บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพืช “โกโก้” (Cocoa) หรือ Theobroma cacao (T. cacao) ถิ่นกำเนิดจากอเมริกาใต้ ประเทศกานา และประเทศแถบแอฟริกา ถูกจับตาเป็นหนึ่งใน “พืชเศรษฐกิจ” ใหม่ เป็นเทรนด์โลกของไทยทั้งแบบการผลิตเชิงเดี่ยว และแบบปลูกแซมรายได้เสริม เช่น ปลูกแซมสวนยาง มะละกอ ด้วยมีสภาพพื้นที่และภูมิอากาศเขตร้อนที่เหมาะสมในการปลูก ที่ปลูกง่ายเพียง 1 ปี 6 เดือนให้ผลผลิตตลอดทั้งปี ความต้องการผลผลิตโกโก้ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศก็มีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับที่ผ่านมาไทยจึงนำเข้าโกโก้เป็นหลัก และผลผลิตโกโก้โลก เอเชียมีเพียง 10% ปี 2560 ผลผลิตโลก 4.5-5.0 ล้านตัน แยกเป็นแอฟริกา 72% ละตินอเมริกา 18% เอเซีย 20% ปัจจุบันไทยนำเข้าในรูปแบบผงโกโก้ และช็อกโกแลต (95%) และส่งออกในรูปช็อกโกแลตและอาหารปรุงแต่งอื่นๆ ที่มีโกโก้ (99%)
แต่เมื่อต้นปีนี้มีข่าวไม่ดีว่า เกษตรกรขายผลผลิตโกโก้ไม่ออก ผลผลิตล้นไม่มีราคา ขายไม่ได้ บริษัทไม่รับซื้อ คือตลาดเมล็ดแห้ง ไม่มีที่ไป ไม่มีตลาดส่งออก ต้องมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เอง เป็นปัญหาที่ไร้การแก้ไข เกษตรกรท้อ เพราะเกษตรกรถูกหลอกขายต้นพันธุ์ สุดท้ายไม่รับซื้อผลผลิตคืน เป็นปัญหาด้านการตลาด (Marketing & Distribution) ตามหลักดีมานด์ซัพพลาย เป็นปกติธรรมดาของเกษตรกร ส่งผลให้เกษตรกรส่วนหนึ่งได้รับความเดือดร้อน เช่นที่ จ. อุดรธานี สกลนคร นครพนม สระแก้ว
ถือเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงการการปลูกพืชเศรษฐกิจใน “ระบบเกษตรพันธสัญญา” (Contract Farming) ตาม “พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ.2560” ใช้บังคับ 23 กันยายน 2560 ที่รัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือแทรกแซง โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ให้เกษตรกรเกิดความเป็นธรรมมีความมั่นคงทางด้านรายได้ ในตลาดการค้าเสรี ข้อมูลมกราคม 2565 มีเกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน รวมตัวกันเพื่อจดแจ้งการประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญา จำนวน 441 ราย แยกเป็นด้านพืช 379 ราย ปศุสัตว์ 48 ราย สัตว์น้ำ 44 ราย ลองมาย้อนดูข้อมูลดิบจากข่าวบ้านๆ ของเกษตรกรชาวบ้านกัน
ความเป็นมาของโกโก้ไทย
