บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)
ความสำคัญของระบบเกษตรพันธสัญญา
“ระบบเกษตรพันธสัญญา” (Contract Farming) ได้ตราเป็นกฎหมายบังคับแล้วชื่อ “พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ.2560” มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2560 เป็นต้นไป เพราะมีการนำระบบเกษตรพันธสัญญามาใช้ในกระบวนการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรอย่างแพร่หลาย จึงต้องการคุ้มครองเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม(กรณีเอกชนตั้งแต่ 10 รายขึ้นไป) โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ให้เกษตรกรมีความมั่นคงทางด้านรายได้ ในตลาดการค้าเสรีได้ เกิดความเป็นธรรมตามหลักสากลแก่ทุกฝ่ายรวมทั้งกำหนดกลไกในการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา
มีประเด็นว่า ในความหมายของคำว่า “ระบบเกษตรพันธสัญญา” นั้น คืออะไร มีที่มาที่ไปมาจากอะไร เป็นคำถามที่น่าจะย้อนไปหาคำตอบกัน เพราะเป็น “คำศัพท์บัญญัติ” (Terminology, Technical Term) ที่มาจากภาษาอังกฤษว่า “Contract Farming” ซึ่งดูเหมือนว่าเราไปลอกฝรั่งตะวันตกมา แต่แท้จริงแล้วเป็นสัญญาลูกผสมมีทั้งสัญญาจ้างทำของ จ้างแรงงาน สัญญารับซื้อรวมๆ กัน เป็นวิวัฒนาการของสังคมธุรกิจการค้า ที่ประเทศที่พัฒนาแล้วต้องปริวรรตกฎหมายตามอารยประเทศ นอกจากนี้ ระบบเกษตรพันธสัญญายังถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญมากของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรให้สูงขึ้นและสร้างความมั่นคงแก่รายได้ในที่สุด
ระบบเกษตรพันธสัญญาไทยแต่อดีตถึงปัจจุบัน
ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2565 ไทยมีการจดแจ้งการประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญาแล้วจำนวน 441 ราย แยกเป็นด้านพืช 379 ราย ปศุสัตว์ 48 ราย สัตว์น้ำ 44 ราย ซึ่งในอดีตมีมานานแล้ว ทั้งการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์และสัตว์น้ำ เกษตรกรบ้านนอกโดนกันเยอะ ชาวบ้านทำกันมานานจนไม่รู้สึกว่าถูกหลอก ถูกเอาเปรียบ เพราะเป็นการเกษตรป้อนสู่ตลาด หรือส่งโรงงานตามปกติ เช่น การเลี้ยงหมู ไก่ เป็ด ปลา (ปลาช่อน ปลาสลิด ปลาดุกบ่อ) กุ้ง กบ ตะพาบน้ำ จระเข้ หรือการปลูกพืชมะเขือเทศ หญ้าหวาน กะหล่ำปลี อ้อยโรงงาน ปาล์มน้ำมัน หรือการทำสวนปลูกต้นไม้ยางพารา ต้นกฤษณา ต้นยูคาลิปตัส ไม้เศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งในระระยะหลังๆ เมื่อหลัง 30 ปีที่ผ่านมามีการส่งเสริมพืชแปลกๆ จากต่างประเทศ เริ่มจากการส่งเสริมภาครัฐในการทดแทนการปลูกพืชเสพติดแก่ชาวเขาในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น ส่งเสริมชาวเขาปลูกกาแฟอาราบิก้า มะคาเดเมีย และต่อๆ มาก็มีพืชต่างๆ ตามมาอาทิ ถั่วดาวอินคา แตงโมแคนตาลูป มันหวานญี่ปุ่น มะม่วงหิมพานต์ กระเจี๊ยบขาว หมามุ่ยอินเดีย โกโก้ ฯลฯ อะไรต่อมิอะไรจะตามมาอีกมากมาย กระท่อม กัญชากัญชงก็ไม่เว้น เป็นต้น มีการหลอกขายพันธุ์ ขายต้น ขายวัสดุอุปกรณ์ทุกอย่าง แม้ว่าผลผลิตเกษตรบางอย่างทิศทางยังไม่ทราบ อาจไม่ค่อยแจ่มใสนักก็ตาม ระยะหลังมีนายทุนจีนเข้ามากว้านซื้อ ยึดสวน/ไร่ เป็นล้งลำไย เงาะ ทุเรียน มะม่วง กล้วยหอม กล้วยไข่ หรือเข้ามาเช่าที่ดินทำ ลงสารเคมีเยอะ ผลผลิตส่งกลับจีนหมด เป็นต้น
