ในกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดกลาง ค่ายโตโยต้า มีคัมรี่ครองตลาดอยู่ ซึ่งตัวคัมรี่เองก็ถือเป็นรถยนต์นั่งที่ประสบความสำเร็จด้วยการครองเป็นเบอร์ 1 ในตลาดนี้ เมืองไทยรู้จักคัมรี่ไม่นานนัก เพราะตลาดรถเก๋งขนาดกลางในอดีตของโตโยต้าจะมีโคโรน่าครองตลาดมาอย่างยาวนาน แต่เพราะการจุดประกายของนิสสันที่นำเซฟิโร่มาขาย ทำให้แต่ละค่ายต้องขยับตัวรถให้ใหญ่ขึ้น ความสำเร็จของคัมรี่ไม่ต้องอยู่แค่เมืองไทย เพราะทั่วโลกนั้นคัมรี่มียอดขายสะสมรวมกันถึง 16,217,000 คัน นับตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ตลาดตั้งแต่ปี 2524 จนถึงปีที่แล้ว คัมรี่ที่ขายอยู่ในเมืองไทย ปัจจุบันนั้นเป็นคัมรี่เจนเนอเรชั่นที่ 5 ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนโฉมใหม่แบบไมเนอร์เชนจ์ เมื่อปีที่แล้ว มียอดขายรวมกัน 11,407 คัน ซึ่งในรถรุ่น 2.5 จีนั้น ถือเป็นรุ่นท็อปสุดของรุ่นที่เป็นเครื่องยนต์เบนซิน ทดสอบเทคโนโลยีก่อนออกเดินทาง การทดสอบรถยนต์รุ่นนี้จึงเป็นการตอกย้ำถึงสมรรถนะที่มีให้ในคัมรี่ 2.5 จีที่เหนือกว่าคู่แข่งในตลาด รวมถึงเป็นการตอกย้ำถึงการมีตัวตนของรถยนต์รุ่นนี้ เพราะในตลาดเมืองไทยเวลาซื้อคัมรี่มาใช้มักจะมองแค่รุ่น 2.0 แล้วขยับขึ้นมาหารุ่นไฮบริดกันเลย การปรับปรุงรูปโฉมของคัมรี่ 2.5 จี ของโมเดล 2559นั้น จะมีในส่วนของกระจังหน้าที่มีการออกแบบให้ดูเข้ม ซึ่งจะสอดรับกันทั้งในส่วนของกระจังหน้าและช่องรับลมตรงกันชน มีลำโพง 12 ตัวคอยขับกล่อม ส่วนกระจกมองข้างจะทำการปรับอัตโนมัติเมื่อเข้าสู่เกียร์ถอยหลัง โดยการปรับลดระดับกระจกลงอัตโนมัติ ทำให้มองเห็นขอบทางได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มความปลอดภัย รวมถึงการพับกระจกเก็บอัตโนมัติเมื่อทำการดับเครื่องยนต์ ขณะที่ภายในห้องโดยสารจะทำการเปลี่ยนหนังหุ้มเกียร์ใหม่ พร้อมลายไม้พิเศษเพื่อเพิ่มความหรูหราให้กับคัมรี่ 2.5 จี มากขึ้น ส่วนคนที่ชื่นชอบในการดูหนังฟังเพลง ก็จะมีเครื่องเล่นดีวีดีที่มาพร้อมกับลำโพงของเจบีแอล 8 ตำแหน่ง โดยเพิ่มลำโพงจาก 10 ตัว เป็น 12 ตัว ซึ่งรองรับกับการเชื่อมต่อบลูทูธหรือการเชื่อมต่อแบบไร้สาย พร้อมช่องต่ออุปกรณ์เครื่องเสียงที่ให้ความชัดของเสียงเป็นพิเศษ ปรับไฟฟ้าเบาะคนขับ หน้าจอของเครื่องเล่นจะมีฟังก์ชั่นของอุปกรณ์ที่สามารถปรับความเซ็นต์ซิทีฟได้ ส่วนใครที่อยากใช้โทรศัพท์มือถือ ก็จะมีอุปกรณ์สำหรับเสียบชาร์จโทรศัพท์แบบไร้สายได้ตรงคอนโซลกลางเบาะ เพื่อความสะดวกของผู้ขับขี่เบาะนั่งของคนขับปรับได้ 8 ทิศทาง เพื่อการปรับให้เข้ากับสรีระของแต่ละบุคคล พร้อมความจำของตำแหน่งการปรับเบาะ 2 ตำแหน่ง โดยมีความปลอดภัยจากถุงลมนิรภัย 7 ตำแหน่ง จากเดิมมีแค่ 4 ตำแหน่ง ซึ่งจะติดตั้งไว้ตรงด้านหน้า