ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 19 ก.ค. 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ลงนามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 170/ 2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ โดยที่เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศขึ้นในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของไทย ทำให้หลายประเทศรวมทั้งไทยต้องประสบปัญหาที่กระทบต่อตันทุนราคาพลังงานและวัตถุดิบ ส่งผลต่อการปรับตัวสูงขึ้นของราคาพลังงานเชื้อเพลิงและสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งการขาดแคลนวัตถุดิบที่สำคัญในห่วงโช่การเกษตรอันส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน
เพื่อให้การบริหารสถานการณ์และการดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจดังกล่าว ระหว่างส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเป็นไปอย่างบูรณาการ ทันต่อสถานการณ์ และสามารถบรรเทาผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกฯ จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ โดยมีองค์ประกอบ และหน้าที่และอำนาจดังนี้ นายกฯ เป็นประธานกรรมการสำหรับรับรองประธานกรรมการประกอบด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายอนุทินชาญวีรกูล รองนายกฯ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ
ในส่วนกรรมการ ประกอบด้วย รมว.คลัง รมว.เกษตรและสหกรณ์ รมว.คมนาคม รมว.มหาดไทยรมว.อุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงพลังงา ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไท ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการและเลขานุการ รวมถึงนายประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการนายกรัฐนตรีฝ่ายการเมือง เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ผู้แทนสศช.เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการและผู้แทนสมช.เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
โดยมีหน้าที่และอำนาจคือ 1.กำหนดแนวทางการบูรณาการ และขับเคลื่อนให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ถือปฏิบัติเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้คลี่คลายลงโดยเร็ว รวมทั้งกำหนดแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนด
2.กำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานตามแนวทางการบูรณาการ และขับเคลื่อน ในการแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาความเตือดร้อนของประชาชน และรายงานผลการดำเนินงานต่อนายกฯ หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.)
3.กลั่นกรอง ให้ข้อเสนอแนะ หรือความเห็นในการแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากผลกระทบของสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจต่อนายกฯ หรือครม.
4.ให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ บุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงข้อเท็จจริงและรายงานข้อมูล หรือผลการดำเนินการ ให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะรวมทั้งจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามคำสั่งนี้
5.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม
6.ปฏิบัติการอื่นใดตามที่นายกฯ มอบหมาย
ให้สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง สนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานที่ได้แต่งตั้งขึ้น สำหรับการเบิกจ่ายค่าเบี้ยประชุมและคำใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการและคณะทำงาน ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2547 หรือตามระเบียบของทางราชการที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง
นอกจากนี้นายกฯ ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ โดยระบุว่า เพื่อให้การดำเนินการของคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในส่วนของการเตรียมแผนรองรับวิกฤตเศรษฐกิจ การกำหนดแนวทางการบูรณาการ และการขับเคลื่อนให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติ เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว เหมาะสม รวมทั้งให้การกำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยมีองค์ประกอบ หน้าที่ และอำนาจ ดังนี้ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานอนุกรรมการ ในส่วนรองประธานอนุกรรมการประกอบด้วย รองเลขาธิการสศช.และรองเลขาธิการสมช. สำหรับอนุกรรมการประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนกระทรวงคมนาคมผู้แทนกระทรวงพลังงาน ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรมผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลังกระทรวงการคลัง เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ ผู้แทนสศช. เป็นอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ และผู้แทนสมช.เป็นอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
โดยคณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ ติดตาม ตรวจสอบ วิเคราะห์ และประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ กลั่นกรอง ให้ข้อเสนอแนะ หรือความเห็นในการแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจต่อคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ
รวมทั้งจัดทำแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ เชิญผู้แทนส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงข้อเท็จจริงและรายงานข้อมูล หรือผลการดำเนินการ รวมทั้งจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของอนุกรรมการ และรายงานผลการปฏิบัติงานต่อคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจเป็นระยะ