วันที่ 23 ก.ค.65 นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานกรรมการฯ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) เปิดเผยว่า สสท. ร่วมกับขบวนการสหกรณ์ไทย และเครือข่าย 7 ชุมนุมสหกรณ์ระดับชาติ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดจัดงานวันพระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย ประจำปี 2565 เนื่องในโอกาสครบรอบวันสิ้นพระชนม์ของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ “พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย” ได้เวียนมาบรรจบครบรอบ 77 ปี โดยสันนิบาตสหกรณ์ฯ กำหนดให้วันที่ 23 กรกฎาคม ของทุกปี ถือเป็นวันพระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย สำหรับปีนี้ถือเป็นการจัดงานวันพระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย ครั้งที่ 3 กำหนดจัด ในวันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม 2565 ณ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ถนนพิชัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ
โดยมีกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ พิธีสวดบำเพ็ญกุศลทางศาสนาเพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคล ถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ พิธีถวายเครื่องสักการะอนุสาวรีย์พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงให้ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ร่วมวางพวงมาลาเพื่อรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการเผยแพร่พระประวัติพระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย และวิวัฒนาการของขบวนการสหกรณ์ไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และจัดจำหน่ายสินค้าสหกรณ์ราคาประหยัด ตั้งแต่วันที่ 21 -23 กรกฎาคม 2565 นอกเหนือจากกิจกรรมดังกล่าวข้างต้นคณะกรรมการฯ สสท. กำหนดเดินทางไปมอบเงินบริจาคสมทบค่าอาหารกลางวันเด็ก ณ สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี จำนวน 50,000 บาท
นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม กล่าวเพิ่มเติม ว่าการจัดงานวันพระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย เพื่อให้บุคลากรในขบวนการสหกรณ์ไทย ได้ร่วมกันรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณที่พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทยทรงมีต่อขบวนการสหกรณ์ไทย ซึ่งจากอดีตถึงปัจจุบัน การสหกรณ์ในประเทศไทย มีอายุกว่า 100 ปี มีการดำเนินธุรกิจในรูปแบบต่างๆ ตามความหลากหลายทางธุรกิจ และวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสหกรณ์ ซึ่งมีด้วยกัน 7 ประเภทครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วทั้ง 77 จังหวัดของประเทศไทย ในมุมมองด้านเศรษฐกิจของภาคสหกรณ์ไทยปี 2564 สหกรณ์นั้นดำเนินธุรกิจสร้างมูลค่าสูงถึง 2.17 ล้านล้านบาท แม้ว่าจะปรับตัวลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 4.50 แต่ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับเศรษฐกิจของประเทศ ที่ปรับตัวลดลง การดำเนินงานของภาคสหกรณ์นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ การสหกรณ์นอกจากจะช่วยเกื้อหนุนระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมแล้วในภาคสังคม สหกรณ์ ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของชุมชนนั้นๆ ให้มีการส่งเสริมอาชีพ พัฒนางานฝีมือ ปลูกฝังความรู้และต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นจรรโลงวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่ ส่งผลให้สมาชิกสหกรณ์มีการสร้างรายได้เสริมในครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามลำดับ อีกด้วย