ไทยมีโรงงานผลิตช็อกโกแลตของเบลเยียมขายส่งออกมานาน 27-28 ปีแล้ว ที่ จ. ฉะเชิงเทรา ญี่ปุ่นชมว่าช็อกโกแลตไทยอร่อยที่สุด โกโก้ใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม ทำขนม เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ได้ นิยมนำไปเป็นส่วนประกอบในอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ต่างๆ คนส่วนใหญ่รู้จักโกโก้ในรูปแบบ ช็อกโกแลต นอกจากนี้เมล็ดยังมีโพลีฟีนอลและฟลาโวนอยด์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพทางยาด้วย
พืชเศรษฐกิจโกโก้ไทยเริ่มมาจากภาคใต้ เช่นที่ จ. ชุมพร เพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่กระแสแรง เป็นพืชดาวรุ่ง ทดแทนการปลูกยางพารา เหมือนปลูกพืชกระท่อม มีบริษัทส่งเสริมการปลูกนอกจากภาคใต้หลายท้องที่ เช่น ที่ จ. เชียงราย เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร อุทัยธานี ลพบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว เลย บึงกาฬ หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ เป็นต้น ซึ่งหลายจังหวัดการส่งเสริมแบบครบวงจรการผลิต มีเงื่อนไขว่าจะรับซื้อผลผลิตผู้ปลูกที่รับเมล็ดพันธุ์ของบริษัท (จะรับซื้อผลผลิตคืน) ราคาประกันขั้นต่ำ ผลสด ตันละ 10,000 บาท (กก.ละ 10 บาท) เมล็ดแห้ง ตันละ 100,000 บาท
เมื่อ 3-5 ปีก่อน ในระยะแรกบริษัทผู้ส่งเสริมฯ จะเข้าไปชักชวนเกษตรกร โดยแต่งตั้งคนที่มีอำนาจในท้องถิ่น เช่น ผู้ใหญ่บ้านบ้าง ผู้กว้างขวางบ้างให้เป็นการส่งเสริมของบริษัท สร้างภาพ อ้างมีโรงงาน เกณฑ์คนจัดประชุมที่โรงแรมอบรมแก่เกษตรกรที่ร่วมโครงการ โน้มน้าวขายต้นพันธุ์ ปุ๋ย ยา อ้างรับรองราคาและตลาด มีผู้หลงเชื่อเข้ากลุ่มสมัครสมาชิกกันมาก เป็นที่น่าสังเกตว่าในระยะหลังๆ พืชเศรษฐกิจต่างๆ ต่อไปไม่รู้ว่าจะเป็นต้น(ไม้/พืช)อะไรอีก ที่มักมีการหลอกกันมากขึ้น แม้กรมส่งเสริมการเกษตรจะมีการเตือนและส่งเสริมการเกษตรก็ตาม แต่เกษตรกรก็มักยอมรับความเสี่ยงนั้นเอง ด้วยเห็นเม็ดเงินที่หวังได้จากการลงทุนที่มากมาย แต่ข้อเท็จจริงไม่ใช่ เพราะมีองค์ประกอบหลายปัจจัย หลายปัญหา ที่ภาครัฐต้องคอยกำกับดูแลและส่งเสริมช่วยเหลือ และเมื่อปีที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ทำการศึกษารายงานซึ่งเป็นผลดีแก่ธุรกิจพืชโกโก้
สภาพปัญหาโกโก้ “ปลุกปั่น ขายฝัน ลอยแพ แล้วลอยนวล”
