วันที่ 27 ก.ค.2565 ที่ศาลาว่าการกทม.เสาขิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หารือร่วมกับนายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมคณะ ในโอกาสเข้าพบเพื่อหารือความร่วมมือระหว่างสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กับ กรุงเทพมหานคร ในเรื่องการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน ปัญหาส่งเสริมวินัยทางจราจรและทางม้าลาย การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับชุมชน และระดับเยาวชน และวิสาหกิจชุมชน ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกทม.(เสาชิงช้า)

โดยเปิดเผยภายหลังว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มาพบและหารือความร่วมมือร่วมกับกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะสร้างประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน เบื้องต้นได้มีการดูร่าง MOU ที่จะลงนามในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ ประกอบด้วย 5 เรื่อง 1.การแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน ซี่งจะมีการประสานให้เป็นเนื้อเดียวกันสามารถตอบสนองความต้องการประชาชนได้เร็วขึ้น 2.การประชาสัมพันธ์ให้ทราบภารกิจของแต่ละฝ่าย เพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงขอบเขตอำนาจและใช้ช่องทางต่างๆ แจ้งเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3.การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับชุมชน ส่งเสริมกิจกรรมชุมชนโดยเฉพาะการส่งเสริมเรื่องทำความดี 4.การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับเยาวชน ผู้ตรวจการแผ่นดินมีโครงการอบรมเยาวชนซึ่งจะร่วมกับ กทม. ที่มีนักเรียน 270,000 คน ขยายผลสร้างทรัพยากรบุคคลให้เข้มแข็งขึ้นโดยใช้องค์ความรู้ของทั้งสองฝ่าย 5.การแก้ไขปัญหาส่งเสริมวินัยจราจรและทางม้าลาย ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะเริ่มรณรงค์กิจกรรมร่วมกัน เพราะตรงกับที่ กทม.จะทำเร่งด่วนใน 4 เรือง คือ ความปลอดภัยทางม้าลาย ความทุจริตโปร่งใส การจัดการขยะ และปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยทั้ง 4 เรื่องนี้ ก็มีประชาชนร้องเรียนไปยังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจำนวนมากสอดคล้องกัน แต่เราเลือกเรื่องความปลอดภัยทางม้าลายมาทำก่อน เป็นนิมิตรหมายที่ดีที่จะมีการร่วมมือกัน บูรณาการสองหน่วยงานที่มีความสำคัญในการแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชน

ด้านนายทรงศัก กล่าวว่า การมาพบกันวันนี้เป็นการบูรณาการความร่วมมืออย่างเป็นทางการ โดยสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ดำนินการเชิงรุกมาตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ลงพื้นที่แล้ว 3 เขต สอดคล้องกับที่ผู้ว่าฯกทม. ลงไปดูเขตทุกสัปดาห์ ซึ่งจะช่วยกันสนับสนุนการทำงาน ที่ผ่านมา 4-5 เดือนได้มีการแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนไปจำนวนมากทั้งเรื่องเล็กและใหญ่ รวมถึงเรื่องการสร้างวินัยจราจรโดยเฉพาะการใช้ทางม้าลาย ซึ่งเราจะรวมพลังทุกภาคส่วน มี กทม.เป็นหน่วยงานหลักระดมกำลังดำเนินการ ทั้งมิติด้านการบังคับใช้กฎหมาย ด้านกายภาพ ความพร้อมของทางข้าม สัญญาณไฟจราจร CCTV และมิติของการรณรงค์สร้างจิตสำนึก นอกจากนี้ยังมีเรื่องของวิสาหกิจชุมชนใน กทม. ที่มีอยู่ 201 แห่ง ซึ่งผู้ว่าฯกทม.จะช่วยสนับสนุนเพราะเป็นฐานรากของเศรษฐกิจที่สำคัญ