ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

การได้ไปต่างประเทศไม่เพียงแต่ทำให้อมรหูตากว้างไกล แต่ได้ทำให้ความฝันของเขายิ่งใหญ่มากขึ้นอีกด้วย

ปีสุดท้ายในมหาวิทยาลัยศิลปากร เขาได้ทำโปรเจกต์ใหญ่ที่เป็นงานบังคับก่อนที่จะจบการศึกษา เขาเลือกทำสื่อผสมเกี่ยวกับอาณาจักรไศเลนทร์ โดยนำภาพถ่ายโบราณสถานยุคขอมเรืองอำนาจมาขยายแล้วแต่งสีกับลงลวดลายเส้นสายแบบไทยประเพณี พร้อมกับการนำเสนอที่มีการนำซากปรักหักพังที่ทำจากอิฐและโฟมมาจัดเป็นฉาก ซึ่งเขาอธิบายว่าเขาฝันเห็นภาพเหล่านี้มาตลอดชีวิต เพราะในอดีตชาติเขาเคยเป็น “ผู้ร่วมสร้าง” ปราสาทหินหลายแห่งในเขมร และอยากนำ “ภาพฝัน” เหล่านั้นมาเล่าสู่คนในยุคปัจจุบัน

ในปีสุดท้ายนั้นเช่นกัน กลุ่มสุนทรียภาพที่อมรกับพวกตั้งขึ้นก็พากันไปเที่ยวที่เสียมเรียบ เมื่อไปถึงอมรก็เหมือนเป็นอีกคนละคน เขาสามารถบรรยายรายละเอียดของสถานที่ต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว เหมือนกับว่าเคยมีอาชีพนำเที่ยวสถานที่เหล่านั้นมาเป็นสิบ ๆ ปี และยิ่งได้ขึ้นไปที่ชั้นบนสุดของปราสาทนครวัด ที่ซึ่งเขาฝันว่าเป็นผู้แกะสลัก “อมราวดี” นางอัปสรคู่ชีวิตในอดีตชาติของเขา เขาก็ยิ่งตื่นเต้น แม้ว่ารูปแกะสลักที่เขาเห็นนั้นไม่ได้สวยงามมากมายอย่างที่เขาฝันถึง ซึ่งเขาก็โทษว่า “กาลอากาศ” ที่ผ่านมาเกือบพันปี ได้ทำลายความงามนั้นไปจนหมดสิ้น เหลือไว้แต่ความทรงจำที่เขาบอกใครต่อใครว่า “ไม่มีสิ่งใดมาลบเลือนได้”

คืนหนึ่งในเสียบเรียบ เขาได้ชวนเพื่อนผู้ชายไปนั่งดื่มกินในร้านที่เปิดคล้าย ๆ กับบาร์เบียร์แถวพัทยา เขาได้ยินฝรั่งสองคนคุยกันอยู่ถัดกับเขาไปบนเคาน์เตอร์กลางร้าน ด้วยความที่เขามีอาชีพพาฝรั่งเที่ยวตามวัดวาอารามในเมืองไทยมาตั้งแต่ชั้นมัธยม เขาก็จับความคำพูดของทั้งคู่ได้ว่า ฝรั่งทั้งสองคนเป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติที่สวีเดน ทั้งคู่มาทำวิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมฮินดูที่เขมร เขาก็ขออนุญาตร่วมสนทนาด้วย จนได้เรื่องว่าที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสวีเดนมีทุนปริญญาโทและเอกให้กับนักศึกษาต่างชาติ เขาก็แสดงความกระตือรือร้นที่จะได้ทุนนั้น ฝรั่งคู่นั้นรับปากว่าจะไปเอาทุนนั้นมาให้ อมรจึงให้ที่อยู่ที่ติดต่อให้กับฝรั่งคู่นั้น จนกระทั่งอีก 2-3 อาทิตย์ต่อมาเขาก็ได้รับจดหมายจากสวีเดน แจ้งว่าให้เขาไปเรียนได้ในปีการศึกษาถัดไป พร้อมกับทุนการศึกษาที่มีเงินเดือนให้ด้วย เนื่องจากทุนที่เขาได้เป็นตำแหน่งผู้ช่วยวิจัย แบบที่เรียนไปด้วยทำงานวิจัยไปด้วยนั่นเอง

