ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
ว่ากันว่าศิลปินมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ละเอียดชัดเจนกว่าคนทั่วไป บางคนนั้นถึงขั้นมองเห็นรอยยิ้มของมด
ตั้งแต่ที่อมรได้กล้องถ่ายรูปมา อมรก็ไม่ได้เขียนภาพน้อยลง เพราะค่าฟิล์มและล้างอัดภาพยังแพงมาก เรียกว่าถ้าจะถ่ายภาพสักม้วนหนึ่งพร้อมล้างและอัดภาพจำนวน 36 รูปตามจำนวนฟิล์มหนึ่งม้วนนั้น ต้องเก็บเงินเป็นเดือนหรือสองเดือนนั่นเลยทีเดียว ดังนั้นส่วนมากอมรก็จะหิ้วกล้องไปทำท่าถ่ายสิ่งโน้นสิ่งนี้ไปรอบ ๆ โรงเรียน แต่ไม่ได้ถ่ายจริง ๆ เขาบอกว่าเพื่อไปซ้อมจัดองค์ประกอบภาพและดูแสงให้คุ้นเคยกับแสงในสภาพและช่วงเวลาต่าง ๆ ซึ่งแสงนั้นจำเป็นต่อการถ่ายภาพมาก แม้ว่าในเวลานั้นยังเป็นแค่ภาพขาวดำ แต่แสงเงาต่าง ๆ ก็คือ “พระเจ้าของภาพถ่าย” ที่จะทำให้ภาพได้อารมณ์ต่าง ๆ จากนั้นเขาก็จะจดจำสภาพแสงเงาเหล่านั้นมาเขียนเป็นภาพ แล้วก็จะไปถ่ายรูปในสถานที่จริงอีกครั้ง ซึ่งเขาก็จะทั้งวาดภาพและถ่ายภาพไว้คู่กันเสมอ พอสองสามเดือนที่เก็บเงินพอที่จะไปล้างอัดภาพได้ เขาก็จะเอารูปทั้งที่วาดและถ่ายนั้นมาเปรียบเทียบกัน ซึ่งเขาออกจะพอใจเป็นอย่างมากที่ได้เห็นว่า ทั้งภาพวาดและภาพถ่ายนั้นมีแสงเงาที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งแสดงว่าสายตาของเขานั้น “แหลมคม” ไม่แพ้ “คมเลนส์” ของกล้องถ่ายรูปนั้นเลย
ตอน พ.ศ. 2515 เราขึ้นชั้น ม.ศ. 2 ก็ได้อยู่ร่วมห้องเดียวกันอีก แต่ผมไม่ได้นั่งติดกับอมรเหมือนเดิม เพราะอมรแยกไปนั่งหลังห้อง ต่างกับผมที่ชอบนั่งด้านหน้า ๆ อาจจะเป็นเพราะผมตัวยังเล็ก ส่วนอมรนั้นตัวเริ่มใหญ่ตามประสาคนในวัยนี้ที่กำลังแตกเนื้อหนุ่ม ทว่าความจริงนั้นอมรชอบวาดภาพและแอบเอาหนังสือที่มีรูปถ่ายสวย ๆ มาดู จึงเลือกที่จะนั่งหลังห้องเพื่อจะได้ไม่เป็นเป้าสายตาของครู แต่ก็ไม่ได้ทำให้เขาเสียการเรียน ทั้งยังทำคะแนนในระดับดีอยู่อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ไม่เป็นที่สนใจและถูกจ้ำจี้จ้ำไชจากครู เขาจึงสามารถทำในสิ่งที่เขาชอบอยู่หลังห้องนั้นได้อย่างมีความสุข
ที่โรงเรียนยุคนั้นมีกิจกรรมทั้งในและนอกโรงเรียนมากพอสมควร เพราะโรงเรียนได้จัดให้มีการตั้งชมรมต่าง ๆ ขึ้นมากมาย ผมกับอมรได้เข้าเป็นสมาชิกหลายชมรม หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือชมรมสังคมศึกษา ปีนั้นชมรมสังคมศึกษาได้จัดทัศนศึกษาไปที่เมืองโบราณบางปู ที่เพิ่งจะเปิดให้ชมเมื่อต้นปี 2515 