แม้ว่าในระยะหลังรัฐได้ส่งเสริมแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้ทุนเกษตรกรทำ เช่น ในรอบสองปีที่ผ่านมาโครงการเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล กรมการพัฒนาชุมชนร่วมกับกรมราชทัณฑ์ดำเนินการเป็นเพียงเป้าหมายที่น้อย แม้จะยากหวังผลในระยะสั้น แต่ก็ได้ดำเนินการทั่วประเทศ เพราะพื้นที่ในแต่ละภูมิภาคไม่เหมือนกัน แม้กรมพัฒนาที่ดินได้รวบรวมออกแบบแปลนการขุดไว้มากมายถึงกว่า 40 แบบ (Landscape) ก็ตาม ซึ่งมีปัญหาในทางปฏิบัติบ้าง โดยเฉพาะสภาพพื้นที่และเงินทุน ว่ากันว่าภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยนานแล้ว ทำให้เศรษฐกิจรากหญ้าตาย ชาวบ้านหนี้สินบาน รายได้หด รัฐหาเงินเข้าประเทศได้น้อย ทำให้เศรษฐกิจพอเพียงไทยทยอยตายไปด้วย โดยเฉพาะในช่วงโควิด 3 ปีที่ผ่านมา คงเหลือแต่ “เศรษฐกิจลงทุนแฝงตัวในรูปพอเพียง” กับ พวกที่จำใจพอเพียงเพราะไม่มีทางไป
ในแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น การเน้นพืชพื้นบ้านยังจำเป็นในชนบทคงมีการส่งเสริมกัน เช่น ผักหวานบ้าน ผักหวานป่า ผักกูด ผักชะอม การเพาะเห็ด พืชผักสวนครัว รั้วกินได้ ตะไคร้หอม กระเจี๊ยบ กล้วย ไผ่ เป็นต้น เพราะ ผักพืชพื้นบ้านปลูกทิ้งไว้ได้ ไม่ต้องดูแล ไม่ต้องลงทุนมาก ทำไว้กิน ไม่ต้องมีตลาด เหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีที่ทำกินแล้ว การไม่สร้างรายได้ทำให้เกิดปัญหาแก่คนรุ่นหลังๆ (Gen Z Gen Y)
การโฆษณาชวนเชื่อว่าเป็นพืชเศรษฐกิจ
ช่วงต้นปี 2565 มีข่าวการหลอกลวงให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจ “โกโก้” (Cocoa) เมื่อสามปีก่อนเกิดปัญหาการตลาด (Marketing & Distribution) เกิดวิกฤตผลิตโกโก้ล้นตลาด ไม่ได้ราคา ไม่มีผู้ช่วยเหลือรับผิดชอบ ผู้ส่งเสริมการปลูกก็หนีหาย ซึ่งเป็นความเสี่ยงของเกษตรกรเอง ทั้งราคาผลผลิต โรคภัย ความไม่เป็นธรรมต่างๆ และนำมาสู่ข้อพิพาทต่างๆ ตามมาเพราะไม่นำ “ระบบเกษตรแบบพันธสัญญา” มาใช้ เช่น เกษตรกรสมัครใจประกอบการเองโดยไม่มีตลาดรองรับ ไม่ได้วิเคราะห์ตลาด แรกๆ ก็มีผู้เชิญชวนลดแลกแจกแถมให้สัญญาด้วยวาจา ชาวบ้านมักเสียเปรียบและเกิดข้อพิพาทตามมา เกษตรกรรายย่อยมักหลงเชื่อคำโฆษณา เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะมิใช่เกิดเฉพาะพืช “โกโก้” เท่านั้น ยังมีพืชเกษตรหรือผลิตภัณฑ์สัตว์ทางเกษตรอื่นอีกหลายชนิด ส่วนใหญ่ผู้ให้สัญญาจะเป็นนายทุน หรือ ผู้ที่มีทุนเหนือกว่า ตามระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี (Capitalism) ที่ถือทุนเป็นใหญ่ มักลืมผู้ที่มีทุนน้อย เช่น ชาวบ้าน คนรากหญ้าทั้งหลายที่เป็นคนส่วนใหญ่ รวมทั้งธุรกิจ SMEs ดังนั้น เกษตรกรจึงถูกหลอกถูกเอาเปรียบเป็นเบี้ยล่างของนายทุนใหญ่ และขาดทุนในที่สุด
เขตเศรษฐกิจการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) และ พลังแห่ง Soft Power (Local Wisdom : LW)
ปัจจุบันธุรกิจโลกประเทศต่างๆ มีการร่วมมือกันตั้งเขตเศรษฐกิจการค้าเสรีตามภูมิภาคระหว่างประเทศเป็นหย่อมๆ ทำให้มีนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุน เพื่อหวังผลผลิตการเกษตรนั้นๆ สู่การค้าระหว่างประเทศ จึงมีกฎหมายที่ส่งเสริมการลงทุน คุ้มครองการลงทุน ให้หลักประกันแก่นักลงทุนต่างชาติ(ต่างด้าว) ที่เคลื่อนย้ายเงินทุนและปัจจัยการผลิตมาลงทุนในประเทศ เรียก “การลงทุนทางตรง” (Foreign Direct Investment : FDI) เป็นการคุ้มครองการลงทุนให้แก่นักลงทุนต่างด้าว ในขณะเดียวกันรัฐต้องคุ้มครองดูแลเกษตรกรไทย ทั้งที่เป็นคู่สัญญาและที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญาตามระบบเกษตรพันธสัญญาด้วย
