ล้มละลาย ล่มสลาย ไปทั้งประเทศ จนบ้านเมืองแทบจะเป็นแดนมิคสัญญี สำหรับ “ศรีลังกา” ประเทศในทวีปเอเชียใต้ ซึ่งเคยเลื่องชื่อในฐานะต้นกำเนิดวัฒนธรรมที่สำคัญ อย่าง “พระพุทธศาสนา” ที่ถ่ายทอดมายังประเทศในสุวรรณภูมิ รวมถึงไทยเราด้วย
ภายหลังจากถูกพิษวิกฤติเศรษฐกิจเล่นงาน จนราคาอาหาร พลังงาน ระบบการเงิน มีปัญหา ถึงขั้นกลายเป็นวิกฤติทางการเมือง ที่ถึงขนาดประธานาธิบดีตระกูลดัง “ราชปักษา” อย่าง “นายโคฐาภยะ ราชปักษา” ต้องเผ่นหนีลี้ภัยออกไปนอกประเทศ ส่วนนักการเมืองคนอื่นๆ ในตระกูลดังตระกูลนี้ คือ “ราชปักษา” ก็ยังไม่รู้ชะตากรรมว่าไปหลบซ่อนอยู่ ณ แห่งหนตำบลใด เมื่อเหล่าปวงประชาได้ออกมาชุมนุมประท้วงขับไล่ เพราะไม่สามารถทนต่อสภาพวิกฤติเศรษฐกิจ ที่ส่งผลกระทบต่อเงินในกระเป๋า และปากท้องของพวกเขา ก่อนก่อเหตุจลาจลวุ่นวาย และบานปลาย ลามเลยไปจนถึงขั้นพากันบุกเข้าไปในทำเนียบ บ้านพัก ของประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรี กันเลยทีเดียว ซึ่งนับเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ และการเมือง ของศรีลังกา ชนิดที่ไม่เคยเห็นภาพในลักษณะกันมาก่อน ในประวัติศาสตร์ของศรีลังกาตลอดช่วง 70 ปีที่ผ่านมา
โดยวิกฤติทางเศรษฐกิจของศรีลังกา ก็เพาะบ่มมาตั้งแต่การดำเนินนโยบาย “ประชานิยม” อย่างไม่ลืมหู ลืมตาของรัฐบาลโคลัมโบ มาเป็นเวลาอย่างยาวนาน ผสมปนเปกับการกู้ยืมเงินระหว่างประเทศ กอปรกับคณะรัฐบาล ตั้งแต่หัวแถวยันปลายแถว ทุจริตคอร์รัปชันกันอย่างเป็นวงกว้าง และลงรากระดับลึก จนส่งผลทำให้ประเทศต้องล้มละลาย ไม่สามารถชำระหนี้ได้ แม้จำนวนวงเงินที่เป็นหนี้ก็มีมูลค่าไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบหนี้ระหว่างประเทศของประเทศอื่นๆ
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ศรีลังกาต้อผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรก เมื่อช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมูลค่าหนี้ที่ผิดนัดชำระดังกล่าว ก็จำนวนเพียง 78 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยในขณะนั้นก็เพียง 2.6 พันล้านบาท) เท่านั้น หลังผ่อนผันการชำระมาเป็นระยะเวลา 30 วัน โดยเมื่อกล่าวถึงจำนวนเงินกู้ทั้งหมดของศรีลังกาที่มีต่อบรรดาเจ้าหน้าที่ต่างชาติ รวมถึง “จีนแผ่นดินใหญ่” ซึ่งวางแผนที่จะปรับโครงสร้างหนี้กันนั้น ก็มีจำนวน 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยราว 1.7 ล้านล้านบาท) ก็ตกเป็นภาระของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะมารับไม้ต่อไปหลังจากนี้ ที่จะมาแก้หนี้ และไม่พ้นที่จะต้องขอรับความช่วยเหลือจาก “กองทุนการเงินระหว่างประเทศ” หรือ “ไอเอ็มเอฟ” ที่จะเป็นหนึ่งในองค์กรระหว่างประเทศด้านเศรษกิจที่จะยื่นมือมาโอบอุ้ม
บรรดานักวิเคราะห์ แสดงทรรศนะว่า มิใช่แต่เฉพาะ “ศรีลังกา” ซึ่งประเทศที่ภินท์พังไปแล้วเท่านั้นหรอก แต่ยังประเทศอื่นๆ ที่มีความสุ่มเสี่ยง ที่จะล่มสลาย ล้มละลาย ตามรอย ตามหลัง “ศรีลังกา” ต่อไปในอนาคต อาทิ
“อัฟกานิสถาน” ประเทศที่เผชิญกับหายนะสงคราม ที่กินเวลายาวนานนับสิบปี ในภูมิภาคเอเชียกลาง ณ เวลานี้ กำลังประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจอย่างรุนแรง หลังการกลับมายึดครองประเทศโดยกลุ่มตาลิบันอีกครั้งหนึ่งนั้น ก็ทำให้อัฟกานิสถาน ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากเหล่าชาติมหาอำนาจตะวันตก ไม่นับที่อัฟกานิสถาน เผชิญกับการถูกคว่ำบาตร หรือแซงก์ชัน ทางเศรษฐกิจ แบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตลอดจนการประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง จนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากในแต่ละครั้ง ก็ส่งผลกระทบต่อทางเศรษฐกิจของประเทศ จนมีรายงานว่า พนักงาน เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นครู พยาบาล หรือแม้กระทั่งหมอ ไม่ได้รับเงินเดือนมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว พร้อมกับภาวะการขาดแคลนทางอาหาร ที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยต้องพบกับความอดอยาก