ความหวังและความฝันลมๆแล้งๆของเกษตรกรไทยผู้เสียเปรียบมีมานานแล้ว ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจตกสะเก็ดในรอบช่วงวิกฤตโควิด 2-3 ปีที่ผ่านมาเกษตรกรไม่ต้องพูดถึงความฝันเลย เพราะยิ่งฝันยิ่งจมดิ่ง จุดเริ่มการหลอกว่าโครงการโกโก้ 1 ล้านต้น ขายพันธุ์ต้นละ 180 บาท เงิน 180 ล้านบาท เกษตรกรบางคนโดนหลอกขายต้นละ 200 บาทก็มี บางรายกู้ ธ.ก.ส. มาปลูกโกโก้ แย่เลย หากปลูกเป็นร้อยไร่ไม่มีผู้รับซื้อลองคิดดู โชคดีเกษตรกรหลายคนที่ไม่ได้ปลูก เนื่องจากโกโก้เกษตรกรแปรรูปเองไม่ได้ กินก็ไม่ได้ ต้องพึ่งโรงงาน เข้าทำนองผู้ส่งเสริมฯ “ปลุกปั่น ขายฝัน ลอยแพ แล้วลอยนวล” เพราะบริษัทรับซื้อโกโก้ส่วนใหญ่อยู่ภาคใต้ ค่าขนส่งไม่คุ้ม บางภาคไม่มีที่รับซื้อ หรือมีข้อจำกัดในการรับซื้อ เช่น ภาคตะวันออกไม่มีที่รับซื้อ เช่นที่สระแก้วปลูกโก้โก้เยอะ แต่ขายยากมากมีที่รับซื้อที่เดียวคือที่เขาฉกรรจ์
ปัญหาการรับซื้อลูกสดที่ จ.สระแก้ว กิโลละ 4 บาท ลูกแห้งจะมีเชื้อรา เป็นปัญหาที่แก้ยาก ลูกแห้งก็ไม่รับซื้อ ปัญหาคนที่ปลูกเยอะ 50-100 ต้นแล้วขนส่งผลผลิตไปขายโรงงานไกลที่รับซื้ออาจคุ้มค่าน้ำมันรถที่แพงมากได้บ้าง แต่ปลูกรายละน้อยต้นจะไม่คุ้มทุนขนส่ง (คนปลูก 500 ต้นขึ้นไปมีน้อยราย) เวลาผลผลิตออกลูกจะดกมาก นำส่งโรงงานผลดิบ อาจเก็บไม่ทัน เช่น ที่สระแก้วที่รับซื้อมีที่เดียวคือเขาฉกรรจ์
บริษัทรับซื้อโกโก้อยู่ภาคใต้ ค่าขนส่งไม่คุ้ม แถวภาคตะวันออกไม่มีที่รับซื้อ มันจะคุ้มค่าขนส่งไหม จากนี่ลงใต้ มันหลอกว่ามีโรงงานอยู่แถวอรัญ เอารูปภาพโรงงานที่กำลังสร้างมาให้ดู พอเข้าเช็กแผนที่เท่านั้นแหละเห็นมีแต่ป่า การหลอกขายต้นพันธุ์มันมีมาเรื่อยๆ ตั้งแต่อดีตมาแล้ว จะปลูกอะไรให้ดูตลาดแถวบ้านเราด้วย จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อเขา ตัวอย่าง พืชปาล์มน้ำมันที่คลองหาดก็โดนหลอก ยังไม่ทันตัด บริษัทก็ปิดแผงหนี เป็นต้น
ปัญหาผลผลิตที่นายทุนรวยหลอกขายต้นพันธุ์ แต่พอมีผลผลิตออกมาแล้วนายทุนไม่รับซื้อ ไม่มีโรงงานผลิต โกโก้ต้องพึ่งโรงงาน จะปลูกก็ต่อเมื่อแปรรูปเองได้ เพราะโกโก้ มีกระบวนการที่เรียกว่า “Bean to bar” นั้น มีหลายขั้นตอนและเกี่ยวพันกับผู้มีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) หลายส่วน
ข้อจำกัดโกโก้ที่เกษตรกรทำได้เองคือ อาจทำได้เพียงทำน้ำปั่นโกโก้ขายเอง เพียงอย่างเดียว ต่อไปภาครัฐต้องศึกษาว่าจะเอาผลผลิตโกโก้ไปทำอะไรได้อีก เช่น ทำแก๊สโซฮอล์ได้หรือไม่ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เพราะปัจจุบันเกษตรกรขายผลดิบส่งให้โรงงานอย่างเดียว
ที่จันทบุรีโกโก้หลอกกันมาเป็น 10 ปีแล้ว คนจันทบุรีฟันทิ้งเกลี้ยง ตลาดไม่มีแรกๆ ส่งเหนือ ต่อมาผลผลิตปล่อยแขวนทิ้งไว้เต็มต้น ขายไม่ได้ แม้ภาคใต้บางพื้นที่ยังล้มเหลว การหลอกขายพันธุ์ ขายปุ๋ย แล้วก็บินหนี เป็นสโลแกนที่เกษตรกรบางพื้นที่ได้พบและต้องจำ
