วันที่ 21 ก.ค.65 นายจำรัส สวนจันทร์  ผอ.โครงการชลประทานศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ได้เปิดเวทีการประชุมประชาคม ในหัวข้อเรื่อง การพัฒนาลำห้วยคล้าอย่างยั่งยืน  ณ  ห้องประชุมสำนักงานโครงการชลประทานศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ  โดยมี พระอาจารย์บุญมี เตชะปัญโย พร้อมด้วย นายทิวา รุ่งแก้ว ประธานคณะกรรมการศูนย์ประสานเพื่อพัฒนาจังหวัดศรีสะเกษ  ดร.สมเกียรติ ไตรสรณปัญญา ผู้บริหารและสมาชิก อปท. ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เกษตรกร ประชาชนและผู้มีส่วนได้-เสียที่จะเกิดขึ้นในแผนงานขุดลอกลำห้วยคล้า ในช่วง อ.ขุขันธ์ ตลอดช่วงแนวลำน้ำห้วยคล้า จำนวนกว่า 100 คน เข้าร่วมประชุมด้วย 
       

 นายจำรัส กล่าวว่า การจัดประชุมในครั้งนี้ เพื่อหารือติดตามความก้าวหน้าโครงการขุดลอกลำห้วยคล้า เนื่องจากยังพบว่ามีข้อปัญหาที่ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้นำชุมชนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดกับลำห้วยคล้า เพื่อให้เกิดความเข้าใจในกระบวนการจัดทำโครงการแก้ปัญหาให้ครอบคลุม และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้-ส่วนเสีย ที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุด เพื่อให้สามารถมองเห็นปัญหาได้รอบด้าน และเป็นการผลักดันโครงการที่จะเกิดขึ้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งในส่วนข้อร้องเรียนและข้อพิพาทที่จะตามมาในช่วงระหว่างดำเนินโครงการ   โดยโครงการชลประทานศรีสะเกษ จะเร่งรัดการเตรียมความพร้อมเพื่อสำรวจออกแบบในแผนงานพัฒนาห้วยคล้า รวมถึงแผนงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านแหล่งน้ำของท้องถิ่นอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่ให้ครอบคลุม และมีความเห็นในทิศทางการดำเนินการพัฒนาลำห้วยคล้าแบบยั่งยืนต่อไป

ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่รับประโยชน์จากโครงการที่จะเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 14,000 ไร่ และมีครัวเรือนได้รับประโยชน์มากกว่า 3,500 ครัวเรือน  การประชาคม 4 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการขุดลอกลำห้วยคล้า พร้อมอาคารประกอบ พื้นที่ ต.สำโรงตาเจ็น ต.กฤษณา พื้นที่ 750 ไร่ ซึ่งเป็นโครงการที่มีการดำเนินการตามแผนเร่งด่วน 2.โครงการขุดลอกลำห้วยคล้า พร้อมอาคารประกอบ พื้นที่ ต.สำโรงตาเจ็น และต.หัวเสือ พื้นที่ 280 ไร่ 3.โครงการขุดลอกลำห้วยคล้า พื้นที่ ต.หัวเสือ และต.ดองกำเม็ด ความยาว 14 กิโลเมตร 4.โครงการขุดลอกลำห้วยคล้า พร้อมอาคารประกอบ พื้นที่ ต.ตะเคียน และต.สะเดาใหญ่ ซึ่งผลการประชุมหารือมีความเห็นชอบให้ดำเนินการโครงการขุดลอกลำห้วยคล้าทั้งระบบทุกโครงการ และท้องถิ่นจะทำการประชุมประชาคมจัดการปัญหาในพื้นที่ต่างๆให้แล้วเสร็จ เพื่อให้เมื่อโครงการเกิดขึ้นจะสามารถสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ก่อประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด 

​​​​​​​