“อาร์เจนตินา” ประเทศในภูมิภาคอเมริกาใต้ หรือลาตินอเมริกา ซึ่งเหล่านักวิเคราะห์ บอกว่า ประชากรของประเทศแห่งนี้ คิดเป็น 4 ใน 10 กำลังเผชิญหน้ากับความยากจน ส่วน “ธนาคารกลาง” หรือ “แบงก์ชาติ” ของประเทศ ณ เวลานี้ ก็มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศน้อยมาก อันเป็นผลจากค่าเงินของสกุลเงินเปโซอาร์เจนตินา อ่อนค่าลงเป็นอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินตราต่างประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ ภาวะเงินเฟ้อในอาร์เจนตินา ก็ทวีความรุนแรง จนอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ได้พุ่งทะยานจนทะลุร้อยละ 70 โดยความอัตคัดของอาร์เจนตินา ณ ชั่วโมงนี้ ก็มีรายงานว่า ประชาชนจำนวนไม่น้อย ยังชีพอยู่ได้ด้วยซุปที่ได้รับแจกจากโรงทานต่างๆ ตลอดจนโครงการสวัสดิการของรัฐ ส่วนปัญหาเรื่องหนี้สินของรัฐบาล ก็มีรายงานว่า รัฐบาลบัวโนสไอเรส กำลังเร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ซึ่งปัญหาหนี้ดังกล่าว ถูกยกให้เป็นหนึ่งในอุปสรรคของการฟื้นฟูเศรษฐกิจของอาร์เจนตินา
“อียิปต์” ประเทศทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา ที่กำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อครั้งรุนแรงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ส่งผลกระทบต่อประชาชนยากจนที่มีจำนวนถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด 103 ล้านคน กอปรกับรัฐบาลดำเนินนโยบายรัดเข็มขัด จนต้องตัดความช่วยเหลือด้านพลังงาน เชื้อเพลิง น้ำ และไฟฟ้า พร้อมกับลอยตัวค่าเงิน ยิ่งส่งผลเพิ่มควาทุกข์ยากทางเศรษฐกิจแก่ประชาชน
“ลาว” ประเทศเพื่อนบ้านของไทย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังเผชิญกับปัญหาหนี้ก้อนโต 1.45 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งมาจากการกู้ยืมจีน เพื่อมาดำเนินโครงการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานกันอย่างขนานใหญ่ เช่น รถไฟความเร็วสูง โดยมีรายงานว่า ลาวกำลังเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ เงินสำรองระหว่างประเทศของลาวกลับมีไม่มากนัก
“เลบานอน” ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองเป็นเวลานาน การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการบริหารประเทศที่ล้มเหลว ทำให้ประเทศต้องประสบกับค่าเงินดิ่งตกต่ำเกือบร้อยละ 90 การขาดแคลนอาหาร และพลังงาน ภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ผู้คนอดอยากขนาดหนัก นอกจากนี้ ประเทศยังต้องเผชิญกับภาระหนี้สินระหว่างประเทศเกือบ 1แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 170 ของจีดีพี จนถือเป็นประเทศที่มีปริมาณหนี้สูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง
นอกจากนี้ ก็ยังมี “ปากีสถาน” ที่เผชิญชะตากรรมใกล้เคียงกับศรีลังกา จนต้องเร่งเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ เพื่อขอรับเงินช่วยเหลือไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงประเทศ “ตุรกี” ที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น “ตุรเคีย” สถานการณ์เศรษฐกิจกำลังเลวร้าย จากการขาดดุลทางการค้า และขาดดุลบัญชีเงินทุน กอปรกับเผชิญภาวะเงินเฟ้อรุนแรงมากกว่าร้อยละ 60 สวนทางกับการจ้างงานที่ลดลงจนคนตกงานเป็นจำนวนมาก ถึงขนาดธนาคารกลางต้องดึงเงินสำรองระหว่างประเทศออกมาจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น