(19 ก.ค.65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา หารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและเชิงบริหารจัดการหาบเร่แผงลอย โดยเปิดเผยภายหลังว่า ได้มีการหารือและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์หลายเรื่อง ทั้งเรื่องหาบเร่แผงลอย การดูแลคนจนเมือง รวมถึงเรื่องการศึกษาที่จะใช้พื้นที่โรงเรียนมาสอนให้เด็กรู้จักวิธีคิดสร้างรายได้ นำผู้สูงอายุในชุมชนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งเช่นปลูกผักนำมาขายให้โรงเรียนช่วยเพิ่มรายได้ให้ผู้สูงอายุ เป็นการมองปัญหาในองค์รวม ทั้งสร้างความรู้ให้เด็กและสร้างรายได้ให้ผู้ใหญ่ช่วยให้เกิดความภาคภูมิใจด้วย ส่วนเรื่องหาบเร่แผงลอย คงไม่ต้องพูดถึงความจำเป็น แต่จะอยู่ด้วยกันอย่างไรให้อยู่ด้วยกันได้ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อเสนอมา กทม.ก็ดำเนินการอยู่หลายเรื่องตรงกัน เราจะนำไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ช่วยในเรื่องของเศรษฐกิจของทั้งผู้ซื้อและผู้ขายด้วย 

ด้านนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า สิ่งที่คณะกรรมาธิการฯ ได้นำมาเสนอ 2 เรื่องใหญ่ คือ เรื่องหาบเร่แผงลอย นโยบายส่งเสริมการมีอาชีพที่สุจริตเป็นเรื่องสำคัญในขณะนี้ที่เศรษฐกิจมีความยากลำบาก เห็นควรต้องมีการทบทวนระเบียบคำสั่งต่างๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ให้แม่ค้าได้กลับมาค้าขาย โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างผู้ใช้ทางสาธารณะกับผู้ที่จะทำมาค้าขาย รวมถึงการหยุดวันจันทร์ให้ทบทวนยกเลิก ให้ขายได้ทุกวันเพราะต้องกินต้องใช้ทุกวัน อยากให้ กทม.มองหาบเร่แผงลอยเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจขนาดย่อม เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญไม่เฉพาะของ กทม. แต่เป็นเรื่องสำคัญของประเทศ อีกเรื่องคือ เรื่องที่อยู่อาศัย ที่จะเป็นที่เช่าพักอาศัยของคนจนซึ่งมีอยู่จำนวนมาก ให้ได้มีที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ นอกจากนี้มีเรื่องความมั่นคงของประเทศด้านการศึกษา ได้มีการทำงานให้เกิดการปฏิรูปการศึกษา โดยฝึกฝนให้เด็กนักเรียนมีคุณธรรม จริยธรรม รู้คุณบิดามารดาและสามารถประกอบอาชีพเองได้ ตั้งแต่ชั้นอนุบาล-ประถมต้องทำธุรกิจเป็น ให้เด็กกลุ่มเสี่ยงที่พ่อแม่ฐานะไม่ดี กทม.ควรชดเชยให้เด็กเหล่านี้ได้มีโอกาสทางการศึกษาทัดเทียมเด็กโรงเรียนอื่นๆ เชื่อว่าจะเป็นการลงทุนในระยะยาวที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำความยากจนของคนระดับล่างได้

ผู้ว่าฯกทม. กล่าวอีกว่า เรื่องหาบเร่แผงลอยเราเดินหน้าเต็มที่ โดยมี 2 ส่วนที่เป็นข้อบังคับ คือ 1.การยกเลิกจุดผ่อนผันเดิมไปจำนวนมาก ซึ่งตอนนี้ได้มีการทบทวนอยู่ 31 จุด ได้มอบรองผู้ว่าฯ จักรพันธุ์ ลงพื้นที่ดูต้นแบบพัฒนา บางจุดเหมาะสม บางจุดไม่เหมาะ น่าจะสรุปได้ล็อตแรกใน 2 สัปดาห์นี้ 2.เรื่องกฎเกณฑ์ระเบียบต่างๆ ที่ต้องไปดู หากดูแล้ว เรามีตลาดอยู่ 3 ประเภท คือ ตลาดชุมชน ตลาดออฟฟิศ และตลาดสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งแต่ละตลาดอาจมีกฎเกณฑ์ระเบียบแตกต่างกันไป และต้องมองหาความร่วมมือกับเอกชน ทำ Hawker Center ซึ่งกำลังศึกษารูปแบบของสิงคโปร์และกำลังหาพื้นที่อยู่ ส่วนกรณีหยุดวันจันทร์ ตนมีความเห็นต่าง อาจต้องมีหยุดบ้าง เพราะสุดท้ายอาจมีการจับจองพื้นที่ยาว และไม่ได้มีการทำความสะอาด ซึ่งอาจให้หยุด 1วัน/สัปดาห์ หรือ 1วัน/2สัปดาห์ จะเป็นวันไหนก็แล้วแต่ลักษณะของพื้นที่

“ ผมว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมี่ได้ทำงานร่วมกัน หัวใจหลักคือการลดความเหลื่อมล้ำของเมือง กทม.ไม่ได้มีหน้าที่แค่เก็บขยะ ลอกท่อ ต้องมีหน้าที่ทำเศรษฐกิจของเมืองด้วย เพราะเมืองคือตลาดแรงงาน ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีเมืองไปรอดไม่ได้ เราต้องให้โอกาสโดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อยให้ได้พัฒนาความมั่นคงทางเศรษฐกิจมากขึ้น แต่คงไม่สามารถเอาเงินไปทำสวัสดิการให้ได้ เราคงช่วยเรื่องการศึกษาที่ดี สาธารณสุขที่ดี ให้โอกาสทำมาหากินเท่าเทียมกัน “ ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าว