ปัญหามีว่า คนที่ปลูกโกโก้ไปแล้วจะทำอย่างไร เกษตรกรหลายคนท้อและเริ่มตัดต้นโกโก้ทิ้ง เพื่อนำพื้นที่ไปทำอย่างอื่น ตอนนี้น่ากลัวน่าเห็นใจในความเดือดร้อนของเกษตรกรเหล่านี้ เพื่อให้เขาอยู่รอด ที่เฝ้ารดน้ำกันมาจนติดลูกแล้ว แต่ตลาดไม่รับชื้อ มันยิ่งซ้ำเติมกันเข้าไปอีก เพราะทุกอย่างต้องมีต้นทุน การดูแล และ การเก็บถอนทุนคืน เช่น เงินกู้ และ การดำรงชีพอื่นๆ ของครอบครัว
ความเห็น/ข้อสังเกต/ข้อวิพากษ์
เพื่อเป็นการทบทวนและตรวจสอบสภาพปัญหาการปลูกพืชเศรษฐกิจ “โกโก้” ลองสำรวจตัวอย่างจากพืชไม้เศรษฐกิจอื่น
เหมือนโครงการต้นพะยูง ทั้งพะยูงไหหลำ พะยูงจีน พะยูงเวียดนาม ไม้ฮวงหัวลี่ ที่เคยถูกหลอกมาก่อน อินทผลัม ยางพารา ก็ถูกหลอกขายกล้าพันธุ์เช่นกัน เพราะอินทผลัมต้นพันธุ์แพง ดูแลยาก ผลผลิตขายยาก ส่วนบริษัทที่มาดำเนินการก็เวียนเปลี่ยนชื่อไปมาหลายรอบ เกษตรกรจึงไม่สามารถดำเนินการทางคดีกับบริษัทเหล่านี้ได้
พืชเศรษฐกิจอื่น อาทิ กระท่อม พะยูง (ฮวงโหลี่) ทับทิมอินเดีย ก็มีปัญหาเช่นกัน ส่วนใหญ่หลอกขายฝันกัน ผู้ปลูกยังคงรับความเสี่ยงในตลาดสูง
แม้พืชพื้นบ้าน ที่อำเภอตาพระยา “ฟักข้าว” ก็ยังโดนกัน ค่าประกันก็ไม่ได้คืน หมามุ่ยอินเดียพอปลูกแล้วก็จะไม่มีคนรับซื้อเช่นกัน
ตัวอย่าง การปลูกข่าเหลือง กับตะไคร้ ที่การขายผลผลิตไม่ต่อเนื่อง ยั่งยืน เพราะสุดท้ายก็ไม่มีใครมาซื้อ ยังมีอะโวคาโดอีก
มีอะโวคาโด ราคาขายตลาด กก.ละ 90-100 บาท (ผลลูกละประมาณครึ่ง กก.) ต้องดูมีพวกตัวแทนออกมาพยายามโน้มน้าว ขายต้นพันธุ์ ปุ๋ย ยา และรับรองตลาดราคา มีมาส่งเสริมถึงหมู่บ้านด้วย พวกนี้น่าสงสัยเช่นกัน ยังมีแมคคาเดเมียนัทอีก
การศึกษาการตลาด และระบบการรับประกัน เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อลดความเสี่ยง และสร้างความมั่นคงเรื่องรายได้ ที่จริงพืชเศรษฐกิจหาซื้อเองปลูกเองก็ได้ ขอยกตัวอย่างอินทผลัมที่ผ่านมา บริษัทพวกนี้จะตอบแทนดีตอนแรกๆ ถ้าตลาดตายหรือของล้นตลาดเขาจะไม่สนใจ ต้องมองให้ออกกัน ตอนนี้กำลังฮิตแล้วแต่เวรกรรมของใครของมัน จะทำอะไรศึกษาอนาคตอีก 5 ปี 10 ปีด้วย ไม่เพียงแต่ดูปัจจุบัน มีตัวอย่างให้ดูกันมาแล้วมากมาย สมัยนั้นเคยโดนต้นอินทผลัมประดับ มาให้ปลูกเมื่อก่อนราคา 1,000-5,000 บาท ณ เวลานั้นทำให้ทุกคนในหมู่บ้านตื่นตัว มาบอกขายต้นพันธุ์เดี๋ยวจะมีคนมาซื้อ ก็มีบริษัทมาซื้อเลย แต่พอชาวบ้านปลูกไปกว่าจะโตอีก 