สินค้าเกษตรมักมีราคาตกต่ำและขยับขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ผู้ผลิตสินค้าเกษตรหรือเกษตรกรจำเป็นต้องฝึกฝน เรียนรู้ และพัฒนาเทคนิคในการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรโดยการนำผลผลิตเกษตรมาเพิ่มลักษณะพิเศษหรือจุดเด่นบางอย่างให้ต่างไปจากเดิม เช่น การแปรรูปเพิ่มมูลค่าหรือการถนอมอาหารซึ่งจะเพิ่มมูลค่าผลผลิตหรือสินค้าให้มีราคามากกว่าเดิม และหากทำอย่างเป็นระบบจะช่วยให้ผลผลิตไม่ล้นตลาด ทำให้ต้นทุนการขนส่งลดลงเพราะสินค้าที่ผ่านการแปรูปมาแล้วส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กลงอีกทั้งยังเสริมอาชีพใหม่ๆ ในชุมชน และท้ายสุดการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรเป็นวิธีการสำคัญที่จะทำให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น
จังหวัดพัทลุงมีเกษตรกรที่รวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์และหันมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรของตนเองจนประสบผลสำเร็จเชิงประจักษ์ในหลายสหกรณ์ เช่น สหกรณ์โคนมพัทลุง จำกัด โดยสหกรณ์สามารถบริหารจัดการโซ่อุปทานการผลิตทางการเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำได้สำเร็จ ซึ่งในส่วนของกลางน้ำสหกรณ์สามารถรวบรวมผลผลิตของสมาชิกมาแปรรูปเป็นนมพร้อมดื่มและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ไอศกรีมนม ซึ่งในส่วนนี้สหกรณ์มีสถานที่ผลิตที่ได้มาตรฐาน สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานสากล และสหกรณ์มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสามารถยืดอายุผลิตภัรฑ์ในการเก็บรักษาได้ รวมถึงมีเครื่องหมายรับรองคุณภาพ สำหรับในส่วนของปลายน้ำสหกรณ์มีศักยภาพในการในการหาช่องทางการจำหน่ายทั้งตลาดภายในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงตลาดออนไลน์ อีกทั้งยังมีการส่งเสริมการตลาดผ่านการโฆษณาในรูปแบบต่างๆ การมีตัวแทนจำหน่าย และการส่งเสริมการขาย (ลด แลก แจก แถม)
จากตัวแบบความสำเร็จดังกล่าวข้างต้นสำนักงานสหกรณ์จังหวัดพัทลุง จึงได้จัดทำโครงการต่าง ๆ ร่วมกับสหกรณ์ในพื้นที่เพื่อพัฒนาศักยภาพให้เข้าสู่ระบบการผลิตเกษตรแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สามารถขับเคลื่อนโยบายของรัฐบาลและสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศที่สอดคล้องกับแผนแม่บทด้านเกษตรแปรรูปได้ตามเป้าประสงค์ที่กำหนด ส่งผลสัมฤทธิ์ต่ออัตราการขยายตัวของมูลค่าสินค้าเกษตรแปรรูปและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น ตลอดจนการสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรหรือองค์กรธุรกิจชุมชนต่างๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ผ่านหลักปฏิบัติ 3 ประการ คือ
1.การจัดการในกระบวนการผลิตทางการเกษตรที่เป็นต้นน้ำให้เกิดประสิทธิภาพ ประกอบด้วย
1.1 การทำให้ผลผลิตเกษตรมีปริมาณเพียงพอในการขยายไปสู่เชิงพาณิชย์ให้ได้ เพราะถ้ามีปริมาณไม่เพียงพอหรือไม่สม่ำเสมอจะมีปัญหาด้านการผลิตและต้นทุนการผลิต รวมถึงการขยายตลาดในอนาคตอันจะส่งผลเสียในระยะยาว
1.2 ผลผลิตเกษตรที่เป็นวัตถุดิบต้องมีคุณภาพตั้งแต่ขั้นต้นไม่เช่นนั้นจะเป็นภาระด้านต้นทุน
1.3 ต้องจัดการให้กระบวนการผลิตมีความทันสมัยเพื่อเสริมการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการและยืดอายุการเก็บรักษาผ่านการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาผนวกกับภูมิปัญญาท้องถิ่น
2.การจัดการในกระบวนการผลิตทางการเกษตรที่อยู่กลางน้ำให้เกิดประสิทธิภาพ ประกอบด้วย
2.1 ต้องมีความรู้ในกระบวนการแปรรูปอย่างเป็นระบบทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ การยืดอายุการเก็บรักษา และการพัฒาบรรจุภัณฑ์
2.2 ต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐานการผลิตที่เป็นสากลทั้งเครื่องหมายรับรองคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัย
3.การจัดการในกระบวนการผลิตทางการเกษตรที่เป็นปลายน้ำให้เกิดประสิทธิภาพ ประกอบด้วย
3.1 การเพิ่มช่องทางจำหน่ายทั้งตลาดปกติทั่วไปและตลาดออนไลน์
3.2 การส่งเสริมการขายผ่านตัวแทนจำหน่าย รวมถึงการลด แลก แจก แถม
ดังนั้น แนวทางการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มรายได้แก่เกษตรการที่สำคัญต้องมีรวมกลุ่มในรูปแบบสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรหรือองค์กรธุรกิจชุมชนอื่นๆ ถือเป็นบริบทสำคัญ เพราะจะทำให้มีศักยภาพในการเชื่อมโยงโซ่อุปทานการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำเข้าด้วยกันได้นำไปสู่การลดต้นทุนการผลิต การขยายปริมารการผลิตและคุณภาพผลผลิตส่งต่อไปยังการแปรรูปเพิ่มมูลค่า จนสามารถขยายตลาดได้ทำให้ธุรกิจเติบโต ท้านสุดจะก่อให้เกิดความมั่นใจในการประกอบอาชีพการเกษตรแก่เกษตรกรในที่สุด