ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุว่า 

คงต้องย้ำอีกทีครับว่า บริบทของการตรวจ ATK วันนี้แตกต่างจากเมื่อก่อนที่เรายังไม่ฉีดวัคซีนกันมากๆ ช่วงที่ร่างกายยังไม่มีภูมิจากวัคซีน อาการของโรคจะเกิดจากร่างกายตอบสนองต่อไวรัสที่เพิ่มจำนวนมาในระดับหนึ่งแล้วที่สูงมากพอที่จะตรวจเจอด้วย ATK ดังนั้น เราจะเข้าใจว่าใช้อาการเป็นเกณฑ์ในการวัดจะเจอเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งตรงไปตรงมา

แต่พอร่างกายเรามีภูมิจากวัคซีนแล้ว บริบทจะเปลี่ยนไป... การตอบสนองต่อไวรัสจะไวกว่าเดิมมาก เมื่อร่างกายรับไวรัสในปริมาณเพียงน้อยนิดภูมิจากร่างกายก็จะตอบสนองแทบจะทันทีในลักษณะของอาการที่เรารู้สึกได้ ไม่ว่าจะ คันคอ มึนศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว ทำให้เราซึ่งเคยชินกับบริบทเดิมๆไปตรวจ เพราะมีอาการแต่ปริมาณไวรัสยังมีไม่มากพอจึงให้ผลเป็นลบ ทำให้เข้าใจผิดว่าตัวเองไม่ได้เป็นโควิด นอกจากตรวจซ้ำอีก 2-3 วันต่อมา จะพบว่าหลายคนได้ 2 ขีดแล้ว

ประเด็นเรื่องอาการของโรคมาไวไปไว อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดอีกว่า อาการไข้ลด คอไม่เจ็บแล้ว ไวรัสคงหมดไปแล้ว หรือ ไม่ก็ลดลงเหลือน้อยมากจนไม่แพร่ไปคนอื่นได้ เป็นความเข้าใจที่ผิดครับ ภาพที่แสดงมานี้แสดงให้เห็นชัดครับว่า อาการของโรค กับ ปริมาณไวรัสในร่างกายไม่ได้สัมพันธ์กันแบบนั้น ช่วงที่อาการสงบลงอาจเป็นช่วงที่เราพร้อมแพร่กระจายเชื้อได้สูงมากอยู่ครับ การตรวจ ATK หลังอาการหมดลง ในช่วงกักตัวจะมีประโยชน์มากครับในช่วงนี้