5 ปี 10 ปีกลับขายได้ต้นละ 500 บาท บริษัทบอกจะพาคนมาซื้อ แต่ไม่รู้หายไปไหนมาซื้อก็กดราคา เพราะเกษตรกรไม่ได้ศึกษาการตลาดหรือหาแหล่งตลาดไว้สำรองเลย จะไปขายที่ไหนก็ไม่รู้ ถึงปัจจุบันตอนนี้ราคาซื้อกี่บาทก็ต้องขาย ขอให้มีคนมาซื้อก็พอ เกษตรกรเสียเปรียบ เสียทั้งเวลาเสียทั้งเงิน ในกรณีของพันธุ์พืชเศรษฐกิจอื่นๆ ก็เป็นในแนวโน้มทำนองเดียวกัน พอผลผลิตออกมาสู่ตลาดก็ราคาถูกเหมือนเดิม ฉะนั้น หากเกษตรกรใครได้คิดทำศึกษาอนาคตที่ดีแล้ว ให้หาแหล่งตลาดไว้ด้วยกันพลาด เช่น มีหลักประกันในราคา และประกันความเสี่ยงในผลผลิตฯ เพราะโกโก้เก็บไว้กินไม่ได้เหมือนข้าว
สภาพปัญหาควรคิดและข้อเสนอ
เรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืช ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร (patent) สมุนไพรไทย พืชที่สามารถขึ้นทะเบียนพันธุ์ไม้ได้มีจำกัดเฉพาะตามที่ประกาศเท่านั้น ทำให้คนไทยจดสิทธิบัตรไม่ทัน แต่ฝรั่งญี่ปุ่นนำไปวิจัยจดทะเบียนได้ก่อนคนไทย ทั้งที่เป็นพืชดั้งเดิมของไทย
ความหวังในเม็ดเงินที่จะได้จากการลงทุน มองเสมือนว่าเกษตรกรโลภมาก ซึ่งไม่มีหลักประกัน เป็นเรื่องของความเสี่ยงในการลงทุน เกษตรกรไทยมักเป็นแบบนี้เสมอ พึงอย่าตาโต ไม่เห่อตามเขา ให้ศึกษาดูทิศทางการตลาด มีอะไรมาการรับประกันความเสี่ยงด้วย บทเรียนจากต้นกระดาษ ต้นตะกู(ยักษ์) ฮวงหัวลี่ ที่เกิดขึ้นต้องศึกษาทบทวน
ฉะนั้น เกษตรกรไทยบ้านเราจึงหาที่ยั่งยืน มั่นคงในรายได้ยาก เหตุหนึ่งเพราะการตลาดส่งออก ต่างประเทศไม่ได้ หลายอย่างมักเป็นกระแส อยู่สักพัก จากนั้นก็จะโดนลอยแพ ชาวบ้านเสียหายโดนกันมาก
เป็นคนไทยหลอกคนไทยที่น่ากลัว การแนะนำให้เกษตรกรปลูกหญ้ายังดีกว่า ที่เข้ากับบริบทสังคมชนบทเกษตรกรรมไทย หากขายไม่ได้ก็ให้วัวกิน ใบมุงหลังคาแทนหญ้า ปลูกหญ้าเนเปียร์ เลี้ยงสัตว์และเป็นพืชพลังงานได้ ถั่วฮามาตา (Hamata) ใช้เลี้ยงปศุสัตว์ ปลูกหญ้าอาลาฟัล หญ้าฮาลาฟัล หญ้าฮาราฟัสบราซิลยังใช้เลี้ยงเป็ดไก่วัวควายแพะ ปลากินพืช ได้
เกษตรกรต้องรวมกลุ่มกัน เพราะบริษัทเขา ทำเป็นขบวนการ ทำอะไรเขาไม่ได้ ต้องซื้อพันธุ์จากเขา ปุ๋ยจากเขา ขายปุ๋ยไปสัก 5 ปี ถึงเวลาออกผลผลิตก็ปิดบริษัท แล้วก็ไปเปิดใหม่ชื่ออื่น พืชชนิดอื่น อย่างโกโก้ก็ต้องคิดแต่แรกแล้วว่า เป็นไปได้ไหมที่จะรับซื้อราคาหรือแพงกว่าโกโก้ผงที่แปรรูปแล้วในตลาด
เขามาหลอกให้ความหวัง นานๆ ไปกว่าจะออกลูกเก็บผลผลิตได้ มันก็คงมีกันทุกบ้านละ ราคาก็ดำดิ่งลงตามกลไกการตลาด ขายต้นพันธุ์แล้ว กว่าจะได้ลูก พวกคนขายก็หายไปในกลีบเมฆ
