โดย ราม วัชรประดิษฐ์ วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคมนี้ ก็จะเริ่มต้นเข้าสู่เทศกาลสำคัญอีกเทศกาลหนึ่งทางพระพุทธศาสนาแบบมหายาน คือ “เทศกาลถือศีลกินเจ” ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทย แต่ ณ ปัจจุบัน กลายเป็นที่นิยมของชาวไทยมากมาย เพราะถือเป็นหนึ่งเทศกาลที่จะสามารถสร้างบุญสร้างกุศลอันยิ่งใหญ่ได้ในช่วงเวลาหนึ่ง ด้วยการปฏิบัติศีลห้าและละเว้นการรับประทานเนื้อสัตว์ แม้บางคนจะเพียงรับประทานอาหารเจ ไม่สามารถถือศีลได้ ก็ยังถือว่าได้สร้างบุญในการละเว้นชีวิตสัตว์น้อยใหญ่ได้เช่นกัน โดยเทศกาลนี้มีระยะเวลา 9 วัน 9 คืน ตั้งแต่วันขึ้น 1-9 ค่ำ ในเดือน 9 ตามปฏิทินจันทรคติแบบจีน หรือในราวปลายเดือนกันยายนหรือต้นเดือนตุลาคมของทุกปี สำหรับปีนี้ตรงกับวันที่ 1-9 ตุลาคม แต่บางคนอาจ ‘กินเจ’ ล่วงหน้า 1 วัน ที่เรียกว่า “ล้างท้อง” “เจ” ในภาษาจีน ทางพุทธศาสนานิกายมหายาน มีความหมายว่า อุโบสถ อันหมายถึง การไม่รับประทานอาหารหลังเที่ยงวันไปแล้ว เช่นเดียวกัพุทธศาสนิกชนที่รักษาอุโบสถศีล หรือ ‘ศีล 8’ แต่ของพุทธนิกายมหายานนั้น จะรวมไปถึงการไม่รับประทานเนื้อสัตว์ด้วย ซึ่งปัจจุบันผู้ที่รับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อ แต่ไม่ทานเนื้อสัตว์ ก็ยังคงเรียกว่า “กินเจ” เช่นกัน ดังนั้นความหมายของ “การกินเจ” จึงไม่เพียงแต่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ แต่ยังต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์ สะอาด ทั้งกาย วาจา ใจ ด้วย และตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้นิยามความหมายของ “การกินเจ”  ว่า หมายถึงการถือศีลอย่างญวนและจีนที่ไม่กินของสดของคาว บริโภคแต่อาหารประเภทผักที่ไม่มีของสดของคาวผสม ซึ่งมาจากรากศัพท์คำภาษาจีนที่ว่า “เจียฉ่าย” หมายถึง การกินอาหารผัก อาหารที่มาจากพืชผักธรรมชาติ ไม่มีเนื้อสัตว์ปะปน และไม่ปรุงด้วยผักฉุน 5 ชนิด ได้แก่ กระเทียม หัวหอม หลักเกียว กุยช่าย และใบยาสูบ ดังนั้น “อาหารเจ” แม้จะเป็นการรับประทานเฉพาะผักต่างๆ แต่ต้องไม่มีผักฉุนทั้ง 5 ชนิดดังกล่าวปะปนอยู่ด้วย โดยเฉพาะ ‘ผู้กินเจ’ ที่เชื่อถือและปฏิบัติอย่างเคร่งครัดนั้น นอกจากการคัดแยกภาชนะและเครื่องปรุงในการประกอบอาหารแล้ว ยังต้องเลือกผู้ปรุงอาหารเจที่กินเจด้วย เพื่อให้ “อาหารเจ” บริสุทธิ์จริงๆ และในบางแห่งอาจพบว่ามีการจุดตะเกียง 9 ดวง เป็นเวลา 9 วันตลอดระยะเวลากินเจ โดยเชื่อว่าการบำเพ็ญศีลและงดเว้นเนื้อสัตว์ในช่วงเทศกาลเจ 9 วันนี้ จะได้บุญสูงสุด ส่งผลให้ชีวิตประสบความสุขความเจริญ มีสุขภาพแข็งแรง และเป็นการต่อชีวิตให้ยืนยาวต่อไป “ธงเจ” อันเป็นสัญลักษณ์ของการเข้าสู่เทศกาลกินเจ จะถูกประดับประดาตามร้านอาหารและสถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ‘อักษรแดง’ บนพื้นเหลือง เขียนว่า “ไจ” หรือ “เจ” แปลว่า ของไม่มีคาว ส่วน ‘สีแดง’ เป็นตัวแทนของความเป็นสิริมงคลในชีวิต และ ‘สีเหลือง’ เป็นสีของพุทธศาสนา หรือ ผู้ทรงศีล นั่นเอง การถือศีลกินเจ มีจุดกำเนิดจากประเทศจีนมาเนิ่นนานแล้ว ในทางลัทธิเต๋าเรียกว่า" เต้าโบ้หงวนกุน” หรือ “เต้าโบ้เทียนจุน” ในภาษาฮกเกี้ยน โดยจะอิงกับตำนานเทพแห่งดาวนพเคราะห์ ซึ่งเป็นศาสตร์แห่งลัทธิเต๋า ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้าสู่จีนและเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ จึงมีตำนานในแบบของพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ปรากฏความจากพระสูตรฉบับภาษาจีนว่า พระพุทธเจ้าในอดีตกาล 7 พระองค์ ได้แก่ พระวิชัยโลกมนจรพุทธะ พระศรีรัตนโลกประภาโมษอิศวรพุทธะ พระเวปุลลรัตนโลกวรรณสิทธิพุทธะ พระอโศกโลกวิชัยมงคลพุทธะ พระวิสุทธิอาศรมโลกเวปุลลปรัชญาวิภาคพุทธะ พระธรรมมติธรรมสาครจรโลกมโนพุทธะ พระเวปุลลจันทรโภคไภสัชชไวฑูรย์พุทธะ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ ได้แก่ พระศรีสุขโลกปัทมอรรถอลังการโพธิสัตว์ และ พระศรีเวปุลกสังสารโลกสุขอิศวรโพธิสัตว์ รวม 9 พระองค์ ที่เรียกว่า “เก้าอ๊อง” ได้ทรงตั้งปณิธานเพื่อโปรดสัตว์ในมนุษยโลก จึงได้ทรงแบ่งภาคลงมาเป็นเทพเจ้า 9 พระองค์ ผู้ทรงอำนาจและอิทธิฤทธิ์ สามารถบริหารธาตุทั้ง 5 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และทอง ได้ทั่วพิภพ ปกป้องคุ้มครองมวลมนุษยชาติให้บังเกิดความร่มเย็น นอกจากนี้ยังมีอีกหลายตำนานตามความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น สำหรับประเทศไทย “เทศกาลถือศีลกินเจ” นับเป็นอีกหนึ่งเทศกาลสำคัญ ที่นอกจากจะอิงประเพณีและตำนานดั้งเดิมแล้ว ผู้คนบางส่วนปฏิบัติเพื่อเป็นการสักการบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและมหาโพธิสัตว์กวนอิม ในแนวทางของการละเว้นการเอาชีวิตของสัตว์เช่นกัน ดังนั้น จะเห็นได้ว่าแทบทุกโรงเจทั่วประเทศจะมีการจัดพิธีกรรมต่างๆ เป็นเวลา 9 วัน 9 คืน อย่างยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะในแถบมีชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่จำนวนมาก มีการไหว้พระไหว้เจ้า สวดมนต์เจริญภาวนา และพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ตามความเชื่อและประเพณี มีการปรุง “อาหารเจ” แจกจ่ายแก่ผู้ร่วมงาน มีร้านขายอาหารเจมากมายให้ได้ซื้อกลับไปรับประทานที่บ้านซึ่งอาจหาอาหารเจบริสุทธิ์ทานได้ยาก ซึ่งนอกเหนือจากผู้ที่มีความตั้งใจในการเข้าร่วมพิธีกรรมเป็นจำนวนมากแล้ว ยังกลายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้เดินทางไปร่วมชื่นชมพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ที่ได้รับการเลื่อมใสศรัทธาและร่วมกันอนุรักษ์จากรุ่นสู่รุ่นให้คงอยู่สืบไป สถานที่จัด “เทศกาลถือศีลกินเจ” ที่น่าสนใจในหลายๆ จังหวัด มีอาทิ เทศกาลถือศีลกินเจ เยาวราช กรุงเทพฯ, ประเพณีไหว้เจ้า 9 ศาล เทศกาลกินเจ จ.สมุทรสาคร, งานมหากุศล อิ่มบุญ อิ่มใจ เทศกาลกินเจ เมืองพัทยา จ.ชลบุรี, ประเพณีถือศีลกินเจ จ.ระนอง, ประเพณีถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ต, ประเพณีถือศีลกินผัก จ.ตรัง, เทศกาลกินเจ จ.กระบี่, งานประเพณีถือศีลกินผัก จ.พังงา และ เทศกาลกินเจ หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นต้น พอดีตรงกับช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ถ้ามีโอกาสขอเชิญเข้าร่วมสัมผัสเทศกาลบุญยิ่งใหญ่ ที่จะได้ร่วมอิ่มบุญ อิ่มใจ สร้างกุศลในการละเว้นชีวิตสัตว์โลก ถึงจะไม่ครบกำหนด 9 วัน เพียงแค่ 1 วัน 3 วัน ก็นับเป็นความตั้งใจและเจตนาที่ดี ดังวลีที่ว่า “กินเจหนึ่งมื้อ หนึ่งหมื่นชีวิตรอดตาย” ครับผม