ด้านข้าง มีม่านด้านข้างและบริเวณหัวเข่าสำหรับการปกป้องอย่างเต็มที่ กว้างสำหรับเบาะหลัง การทดสอบคัมรี่ 2.5 จี ครั้งนี้ ทางค่ายโตโยต้าให้ลองหลายรูปแบบ โดยเริ่มจากการทดสอบระบบความปลอดภัยที่เพิ่มเข้ามา ในรถรุ่นนี้ โดยใช้ศูนย์ทดสอบรถยนต์โตโยต้าตรงถนนบางนา –ตราด กม.3 ขาออกเป็นสถานที่ทดสอบ ระบบที่ถูกนำมาใช้ในคัมรี่ 2.5 จี นั้น จะมีทั้งบลายสปอต ซึ่งเป็นระบบเตือนมุมอับของรถโดยใช้ไฟเตือนติดตั้งไว้ตรงกระจกมองข้าง โดยใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับรถยนต์ที่วิ่งอยู่ด้านข้างคอยเตือนตลอดเวลาเมื่อหน้ารถที่ตามมาอยู่เยื้องด้านหลังคนขับ บางครั้งคนขับรถอาจจะมองไม่เห็น ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ หากหักเลี้ยวกะทันหัน ระบบนี้จะมีไฟติดกระพริบ เมื่อเปิดไฟเลี้ยวเซ็นเซอร์สามารถตรวจจับรถยนต์ด้านข้าง ในระยะ 3.5 เมตร ได้ หรืออยู่ในขณะวิ่งตีคู่กัน ตามหลังระยะ 11 เมตร ซึ่งมักจะเป็นจุดบอดในการมองเห็น ซึ่งระบบนี้จะทำงานขณะที่ใช้ความเร็วเกิน 16 กม./ชม. ขึ้นไป เก็บของได้เยอะ อีกระบบหนึ่งที่ใส่เข้ามาใหม่แล้วช่วยได้เยอะ คือ ระบบเตือนรถที่วิ่งมาด้านหลังขณะถอยออกจากช่องจอด การทดสอบระบบนี้ ทางโตโยต้าจะใช้ มอเตอร์ไซค์วิ่งผ่านด้านหลังตอนถอยออกจากช่องจอด แม้ว่ารถรุ่นใหม่ๆ จะมีจอแสดงผลจากกล้องที่ติดอยู่ท้ายรถอยู่แล้วแต่ก็ไม่พอ เพราะถ้ารถวิ่งมาทางด้านหลัง บางครั้งอาจจะเบรกไม่ทัน ระบบนี้จึงส่งเสียงเตือนก่อนที่จะเห็นรถวิ่งผ่านกล้องมองหลัง ระบบนี้สามารถตรวจจับรถยนต์ ที่วิ่งผ่านด้านหลังด้วยความเร็ว 8-28 กม./ชม. ระยะที่ตรวจจับได้จากด้านหลังอยู่ ที่ 6 เมตร ทำให้เพียงพอต่อการตัดสินใจเหยียบเบรกได้ทัน ระบบช่วยเบรกขณะที่จอดบนทางลาดชันก็ช่วยได้มากเมื่อจอดอยู่ในพื้นที่ลาดเอียง อย่างสะพานหรือทางขึ้นจอดรถตามตึกต่างๆ ระบบนี้จะช่วยเบรกไว้ประมาณ 2 วินาที หลังจากปล่อยเบรก ทำให้รถไม่ถอยหลัง เมื่อทดสอบระบบต่างๆ แล้ว ก็มาถึง สมรรถนะของเครื่องยนต์กันบ้าง ซึ่งทางโตโยต้ามั่นใจกับขุมพลังของเครื่องยนต์ ขนาด 2.5 ลิตร ที่ใช้ระบบจุดระเบิดตรงลิ้นเร่งอิเลคทรอนิค เป็นท่อไอดีแบบแปรผัน ช่วยให้อากาศไหลเข้ามากน้อย ตามที่เครื่องยนต์ต้องการ เครื่องยนต์ตอบสนองได้ดี ขับสนุกกับเครื่องยนต์ที่ตอบสนองเร็วพร้อมชุดเกียร์ ออโตเฟือง 6 สปีด สามารถส่งกำลัง 181 แรงม้าที่ 6,000 รอบ/นาที และแรงบิด 231 นิวตัน-เมตร ที่ 4,100 รอบ ต่อนาที ลงล้อคู่หน้าได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เร่งแซงได้รวดเร็ว ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่มีสมรรถนะดีที่สุดในกลุ่มนี้ ที่มา : คอลัมน์ ยุทธจักรยานยนต์ (สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 64 ฉบับที่ 3)