จากสถานการณ์ดังกล่าวเบื้องต้นเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาอาหารและสินค้าเกษตรผันผวน ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยที่เสียเปรียบด้านทุนและการตลาด ไทยยังไม่มีมาตรการป้องกันผู้มีอิทธิพลทางตลาดพอ การปล่อยเสรีทางการค้าเอื้อทุนใหญ่ ย่อมเป็นการกำจัดธุรกิจรายย่อย (SMEs) ไม่ให้โต เศรษฐกิจรากหญ้าจึงไม่โต แคระแกร็น ไม่ต้องไปหวังเรื่อง “ผลิตภัณฑ์ชุมชน” หรือ OTOP สินค้าพื้นบ้านเอกลักษณ์ชุมชนอันเป็นเบื้องหน้าของ “Soft Power” เลย เพราะมีแต่จะหดหายไป และถูกตีตลาดโดยทุนใหญ่ ธุรกิจผูกขาดของเจ้าสัว การควบคุมการแข่งขันทางการค้าที่เหมาะสม ประกอบกับการส่งเสริมระบบธรรมาภิบาล (Good Governance) ขจัดลดช่องว่างอุปสรรคในการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจ (Transactions) เพื่อมิให้มีการหลีกเลี่ยงหรือเอาเปรียบทางกฎหมาย รวมทั้งป้องกันการละเมิดสัญญาเกิดหนี้เสีย (Non-Performing Loan : NPL) ด้วย ยังคงจำเป็นในธุรกิจการค้าแห่งโลกเสรีทุนนิยม (Capitalism) เพื่อถ่วงดุลลดความเหลื่อมล้ำของสังคมลงบ้าง
ว่ากันว่าเอกลักษณ์สำคัญประการหนึ่งของคนไทยและสังคมไทยก็คือ “เป็นสังคมที่อุดมไปด้วย “พลังซ่อน” แห่ง Soft Power” ในทางการเมืองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นความสามารถในการดึงดูดและสร้างการมีส่วนร่วมแบบไม่บังคับได้ เป็นทรัพยากรพื้นฐานทางวัฒนธรรม ที่ซ่อนไว้ตามสังคมในที่ต่างๆ ทั่วประเทศ หนึ่งในนั้นที่สำคัญก็คือ “Local Wisdom : LW” หรือที่เรียกขานว่า “ภูมิปัญญาพื้นบ้าน” มีได้สารพัดหลายรูปแบบ ในด้านพืชก็มีที่กำลังเป็นข่าวสองด้านทั้งด้านลบ ด้านบวก คือ พืชกระท่อม กัญชากัญชง ด้วยทัศนะความเห็นต่าง และความพร้อมของรัฐและสังคมที่ต้องถกแก้กันให้ลงตัวเสียก่อน
เพราะในมิติการผิดกฎหมายมีทั้งในรูปของ การกระทำผิดที่เป็นอาชญากรรม (Crime) หรือเป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย (Illegal) เป็นความผิดที่เห็นได้อย่างเด่นชัดหรือเป็นความผิดในตัวของมันเอง (Mala In Se) หรือ ความผิดเพราะมีกฎหมายห้าม (Mala Prohibita)
ขอยกตัวอย่างประเด็น “การปลดล็อกพืชเสพติด” ดังกล่าว มองในด้านบวกก็คือ “การทำวิกฤตให้เป็นโอกาส” เพราะประเทศอื่น สังคมอื่นเขายังทำไม่ได้ มองในด้านลบคือ การควบคุมสังคม ที่รีบร้อนข้ามขั้นตอน ทำให้เกิดปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะในกลุ่มคนเปราะบาง เช่น เด็ก เยาวชน คนยากจน คนรากหญ้า เป็นต้น อาจเกิดภาวะทางสังคมที่ไม่พึงปรารถนา
นิยามความหมายของ “Contract Farming” อื่นๆ
ก่อนที่จะมีการตรา พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ.2560 นี้ ราวปี 2554 ไทยมีการศึกษาเพื่อเตรียมการรองรับ “การค้าและการลงทุน” AEC “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” เช่นในความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง 5 ประเทศ (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy : ACMECS) ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม ขอประมวลความหมาย จากที่มาต่างๆ เพื่อการทำความเข้าใจ ดังนี้