อมรเล่าให้ทุกคนฟังอย่างภาคภูมิใจมาก ๆ ว่า แม้เขาจะเรียนไม่จบปริญญาโท แต่การที่ได้เป็นผู้ช่วยวิจัยอยู่ที่สวีเดนเกือบ 6 ปี ก็ทำให้เขาได้มีประสบการณ์มหาศาล ร่วมกับการได้มีโอกาสหารายได้จากความเป็นศิลปินของเขาได้อย่างเต็มที่ เขาได้เดินทางไปทั่วยุโรป แต่ที่ ที่ไปบ่อยที่สุดก็คือปารีส ฝรั่งเศส เพราะที่นั่นเป็นแหล่งข้อมูลด้านเขมรศึกษา ที่นักโบราณคดีกับนักล่าอาณานิคมชาวฝรั่งเศสได้ไปศึกษาค้นคว้าไว้ตั้งแต่ช่วงที่ได้ออกไปล่าเมืองขึ้นในยุคก่อนนั้น ทำให้เขาสามารถพูดภาษาฝรั่งเศสได้อีกภาษาหนึ่ง ที่ปารีสนี่เองที่พาให้เขาได้เข้าไปใน “จักรวาลของศิลปิน” โดยได้ไปเห็นศิลปะคลาสสิกถึงแหล่งจริง ๆ ได้คุยกับศิลปินที่มีชื่อบ้างไม่มีชื่อบ้าง แต่ก็ได้ทำให้เขาได้เปิดโลกศิลปะขึ้นไปในระดับสากล เขาได้ไปดูศิลปะต้นกำเนิดในอิตาลี สเปน โปรตุเกส ออสเตรีย เยอรมัน และอังกฤษ ทำให้ทัศนะศิลปะของเขาเปิดกว้าง และมองเห็นว่าศิลปะโดยฝีมือของศิลปินชาวไทยก็ไม่ได้ด้อยกว่าชาติใด ๆ ทั้งยังมีศิลปินไทยหลายคนที่ได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติ ทำให้เขาพลอยได้รับอานิสงส์และได้ผลิตผลงานที่ขายได้ในราคาที่งดงามตามไปด้วย

มีเรื่องหนึ่งที่ค้างคาใจเขาจากการที่ได้เดินทางไปในบางประเทศในยุโรป ครั้งหนึ่งที่ประเทศนอร์เวย์เขาได้ไปพบกับกลุ่มนักเรียนไทย มีจำนวนหนึ่งพอเอ่ยชื่อก็รู้จัก เพราะเป็นอดีตแกนนำนิสิตนักศึกษา บางคนอ้างว่ามาเรียนต่อ แต่ความจริงคือลี้ภัยหรือหนีภัยทางการเมืองมาจากประเทศไทย คนไทยกลุ่มนี้ชอบคุยเรื่องการต่อสู้กับเผด็จการทหารและระบอบศักดินา ความจริงตัวของอมรเองก็ไม่ใช่พวกคลั่งสถาบัน แต่พอฟังคำพูดของคนกลุ่มนี้ที่พูดถึงสถาบันในทางเสียหายอย่างรุนแรง และมีแนวคิดถึงขั้นที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยเป็นระบอบสาธารณรัฐด้วยแล้ว ก็ทำให้เขาขัดข้องใจเป็นอย่างมาก บางทีเขาก็คิดว่าคนพวกนี้ไม่น่าจะเป็นคนไทยเสียด้วยซ้ำ

หรืออาจจะเป็นเพราะว่าเขาเป็นคนประเภท “คลั่งประวัติศาสตร์” เพราะเมื่อเขาพูดอะไรที่ขัดแย้งออกไป แกนนำนักศึกษาคนนั้นก็หาว่าเขาเป็นพวกที่มีแนวคิดอนุรักษ์ จมปลักอยู่กับอดีตที่หล่อหลอมด้วยศักดินา พอเขาเถียงออกไปมาก ๆ คนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้มาเสวนากับเขาอีก ทั้งยังกล่าวหาว่าเขาอาจจะเป็นสายลับของรัฐบาลและเป็นอันตรายต่อกิจกรรมที่คนกลุ่มนี้กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งอีกหลายปีต่อมาที่เขากลับมาเมืองไทยแล้ว ก็ได้ยินชื่อคนบางคนในกลุ่มนี้ว่าอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของพวกสีเสื้อการเมืองบางกลุ่ม ที่อุบาทว์ไปยิ่งกว่านั้นก็คือคนพวกนี้เป็นต้นกำเนิดของกลุ่มความคิดที่เรียกว่า “ปฏิญญาฟินแลนด์” ที่ไม่น่าจะมาเกิดในท้องพ่อท้องแม่ที่เป็นคนไทยนั้นเลย

