่อเข้าฤดูหนาว นั่นอาจนำไปสู่การจราจลในยุโรปจนอาจต้องเปลี่ยนรัฐบาลหลายประเทศในที่สุด ทว่าคนที่เดือดร้อนมากสุดคือคนที่อยู่ในประเทศที่มีภาวะสงครามไม่ว่าจะเป็นที่ไหน

กลับมาพูดถึงประเทศไทยว่าควรมีท่าทีอย่างไรกับรัฐบาลทหารเมียนมาร์ แม้โดยหลักการเราคงต้องสนับสนุนประชาธิปไตย โดยที่เราเองก็ไม่ค่อยจะเป็นประชาธิปไตยสักเท่าไร เราต้องพูดถึงสิทธิมนุษยชน และมนุษยธรรม ในขณะที่เราก็มีเรื่องการค้ามนุษย์อยู่ แต่การยกหลักการดังกล่าวมันทำให้รัฐบาลไทยดูดีในประชาคมโลก

ขอแต่อย่าบ้าจี้ไปใช้กำลังทหารเข้าไปแทรกแซง เพราะนั่นก็เท่ากับว่าเราเอาตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสงครามตัวแทนอันมีมหาอำนาจขั้วหนึ่งหนุนหลังเรา ขณะที่อีกขั้วหนุนหลังเมียนมาร์ จึงอาจต้องใช้วิธีการ “แทรกแซงอย่างสร้างสรรค์” ถ้าเมียนมาร์จะยอมฟังรัฐบาลไทย