(1) องค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติ (FAO, 2001) นิยามว่า เป็นการตกลงกันระหว่างเกษตรกรกับบริษัทแปรรูป หรือค้าขายสินค้าเกษตรเพื่อที่จะทำการผลิตและจัดหาผลิตภัณฑ์เกษตรภายใต้ข้อ ตกลงซื้อ-ขายล่วงหน้า ซึ่งมักจะกำหนดราคาไว้ด้วย ข้อตกลงดังกล่าวมักจะเกี่ยวข้องกับการที่ผู้ซื้อจัดหาปัจจัยมาสนับสนุนการ ผลิตในระดับหนึ่ง เช่น ปัจจัยการผลิตต่างๆ และคำปรึกษาทางด้านเทคนิค
(2) มติคณะรัฐมนตรี (2548) เรียกว่า การลงทุนทำการเกษตรแบบมีสัญญา การทำสัญญาระหว่างบริษัทเอกชน เรียกว่าผู้รับซื้อผลผลิต หรือผู้ซื้อ กับเกษตรกร เรียกว่า ผู้ผลิต หรือผู้ขาย โดยทั้งสองฝ่ายทำสัญญากันทั้ง 2 ฝ่ายก่อนการผลิต และเป็นสัญญาที่มีข้อตกลงเกี่ยวกับราคาของผลผลิต และปริมาณของผลผลิตที่รับซื้อ เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว ผู้ซื้อมีหน้าที่ช่วยเหลือด้านการลงทุน ตลอดจนการส่งเสริม ส่วนผู้ขายมีหน้าที่ดำเนินการผลิตให้สอดคล้องกัน นอกจากนี้อาจมีเงื่อนไขอื่นอีกตามแต่ตกลงกัน
(3) สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (2554) เรียกว่า การทำฟาร์มสัญญา หมายถึง การเลี้ยงปศุสัตว์หรือเพาะปลูกพืชที่มีการทำสัญญาซื้อขายกัน โดยส่วนใหญ่จะมีการกำหนดราคาผลผลิตไว้ตายตัว ซึ่งมักเรียกว่า ฟาร์มประกันราคา หรือ “ฟาร์มประกัน” แต่ก็มีบางกิจการทำสัญญาผูกพันเพียงการรับซื้อผลผลิตกลับคืน โดยไม่ระบุราคาไว้ตั้งแต่ต้น ซึ่งแบบนั้นเราไม่ถือว่าเป็นฟาร์มประกันราคา สัญญาทำฟาร์มประกัน มีคู่สัญญา 2 ฝ่าย ฝ่ายแรกเป็นฝ่ายฟาร์ม เรียกว่า “ ฟาร์มประกัน” ซึ่งก็คือฝ่ายเกษตรกรเจ้าของฟาร์ม ส่วนฝ่ายที่สองเป็นคู่สัญญาที่สัญญาจะซื้อผลผลิตกลับคืนในราคาประกัน เรียกว่า “ผู้รับประกัน” ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปบริษัท เช่น บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ บริษัท เบทาโกร บริษัทแหลมทองสหการ เป็นต้น
(4) มุมมองนักธุรกิจ นักวิชาการ (2554) สายธุรกิจครบวงจรภูมิภาค บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด คือ โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ โดยการทำระบบฟาร์มข้อตกลง หรือระบบฟาร์มสัญญากันไว้ล่วงหน้า เพื่อส่งเสริมอาชีพและเพิ่มรายได้เกษตรกร ซึ่งเกษตรกรและบริษัทร่วมลงทุนเกี่ยวกับปัจจัยการผลิตทั้งหมด หรือบางอย่างตามข้อตกลงที่ได้กำหนดไว้ และบริษัทจะเป็นผู้รับซื้อผลผลิตคืนกลับจากเกษตรกรตามมาตรฐานคุณภาพ และผลตอบแทนที่ได้ตกลงกันไว้ ทั้งนี้บริษัทจะเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงด้านการผลิตและ การตลาด
ในอเมริกา ใช้รูปแบบ Contract Farming ซึ่งภาคเอกชนดำเนินการร่วมกับเกษตรกรแต่ละราย ซึ่งรูปแบบ Contract Farmingนั้นเกษตรกรไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างเป็นการแบ่งหน้าที่ แบ่งความรับผิดชอบตามความสามารถ หรือตามศักยภาพที่มีซึ่งการทำ Contract Farming นั้นมีการนำไปใช้หลายประเทศทั่วโลกและในประเทศไทยก็มีภาคเอกชนหลายรายนำมาใช้ส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรซึ่งเป็นทาง เลือกที่ดีของเกษตรกรไทยทางหนึ่ง รูปแบบของ Contract Farming มีด้วยกัน 3 แบบ คือ (1) แบบประกันรายได้ (2) แบบประกันราคา (3) แบบประกันตลาด