พวกผู้คนที่เขาได้รู้จักที่ถึงแม้ว่าจะเป็นศิลปินเสียส่วนมาก ซึ่งธรรมชาติของศิลปินแล้วจะเป็นพวกที่ไม่ค่อยจะ “เอาไหน”ในทางการเมืองเท่าไรนัก เพราะชอบที่จะใช้ชีวิตแบบอิสรเสรีจนถึงขั้น “ปล่อยวาง” ไม่สนใจเรื่องราวใด ๆ ในโลกนี้ทั้งสิ้น แต่เมื่อเขาได้ฟังว่ามีกลุ่มผู้คนที่คิดจะล้มล้างสถาบัน ศิลปินที่เขารู้จักหลายคนยังพูดว่า “คนไทยโชคดีที่ยังมีกษัตริย์” ศิลปินบางคนพูดได้น่าฟังว่า ประเทศในยุโรปนี้เหลือที่มีกษัตริย์เป็นประมุขอยู่ไม่กี่ประเทศก็จริง แต่ประเทศที่มีกษัตริย์เป็นประมุขของชาติอยู่นั้น ก็ทำให้ชาตินั้น “ดูดี” กว่าประเทศอื่น ๆ ที่ไม่มีกษัตริย์ปกครอง “ดูอย่างอังกฤษสิ พวกเขาช่างมีสง่าราศีเสียเหลือเกิน เหมือนกับคนอังกฤษนั้นมีมงกุฎสวมใส่ศีรษะกันอยู่ทุกคน” ทำให้อมรนึกถึงถ้อยคำของกวีที่เขาเคยเรียน ที่กล่าวไว้ว่า “ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น” แล้วก็มองเห็นความสง่างามของคนไทยขึ้นมาจริง ๆ

อมรกลับมาเมืองไทยด้วยความจำเป็น เพราะเขาไม่สามารถที่จะต่อวีซ่าให้ยืดยาวไปมากกว่า 5 ปีนั้นได้ ตามข้อจำกัดที่ทางรัฐบาลสวีเดนตั้งเกณฑ์ไว้สำหรับนักศึกษาชาวต่างชาติ แต่กระนั้นเขาก็ยังอยู่ในยุโรปมาได้อีกเกือบหนึ่งปี ด้วยการขอไปทำวีซ่าเป็นนักท่องเที่ยวประเทศนั้นบ้างประเทศนี้บ้าง ประเทศละ 1-3 เดือน แล้วพอต่อมา หลายประเทศในยุโรปได้กลายเป็นสหภาพยุโรป เขาก็ไม่อาจจะทำวีซ่าข้ามประเทศต่อไปได้อีก แต่เมื่อเขากลับมาเมืองไทยเขาก็ไม่ได้ทุกข์ยากอะไรมากนัก เขามีทุนรอนที่สะสมมาจากการทำงานศิลปะที่ยุโรปนั้นมากพอควร เพียงพอที่จะมาใช้ชีวิตอย่างสุขสบายตามสมควร และด้วยรสนิยมส่วนตัวของเขาที่ไม่ชอบการอยู่เป็นครอบครัวกับใคร ก็ยิ่งทำให้เขานั้นปลอดโปร่งจากพันธนาการทางสังคมไปหลายส่วน และเขาได้ตั้งตนเป็น “ศาสดา” ในเรื่องนี้ ที่มีผู้เชื่อถือและศรัทธาในตัวเขาพอสมควร

พวกเราหลายคนอาจจะไม่รู้จักกับลัทธินี้ แต่ในโลกอนาคตพวกเราอาจจะได้เห็นคนในแนวคิดแบบนี้แหละที่จะมาครองโลกของเรานี้ต่อไป