เมื่อเวลา 10.00 น. (20 ก.ค.65) ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกทม. ดินแดง นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อนายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร 2559 ในการสั่งให้คณะกรรมการสอบจรรยาบรรณของสภากทม.สอบข้อเท็จจริงกรณีอดีต ส.ก.ก้าวไกลถูกกล่าวหาว่าอนาจารผู้เยาว์อันเป็นการสร้างความเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำแหน่งสมาชิกสภาฯ กทม.อย่างร้ายแรง โดยมีนางอุบลรัตน์ จิพยัคฆ์ เลขานุการสภากทม.เป็นผู้รับเรื่องแทน เนื่องจากนายวิรัตน์ ติดภารกิจอื่น

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลได้ออกมาแถลงข่าวกรณีนาย อานุภาพ ธารทอง ส.ก.เขตสาทร ของพรรค (ในขณะนั้น)ถูกแจ้งความดำเนินคดีว่าคุกคามทางเพศผู้เยาว์ และต่อมามูลนิธิเส้นด้ายที่เป็นผู้ได้รับแจ้งเหตุจากผู้เสียหายและได้เข้าให้การช่วยเหลือในการดำเนินการแจ้งความ ได้ออกมาแถลงเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว โดยยืนยันว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายเข้าข่ายเป็นการพรากผู้เยาว์เพราะเมื่อบุคคลใดมีการเอาตัวเด็กต่ำกว่า 18 ปีไปจากการดูแลปกครองของผู้ปกครอง นับว่าเป็นการพรากผู้เยาว์แล้ว ส่วนของการล่วงละเมิดยังอยู่ในขั้นของการทำอนาจารยังไม่ถึงกับเป็นการข่มขืน-แต่ทว่านายอานุภาพ ยังคงภาคเสธอยู่

ต่อมาวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกล ได้ออกแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊กว่า คณะกรรมการวินัยฯของพรรค ได้เรียกผู้ถูกกล่าวหามาสอบข้อเท็จจริง ซึ่งนายอานุภาพได้ยอมรับว่าตนมีพฤติการณ์ผิดต่อจริยธรรมพรรคและสร้างความเสื่อมเสียให้แก่พรรคอย่างร้ายแรง คณะกรรมการวินัยฯ จึงมีความเห็นให้คณะกรรมการบริหารพรรคลงโทษขั้นสูงสุดคือการให้นายอานุภาพพันจากความเป็นสมาชิกพรรค ขณะเดียวกันนายอานุภาพ ได้ขอลาออกจากสมาชิกพรรคในวันเดียวกัน แต่ตำแหน่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ไม่ได้ลาออกด้วยจึงเป็นหน้าที่ของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครทั้งหมด ที่จะสามารถใช้อำนาจในการถอดถอนสมาชิกที่กระทำการฝ่าฝืนจรรยาบรรณที่สร้างความเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำแหน่งสมาชิกสภาฯ กทม.และหรือเกียรติภูมิของสภาฯอย่างร้ายแรงได้ตามข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร 2559 ซึ่งอาจมีถึง 9 ข้อที่อาจเข้าข่ายฝ่าฝืน อาทิ ข้อ 6 ข้อ 8 ข้อ 9 ข้อ 12 ข้อ 13 ข้อ 14 ข้อ 18 ข้อ 19 และข้อ 20 เป็นต้น

ดังนั้นสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงนำคำร้องมายื่นต่อประธานสภาฯกทม. ให้ใช้อำนาจตามกฎหมายในการส่งเรื่องให้คณะกรรมการจรรยาบรรณของสภาฯกทม. ทำการสอบข้อเท็จจริง เพื่อวินิจฉัยและส่งให้ที่ประชุมสภา กทม.ใช้อำนาจถอดถอนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครได้ และมติของสภากทม.ให้ถือเอาคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ซึ่งกรณีนี้จะเป็นบทพิสูจน์ว่า สภา กทม.ชุดนี้มีมาตรฐานเกี่ยวกับจริยธรรมเช่นใด

ด้านนายวิรัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบัน นายอานุภาพ ยังคงมีสถานะเป็น ส.ก.เขตสาทร ทั้งนี้ ในส่วนของคดีความก็ให้เป็นไปตามขั้นตอน ขณะเดียวกัน ในส่วนของสภา กทม.นั้น ได้มีการติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงใดๆ เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดความซ้ำซ้อน

ดังนั้นสภากทม.จะรอผลการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งหากผลการสอบสวนออกมาชัดเจนแล้วว่า มีมูลน่าเชื่อว่ากระทำผิดจริง จึงจะมีการดำเนินการตามกระบวนการต่อไป ซึ่งจะมี 2 แบบ 1.หากผู้เสียหายร้องต่อสภากทม. ภายใน 90 วัน จะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรม ซึ่งมีกรรมการ คือ รองประธานสภา กทม.ทำหน้าที่เป็นประธาน มีประธานคณะกรรมการสามัญ อีก 12 คน ร่วมเป็นกรรมการรวม 13 คน พิจารณาภายใน 60 วัน สรุปผลเสนอต่อประธานสภา กทม.หากมีมูลจริงก็จะพิจารณาโทษถึงขั้นให้ออก และ 2.หากผลการสอบสวนของตำรวจชัดเจนว่ากระทำผิดจริง สภากทม.จะอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528มาตรา 23 (8) ในกรณีเหตุทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศของสภา กทม. จะมีการเรียกประชุมสภา กทม.เข้าชื่อ ส.ก. ให้ได้ 2 ใน 3 เพื่อพิจารณาถอดถอน ส.ก.รายนั้น โดยขั้นตอนนี้จะต้องเสนอเรื่องไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) พิจารณาถอดถอน