วันที่ 27 ก.ค.65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า...

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 787,747 คน ตายเพิ่ม 1,462 คน รวมแล้วติดไป 576,774,851 คน เสียชีวิตรวม 6,406,641 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อิตาลี ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 77.45 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 56.49

...สถานการณ์ระบาดของไทย

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า

จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

...คำถาม 3 ข้อเพื่อประเมินความเสี่ยงของตนเอง

1. ทำกิจกรรมเสี่ยงมาหรือเปล่า? --> คลุกคลีใกล้ชิด ใช้เวลานาน หรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกัน

2. อยู่ในสถานที่เสี่ยงหรือไม่? --> แออัด ระบายอากาศไม่ดี

3. ไม่ได้ป้องกันตัวหรือเปล่า? --> ไม่ใส่หน้ากาก หรือใส่ไม่ถูกต้อง

...หากตอบว่าใช่ครบองค์สาม โดยพบว่าในเหตุการณ์นั้นมีคนที่ติดเชื้ออยู่ด้วย ย่อมมีโอกาสติดเชื้อสูง และควรทำการตรวจและสังเกตอาการ

อย่างไรก็ตาม หากจับพลัดจับผลูติดเชื้อไป ควรดูแลตนเองให้ดี ป้องกันการแพร่เชื้อในบ้านและที่ทำงาน

และหลังหายแล้วควรป้องกันให้ดี ระวังการติดเชื้อซ้ำ เพราะติดซ้ำ เสี่ยงต่อป่วยรุนแรงมากขึ้น รวมถึงเสี่ยงต่อ Long COVID ด้วย

...ประสบการณ์ตรง

เมื่อวานนี้ 30% ของคนไข้ที่นัดมาตรวจแจ้งว่า...เพิ่งติดเชื้อไป...ซีซั่น Omicron นี้ไม่รอด

กว่าสามในสี่ของคนที่ติดเชื้อเป็นการติดยกครอบครัว

ส่วนใหญ่ติดจากลูกหลานที่ติดจากโรงเรียน หรือไม่ก็สามีหรือภรรยาติดจากที่ทำงาน โดยบางส่วนบอกว่าที่ทำงานติดกันยกออฟฟิศ

ทั้งนี้สังเกตพบว่าราวหนึ่งในสี่ใส่หน้ากากไม่ถูกต้อง มักหลวม และหลุดลงมาจากจมูก เลยแนะนำไปว่าให้เลือกหน้ากากที่เหมาะกับโครงหน้าของตัวเอง กดแผ่นโลหะที่ขอบบนให้แนบกับจมูก หากยังมีร่องข้างจมูกและข้างแก้ม ควรใส่หน้ากากผ้าทับไว้ด้านนอกเพื่อกดให้หน้ากากอนามัยด้านในแนบใบหน้ามากขึ้น

ล่าสุดบทความวิชาการโดย Chou R และคณะจากประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ในวารสารวิชาการแพทย์สากล Annals of Internal Medicine วันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา

ได้ทำการทบทวนงานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการใส่หน้ากากทั้งในสถานพยาบาล และในชุมชน

ยืนยันชัดเจนว่า การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อไปได้มาก ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากแบบ N95/KN95 หรือเทียบเท่าก็ตาม ล้วนลดความเสี่ยงไปได้กว่าครึ่ง

...สถานการณ์ของไทยเรา การระบาดรุนแรงต่อเนื่อง ติดเชื้อมากขึ้นกว่าระลอกก่อนๆ มีการป่วยรุนแรงมากขึ้น และเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

BA.5 นั้นรุนแรง ทำให้ป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลมากกว่า BA.2 ถึง 2 เท่า (งานวิจัยในโปรตุเกส 2-3 เท่า, งานวิจัยในเดนมาร์ก 1.65 เท่า)

...การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ เป็นหัวใจสำคัญในการอยู่รอดในวิกฤตินี้

อ้างอิง

Chou R et al. Update Alert 8: Masks for Prevention of Respiratory Virus Infections, Including SARS-CoV-2, in Health Care and Community Settings. Ann Int Med. 26 July 2022.