สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้คนในแวดวงลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนใน “ตลาดคริปโตเคอร์เรนซี” เกิดเรื่องให้ช็อควงการ จากกรณีแพลตฟอร์มศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล "Zipmex" ของบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex) ประกาศระงับการเพิกถอนเงินบาท และคริปโตเคอร์เรนซี เนื่องด้วยสถานการณ์ต่าง ๆ รวมถึงความผันผวนของตลาด เหตุการณ์ต่าง ๆ ในอุตสาหกรรม ตลอดจนปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้นจากคู่ค้าทางธุรกิจหลัก อันอยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัท โดยเพื่อรักษาเสถียรภาพของแพลตฟอร์ม บริษัทฯ จะระงับการถอนทุกกรณีชั่วคราว 

เป็นเรื่องที่สร้างความตระหนกให้กับตลาดการเงินได้ไม่น้อย!!! 

เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ทาง “สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์” (ก.ล.ต.) มีหนังสือให้ Zipmex ชี้แจงรายละเอียดถึงผลกระทบที่มีต่อลูกค้า โดยต้องคำนึงถึงการคุ้มครองประโยชน์ของลูกค้า ตลอดจนการปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด  

ซึ่ง “นายเอกลาภ ยิ้มวิไล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง Zipmex ประเทศไทย บอกถึงสาเหตุครั้งนี้ว่า บริษัทฯประสบปัญหากับผลิตภัณฑ์กับตัว Zipup ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นลูกค้าประเทศไทยฝากสินทรัพย์ไว้ที่ Zipmex global สิงคโปร์ โดยที่คู่ค้าของ Zipmex global กำลังประสบปัญหาสภาพคล่องอยู่ เพราะไปลงทุนในแพลตฟอร์มสินเชื่อคริปโต ได้แก่ Babel Finance และ Celsius ทำให้มีผลกระทบกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ใน Zipup โดยเฉพาะ บิทคอยน์ (btc), อีเธอเรียม (ETH), USDT และ USDC เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ และเงินบาทที่อยู่ใน Trade wallet นั้น ลูกค้ายังฝากยังถอนได้ปกติทุกอย่างเหมือนเดิม แต่ตัวโปรดักต์ของ Zipup ยังไม่สามารถทำรายการได้ 

“Zipmex ได้นำสินทรัพย์ไปฝากไว้ที่คู่ค้า Babel Finance จำนวน 48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Celsius จำนวน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมมูลค่า 53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย ณ อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน ประมาณ 1,956.39 ล้านบาท ขณะนี้ Zipmex ได้หารือกับ Babel อย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว และอยู่ในระหว่างประเมินทางเลือกตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้ง 2 ฝ่ายยังคงมุ่งมั่นจะแก้ไขสถานการณ์ให้เร็วที่สุด” 

ขณะที่ “นายณปภัช ปิยไชยกุล” หรือ “ดอกเตอร์บิ๊ก” อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจ วิศวกรรมไฟฟ้า และสังคมศาสตร์ ระบุว่า มูลค่าความเสียหายของ Zipmex ที่ประเมินไว้ประมาณ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย Cointelegraph ได้กล่าวถึงทวิตเตอร์หนึ่งซึ่งอ้างว่า Zipmex Global ได้นำเงินไปลงทุนกับ Celsius และ Babel finance เป็นจำนวนเงินรวม 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5.5 พันล้านบาท

เรื่องนี้สร้างความเสียหายให้กับภาคการลงทุนอย่างมาก!! 

ด้านภาครัฐตื่นตัวออกมาจี้แก้ปัญหา โดย “นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ” ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณี Zipmex ว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง สั่งการให้ ก.ล.ต.จัดทำรายงานเป็นลายลักษณ์อักษร กลับมาที่กระทรวงการคลังด้วย นอกจากนี้ได้กำชับให้ ก.ล.ต.ไปกำกับดูแลศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง และให้ ก.ล.ต.ไปดูรายละเอียดในเรื่องกฎหมาย กรณี ซิปเม็กซ์ นำเงินฝากของนักลงทุน ไปลงทุนต่อในกิจการอื่นว่าผิดข้อกฎหมายหรือไม่ 

“นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวว่า ขณะนี้ต้องรอข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ให้ทางซิปเม็กซ์นำส่งเพิ่มเติมก่อน ทั้งนี้ ก.ล.ต.ต้องดำเนินการตามข้อกฎหมายที่มีอยู่แน่นอน แต่ก็ต้องให้เวลาทางบริษัทฯ เพราะข้อมูลบางส่วนที่เป็นสาระสำคัญเป็นข้อมูลจากต่างประเทศ  

ทั้งนี้เกณฑ์ ก.ล.ต.กำหนดชัดเจนว่า ศูนย์ซื้อขาย ห้ามแตะต้องทรัพย์สินของลูกค้า ก็ต้องรอดูข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเมื่อได้ข้อเท็จจริงครบถ้วน ก.ล.ต.ก็จะดำเนินการตามข้อกฎหมาย โดยประเด็นสำคัญคือ บริษัทฯจะต้องดูแลคุ้มครองผู้ซื้อขายเป็นอันดับแรก และต้องทำตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ที่มีอยู่ ส่วนจะทำผิดหรือถูก ตรงนี้จะมีร่องรอย โดย ก.ล.ต.จะดำเนินการตามกฎหมายอยู่แล้ว เราไม่ได้ละเว้นหน้าที่ เพียงแต่ต้องรอข้อมูล ข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน ส่วนกรณีผู้ประกอบการบางค่ายต้องการให้เปิดรายละเอียดทรัพย์สินลูกค้าทั้งหมด เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่า ตรงนี้ไม่ได้มีปัญหา ใครต้องการเปิดเผยก็ดำเนินการได้ ในส่วนของ ก.ล.ต.ก็มีกติกาอยู่ว่า ศูนย์ซื้อขายจะต้องมีการกระทบยอดทรัพย์สินออกมาด้วย 

เช่นเดียวกับด้านผู้บริโภคที่จี้ “Zipmex” รับผิดชอบ ซึ่ง “สารี อ๋องสมหวัง” เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Saree Aongsomwang รวมทั้งทวิตเตอร์ ระบุกรณี บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex) ประกาศระงับการเพิกถอนเงินบาท และ สินทรัพย์ดิจิทัล ว่า Zipmex ไม่ควรทำในการสั่งห้ามซื้อขาย เพราะอาจจะเข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภค ทั้งนี้ก.ล.ต.ต้องเข้ามาจัดการในเรื่องนี้ เพราะเงินของผู้บริโภค การจะฝากจะถอน เป็นการลงทุน และตัดสินใจของผู้บริโภคเอง ขณะเดียวกันสำหรับราคาที่ลดลงจาก 800,000 บาท เหลือ 600,000 บาทต่อ BTC โดยเงินที่หายไป 200,000 บาทนั้น Zipmex ควรจะรับผิดชอบ

เรื่องนี้จึงเป็นอุทาหรณ์ที่ “นักลงทุน” ต้องศึกษาให้ละเอียดทั้งแง่การลงทุน และแง่กฎหมาย 

ความเป็นไปได้ของผลกำไร – ขาดทุน สามารถปรับเปลี่ยนได้เพียงพริบตา!