ธุรกิจแบบนี้เหมือนการระดมทุนชนิดหนึ่ง เปรียบเหมือนแชร์เงินลูกโซ่ การระดมทุนแชร์ลูกโซ่ ในอดีตคือแชร์บลิสเชอร์ (2556 ศาลอุทธรณ์) แชร์แม่ชม้อย เมื่อ 40 ปีก่อน ซึ่งเป็นผลให้รัฐบาลได้ตราพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน โดยมีผลใช้บังคับวันที่ 13 พฤศจิกายน 2527
เกษตรกรหลายรายยอมรับว่าเคยมีความคิดที่จะลอง “เกษตรพันธสัญญา” แต่สิ่งที่เรามองไกลไปกว่านั้น คือการนำผลมาแปรรูป ไม่ใช่การปลูกขายผลสด อยากให้คนไทยดื่มเครื่องดื่มโกโก้หรือช็อกโกแล็ตแท้ๆ ไม่ใช่กากที่เหลือจากอุตสาหกรรมนำมาปรุงแต่งหลอกให้เราคิดว่านี่คือรสชาติของโกโก้ แต่ลองมองมุมกลับ โกโก้ไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก ช่วยกันโปรโมต พืชไทยที่ขายไม่ออก
ถ้าให้เลือกปลูกปลูกกาแฟดีกว่าตลาดน่าจะดีกว่าโกโก้ ตั้งแต่ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ลามมาถึง โกโก้
เห็นเขาปลูกอยากปลูกตามเขา แต่ไม่ยอมศึกษา หรือคิดเข้าข้างตัวเองก็เจ๊ง พืชต่อไป กระท่อม พลังใบ เตรียมตัวได้เลย ลุกช้าจ่ายรอบวง ครั้งแล้วครั้งเล่า แค่เปลี่ยนตุ๊กตา หวังราคากระท่อม กก.ละ 2,000 บาท แต่ปัจจุบันใบกระท่อมขายทั่วไป พวงละ 20 บาท กัญชา กก. 7 แสน จากนโยบายเสรีที่กำลังถกเถียงกันอยู่ว่ามีปัญหาเป็น Soft Power ด้านลบเสียมากกว่าดี
ตัวต่อไปก็ กระท่อมเงินล้าน หรือสวน/ไร่กัญชา วงจรน้ำเน่า กี่ปีๆ ก็วังวนเดิมๆ หลงเชื่อยังไง ก็ยังเชื่อแบบเดิม
ข้อคิด หากเราผลิตหรือสร้างอะไรสักอย่างขึ้นมา แล้วไม่สามารถต่อยอดได้ด้วยตนเอง ต้องไปพึ่งพาคนอื่น ก็มีแต่จะเสียเปรียบไม่มีอำนาจในการต่อรองราคามูลค่าของสินค้า มีแต่เสียกับเสีย
รัฐบาล กระทรวงเกษตรฯ ต้นเรื่องผู้สนับสนุนเป็นพืชเศรษฐกิจ ต้องออกมารับผิดชอบ มิใช่การรู้เห็นเป็นใจ อย่าปล่อยให้ใครมาหลอกชาวบ้านแบบนี้ได้ ไม่ให้กรรมตกแก่ชาวบ้าน เพราะยังมีพืชอีกหลายชนิดที่ผ่านๆ มาก็โดนเช่น ไม้กฤษณา ลำไย ถั่วดาวอินคา สบู่ดำ พะยูงไหหลำ พะยูงจีน ภาครัฐไม่ต้องรอให้มีใครไปแย้งไปร้อง ที่ชาวบ้านก็ยังตกเป็นเหยื่อ ไม่จำไม่เข็ดกันมาตลอด อย่าหลงเชื่อใครง่ายๆ
ภาครัฐต้องมิให้นายทุนอาศัยช่องโหว่ ทางกฎหมายมาหากินหลอกเกษตรกรชาวไร่ชาวนา เจ้าหน้าที่ผู้มีตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ เช่น เกษตรอำเภอต้องออกมาจัดการดูแลเกษตรกร และบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมาย “ระบบเกษตรพันธสัญญา” ที่ออกมาได้ 5 ปีแล้วให้เต็มรูปแบบ