จากกรณีที่ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมาชี้แจงประเด็นการปลดล็อกกัญชา ตามที่มีข้อกล่าวหาอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยยืนยันว่า สธ. พยายามคุมกัญชา ไม่เกิดสุญญากาศกฎหมาย และ ไม่ผิดข้อตกลงอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด ค.ศ. 1961 เพราะทางองค์การสหประชาชาติได้มีการตัดการควบคุมกัญชาออกจากตารางที่ 4 หรือ กลุ่มยาเสพติดที่มีความเสี่ยงในระดับสูงสุด ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกออกไปแล้วนั้น
ล่าสุดวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ นักวิชาการด้านกฎหมายยาเสพติด อดีตกรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า การชี้แจงของกระทรวงสาธารณสุขมีหลายจุดที่คลาดเคลื่อนกับข้อเท็จจริง โดยข้อสำคัญคือพืชกัญชา ถือเป็นยาเสพติดตาม อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด ค.ศ.1961 ปัจจุบัน ยังไม่มีประเทศใดที่มีกฎหมายถอดพืชกัญชาออกจากยาเสพติด แม้แต่ประเทศที่อนุญาตให้มีการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้ เช่น บางมลรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา อุรุกกวัย กฎหมายของประเทศเหล่านี้ก็ยังถือว่าต้นกัญชา (cannabis plant) เป็นพืชเสพติดที่ต้องควบคุม ดังนั้นไทยถือเป็นประเทศแรกในโลก ที่ปลดกัญชาพ้นบัญชียาเสพติด เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลอื่นทุกประเทศมิได้มีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนปลูกกัญชาเหมือนประเทศไทย ไม่มีการร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาเหมือนกับในร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ของพรรคภูมิใจไทย ที่ให้ผู้ต้องการปลูกกัญชามาใช้ระบบการจดแจ้งได้ ก็เท่ากับว่าใครๆ ก็ปลูกได้ เปิดช่องให้มีการใช้หรือเสพกัญชาได้เสรีที่ไม่เหมาะสม ส่งผลเสียต่อสุขภาพ และผลกระทบอื่นๆ
“เดิมกัญชา อยู่ในรายชื่อสารควบคุมในระดับสูงสุด (ประเภท 4 หรือตาราง 4) ของอนุสัญญาเดี่ยวฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้มานานเกือบ 60 ปี เลยมีการทบทวนปรับปรุง องค์การอนามัยโลกจึงเสนอให้ตัดกัญชาออกจากบัญชีประเภท 4 เช่นเดียวกับเฮโรอีน ได้แก่ ช่อดอก และยางกัญชา (Cannabis and Cannabis resin) แต่ยังให้คงกัญชาในรายชื่อสารควบคุมที่อนุญาตให้ใช้ทางการแพทย์ (ตารางที่ 1) ในอนุสัญญาเดี่ยวฯ ฉะนั้นการที่ประเทศไทยไปออก ประกาศสธ. เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 ซึ่งลงนามโดยนายอนุทิน จึงเป็นการออกประกาศโดยไม่ชอบ เพราะขัดกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศ และ ขัดกับกฎหมายประมวลยาเสพติดด้วย ในมาตรา 29 ซึ่ง ไม่ได้ให้อำนาจในการปลดกัญชาออกจากยาเสพติดประเภท 5” นายไพศาล กล่าว
นายไพศาล กล่าวต่อว่า เมื่อมีการปลดล็อคกัญชาตามประกาศสธ.แล้วนั้น ทำให้เกิดช่องว่างไม่มีกฎหมายไปควบคุม ทำให้เด็ก และเยาวชนเข้าถึงกัญชาได้ง่าย หาง่าย กลายเป็นสินค้าทั่วไป ในทรักส์ฟู้ดส์ ในสถานบันเทิง ผับ บาร์ ไม่มีการ ดำเนินคดี แม้มีการออกประกาศสธ.ให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม ห้ามจำหน่ายให้แก่เด็กหรือผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ สูบหรือใช้ หรือห้ามสูบในที่สาธารณะ แต่ประกาศฉบับนี้กลับไม่มีผลบังคับใช้ ไม่มีบทลงโทษ คือใครก็สูบได้ ขายให้เด็กได้ ตำรวจไม่สามารถดำเนินคดี ส่วนกรณีที่ระบุว่ามีมาตรา 46 ห้ามจำหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาต ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่มีการให้อนุญาตรายใด ก่อนหน้านี้ที่ตำรวจ ขึงขังว่าจะจับ แต่ก็เงียบไป เพราะไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ผู้มีอำนาจคือ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้ว่าราชการราชการจังหวัด ในพื้นที่กรุงเทพฯ คือ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งทราบว่ายังไม่มีการดำเนินคดีต่อผู้ฝ่าฝืน มีเพียงแต่ขอความร่วมมือ ตักเตือนเท่านั้น ซึ่งอาจเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย
ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ ซึ่งอยู่ในชั้นการพิจารณาของกรรมาธิการ แต่คาดว่าจะออกไม่ทันในรัฐบาลนี้ ยิ่งทำให้เกิดสุญญากาศทางกฎหมายนานขึ้น ผลกระทบจะตามมาในหลายมิติ เช่น จะมีผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลจากการใช้กัญชาเพิ่มขึ้น มีเด็กได้รับผลกระทบต่อสมองและสติปัญญาจากการใช้กัญชา เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ อาชญากรรม ที่เกิดจากการใช้กัญชา ธุรกิจกัญชาใต้ดินเฟื่องฟู เป็นต้น ดังนั้น หากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯในฐานะประธานคณะกรรมการ ป.ป.ส.คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนมากกว่าพรรคร่วมรัฐบาล ก็ควรทบทวนการถอดกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ต้องสั่งการให้มีการแก้ไขประกาศสธ.ที่ออกเมื่อ 9 ก.พ.65 ใหม่ กำหนดให้กัญชายังเป็นยาเสพติด และย้อนกลับไปใช้ประกาศ ฉบับปี 2563 ซึ่งประกาศฉบับนั้นระบุว่าต้นกัญชา และ ช่อดอก ยังเป็นยาเสพติดอยู่ ยกเว้นเส้นใย ใบ ราก