(5) มุมมองของนักวิชาการเกษตร (2554) contract farming ก็เปรียบเหมือน ตลาดซื้อ–ขายล่วงหน้า ที่มีการตกลงราคาและเวลารับมอบสินค้ากันชัดเจน ซึ่งบริษัทคู่สัญญาก็เป็นเหมือนผู้เข้ามารับความเสี่ยงจากภาวะผันผวนของราคา ผลผลิตและปัจจัยการผลิต เกษตรกรจึงมีผลตอบแทนเป็นรายได้ที่ค่อนข้างแน่นอน และสูงกว่าเมื่อเทียบกับการที่ต้องแบกรับภาระทั้งการผลิตและการขาย เอง
(6) มุมมองของนักวิจัยการค้า (2554) หมายถึง การทำสัญญาระหว่างบริษัทที่เป็นนายจ้างกับบริษัทคู่สัญญาโดยที่ไม่มีเรื่องการถือครองหุ้นเข้าไปเกี่ยวข้อง (Non-Equity Modes : NEMs) NEMs สามารถทำได้หลายลักษณะด้วยกัน โดยรูปแบบที่จะพบเห็นได้บ่อย อาทิ การจ้างผลิต (Contract Manufacturing) การจ้างบริการ (Services Outsourcing NEMs) การขายแฟรนไชส์ (Franchising) การขายไลเซนส์ (Licensing) และการบริหารตามสัญญา (Management Contract) เป็นต้น
นิยามความหมายของระบบเกษตรพันธสัญญา ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ.2560
จากคำนิยามความหมายที่มีมาก่อนกฎหมายปัจจุบัน คำว่า “ระบบเกษตรพันธสัญญา” ได้กลั่นกรองตกผลึกออกมาเป็นกฎหมาย และมีนิยามความหมายใหม่ ลองเปรียบเทียบดูว่า นิยามความหมายใหม่นี้ เหมือนตามที่ท่านคิดไว้ ก่อนการตรากฎหมายนี้เมื่อราว 6 ปีก่อนหรือไม่ เพียงใด
มาตรา 4 บัญญัติคำนิยาม “ระบบเกษตรพันธสัญญา” หมายความว่า ระบบการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรที่เกิดขึ้นจากสัญญาการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรประเภทเดียวกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรฝ่ายหนึ่งกับบุคคลธรรมดาซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมตั้งแต่ 10 รายขึ้นไป หรือกับสหกรณ์การเกษตรหรือกลุ่มเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ หรือกับวิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมอีกฝ่ายหนึ่งที่มีเงื่อนไขในการผลิต จำหน่าย หรือจ้างผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรอย่างหนึ่งอย่างใด โดยเกษตรกรตกลงที่จะผลิต จำหน่าย หรือรับจ้างผลิตผลิตผลทางการเกษตรตามจำนวน คุณภาพ ราคา หรือระยะเวลาที่กำหนดไว้ และผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรตกลงที่จะซื้อผลิตผลดังกล่าวหรือจ่ายค่าตอบแทนตามที่กำหนดไว้ตามสัญญา โดยผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรเข้าไปมีส่วนในกระบวนการผลิตเช่น เป็นผู้กำหนดวิธีการผลิต จัดหาพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร หรือปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร
ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องกำหนดให้การทำสัญญาการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรระหว่างผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรกับบุคคลธรรมดาซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมไม่ถึงสิบรายแต่ไม่น้อยกว่าสองรายขึ้นไปประเภทใด ต้องนำระบบเกษตรพันธสัญญาตาม พ.ร.บ.นี้ไปใช้บังคับให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
การได้เท้าความศึกษานิยามความเป็นมา ทำให้ทราบปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นได้ทางหนึ่ง ความเห็นนี้อาจเป็นแนวทางช่วยเตือนฝ่ายคู่กรณีตามระบบเกษตรพันธสัญญา และภาครัฐได้ตามสมควร