พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบด้วยพระเนตรพระกรรณถึงปัญหาความทุกข์ยากของราษฎรมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ จากการติดตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปเยี่ยมเยียนพสกนิกรทุกภูมิภาคของประเทศไทย ทรงพระวิริยะอุตสาหะเอาพระราชหฤทัยใส่ในการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท สมเด็จพระบรมราชบุพการี ด้วยทรงตระหนักถึงพระราชภาระอันสำคัญที่รอคอยอยู่ในภายภาคหน้า

“เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” พระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 สะท้อนถึงพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการทรงงานเพื่อจะสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงด้วยน้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาต่อประชาชนทุกหมู่เหล่า โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่แล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างดำเนินการล้วนได้รับการสืบสานรักษา และต่อยอดอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน

พระองค์ทรงตระหนักในคุณค่าของแนวพระราชดำริเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทรงยึดมั่นในพระราชดำริต่าง ๆ ที่สมเด็จพระบรมชนกนาถพระราชทานไว้เป็นแสงสว่างนำทางตามรอยพระราชปณิธานนำความผาสุกไปสู่ประชาชนและประเทศชาติสืบไป โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจึงครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำ การพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกร การสาธารณสุข การศึกษา การรักษาทรัพยากรธรรมชาติ อันนำไปสู่ความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ ที่ทรงให้ความสำคัญกับ “น้ำ” ปัจจัยหลักในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของราษฎร

นับตั้งแต่ทรงมีพระราชดำรัสตอบรับขึ้นทรงราชย์ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2559 พระองค์พระราชทานพระราชดำริให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 – 30 มิถุนายน 2565 จำนวน 140 โครงการ เป็นโครงการที่พระราชทานพระราชดำริโดยตรง จำนวน 39 โครงการ แบ่งเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในเขตพื้นที่จังหวัดสกลนครจำนวน 23 โครงการ โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 15 โครงการ และโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันโรงเรียนบ้านเด่นชาติ อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งทั้ง 39 โครงการนี้ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และโครงการที่เกิดจากราษฎรขอพระราชทานความช่วยเหลือ (ฎีกา) ซึ่งทรงรับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้ว จำนวน 101 โครงการ ซึ่งโครงการทั้ง 140 โครงการ กระจายอยู่ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ โดยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ 52 โครงการ ภาคกลาง 18 โครงการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 53 โครงการ ภาคใต้ 17 โครงการ

เพื่อให้การดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริบรรลุเป้าหมายตามความต้องการของราษฎร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมี นายพลากร สุวรรณรัฐองคมนตรี เป็นประธานกรรมการ และมีรองประธานกรรมการประกอบด้วย พลอากาศเอก ชลิตพุกผาสุข องคมนตรี นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี และพลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี และมีผู้แทนส่วนงานที่ร่วมสนองพระราชดำริเป็นคณะอนุกรรมการฯ ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการแบบบูรณาการ พร้อมทั้งแบ่งหน้าที่ทำงานครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ โดยมีเลขาธิการ กปร. เป็นกรรมการและเลขานุการ ทำให้การดำเนินงานของโครงการฯ เป็นไปตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่องยังผลประโยชน์แก่ราษฎรอย่างทั่วถ้วน

นายประมวล ทิพย์วิเศษ  เกษตรกร จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการฝายคลองท่ากระจายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านชายท่า ต.คลองพา อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี และเป็นผู้บริจาคที่ดินเพื่อสาธารณประโยชน์สำหรับการก่อสร้างฝายคลองท่ากระจายฯ เผยว่า รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้บริจาคที่ดินเพื่อก่อสร้างฝายฯ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปัจจุบันการก่อสร้างแล้วเสร็จ ทำให้ราษฎรหมู่ที่ 1 ตำบลคลองพา และหมู่ที่ 2 ตำบลสมอทอง มีน้ำใช้อย่างทั่วถึงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น “ในโอกาสนี้กระผมต้องขอขอบพระคุณพระองค์ท่านที่ได้พระราชทานฝายคลองท่ากระจายอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้ราษฎรได้ใช้อุปโภคบริโภคอย่างสมบูรณ์ ซึ่งในอดีตคลองท่ากระจายเมื่อถึงหน้าแล้งจะขาดแคลนน้ำ มีน้ำไม่พอใช้กับชุมชน แต่เมื่อได้ฝายฯ มาแล้ว ทำให้น้ำมีมากขึ้น ชาวบ้านได้ใช้อย่างเพียงพอ และสะดวกมากขึ้น” นายประมวล กล่าว

ด้าน นายวีระ จันทวังโส ผู้ใหญ่บ้าน หมู่บ้านไทรนอง ต.สองพี่น้อง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี กล่าวว่า ในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรทำสวนผลไม้ ที่ผ่านมาพบกับภาวะแห้งแล้ง น้ำไม่พอเพราะไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่ จึงได้ฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือ  และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ “โครงการฯ ก่อเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด มีแหล่งกักเก็บน้ำ หลังทำนบใช้เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งผลผลิตทางการเกษตรออกตลาดไม่ต้องลงหุบเขา เส้นทางชันลำบากเหมือนที่ผ่านมา โครงการนี้ได้ประโยชน์ทั้งสองอย่างถือว่าคุ้ม ประชาชนในหมู่บ้านต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ที่ทรงเมตตากรุณาเห็นความเดือดร้อนของประชาราษฎร์ และถือว่าเป็นเกียรติของหมู่บ้านอันสูงสุด” นายวีระ จันทวังโส กล่าว

ทั้งนี้จากการติดตามและขับเคลื่อนโครงการของคณะอนุกรรมการฯ ทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ ทั้ง 4 ภาค สามารถขับเคลื่อนโครงการฯ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกปร. ได้อย่างต่อเนื่องและแม้ในช่วงที่เกิดภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทั่วโลก การสนองงานของคณะอนุกรรมการฯ ก็ไม่ได้หยุดนิ่งยังคงเดินหน้าดำเนินงานให้โครงการต่างๆ บรรลุผลตามเป้าหมายเพื่อให้ราษฎรได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด ขณะเดียวกันศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 แห่ง ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ก็ยังคงดำเนินกิจกรรมเพื่อให้การช่วยเหลือตามสภาพการณ์ ทั้งการฝึกอบรมผ่านโซเชียลมีเดีย ไปจนถึงการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อการบริโภคให้แก่ราษฎรนำไปเพาะปลูกเป็นพืชอาหารสำหรับบริโภคในช่วงการระบาดของโรค ยังผลให้ราษฎรมีกินมีใช้อย่างไม่ขาดแคลน

นอกจากนี้ยังทรงรับสั่งถึงแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่รับสั่งไว้หลายประการนั้น ขอให้นำมาทบทวนปฏิบัติ อย่างทันต่อสถานการณ์  นับเป็นพระราชกรณียกิจที่พระองค์พระราชทานความช่วยเหลือเพื่อให้ราษฎรได้หลุดพ้นจากความทุกข์ยาก ตลอดจนการปฏิบัติงานถวายด้วยหัวใจและความพร้อมเพรียงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้สร้างประโยชน์ให้แก่ราษฎรตามพระราชประสงค์เป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวางในขณะนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ขอพระองค์ทรงพระเจริญ