นั้น ปรากฏว่ามีนักเรียนชั้นต่าง ๆ ซื้อตั๋วร่วมเดินทางไปกว่า 500 คน จนต้องจัดรถเมล์มาบริการถึง 8 คัน แต่กระนั้นพอถึงวันเดินทางก็ยังมีผู้ที่อยากไปเพิ่ม ที่ต้องยืนเสริมเข้าไปเพราะไม่มีที่นั่งเพียงพอ คงเป็นด้วยการโฆษณาของชมรมและความตื่นเต้นที่จะได้เป็นนักเรียนกลุ่มแรก ๆ ที่ได้เข้าชม และการเข้าชมแบบหมู่คณะในนามโรงเรียนก็ได้ราคาที่ถูกมาก (จำได้ว่าค่าตั๋วเดินทางที่ชมรมขายมีราคา 25 บาท เป็นค่าเข้าชม 5 บาท ค่ารถเมล์ 10 บาท และเหลือเข้าชมรมอีก 10 บาท ชมรมได้แบ่งเงินมาให้โรงเรียน 8,000 บาทเพื่อทำระบบเสียงตามสาย และทางโรงเรียนได้เปิดให้นักเรียนจัดรายการวิทยุในช่วงพักเที่ยงได้)
อมรก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ตื่นเต้นมาก ๆ พอลงจากรถ ครูก็ให้พวกเราเดินกันเป็นกลุ่ม ๆ กลุ่มละ 10 คน แต่ละกลุ่มให้มีหัวหน้าเป็นผู้วางแผนและนำทางให้กลุ่มไปชมตามสถานที่ต่าง ๆ และมีเลขานุการกับผู้ช่วยเพื่อช่วยกันทำรายงานการเดินทาง คล้าย ๆ กับการเล่นวอล์กแรลลี่ คือให้ทำโจทย์ต่าง ๆ ที่ครูกำหนดให้ในแต่ละสถานที่ที่ไปชม แล้วให้ทำคำตอบกลับมาส่งครูในสัปดาห์ต่อมาหลังจากการไปทัศนศึกษานั้นแล้ว อมรอาสาเป็นผู้ช่วยเลขานุการ เขาทำหน้าที่ได้อย่างเข้มแข็งมาก เขาเก็บเงินสมาชิกในกลุ่มคนละ 10 บาทเพื่อซื้อฟิล์ม 1 ม้วน และเหลือเป็นค่าอัดรูปอีกด้วย เขาได้กำกับให้พวกเราถ่ายภาพที่ส่วนมากก็เป็นภาพกลุ่มของสมาชิกทั้ง 10 คน โดยอมรได้เอาขาตั้งกล้องที่เขาบอกว่าได้มาจากนักท่องเที่ยวที่มาถ่ายรูปวัดขายให้เขาราคาถูก ๆ เมื่อไปถึงสถานที่ใดเขาก็จะหามุมตั้งกล้อง ดูทิศทางแสง และช่วยกำหนดท่าให้พวกเรา โดยไม่มีสักรูปเลยที่เป็นการยืนหรือนั่งแข็ง ๆ แต่ละรูปจะมีท่าเพื่อบอกเรื่องราวของภาพ เช่น กำแพงเมืองเก่า ๆ อมรก็จะให้พวกเราทำท่าชกมวย หรือให้จับคู่เอากิ่งไม้แถว ๆ นั้นมาทำเป็นดาบ เพื่อทำท่ารบกัน หรือตรงที่เป็นน้ำพุมีรูปปั้นสำริดของพระสุริยเทพทรงขับรถม้า ก็ให้พวกเราทำท่าวิ่งตามม้าไปทั้งหมู่นั้น แต่ที่ผมมองว่าเป็นความคิดที่แปลกใหม่และล้ำลึกมากของอมรก็คือ ที่ด้านข้างของพระที่นั่งศรีสรรเพ็ชรจำลองมีสระน้ำขนาดใหญ่ เมื่อมองผ่านสระน้ำไปก็จะเห็นเงาของพระที่นั่งทอดลอยอยู่เหนือน้ำ อมรก็ให้พวกเรามานั่งหันหน้าเข้าหากันที่ริมสระน้ำด้านละ 5 คน แล้วยกมือทำท่าเหมือนกำลังยกพระที่นั่งนั้นให้ลอยขึ้นบนฟ้า ซึ่งพอล้างอัดรูปออกมาก็เป็นอย่างที่อมรคิดไว้ นี่ถ้าได้แต่งเสื้อผ้าเป็นเทวดาเสียหน่อย ภาพเทพบุตรวัยรุ่นกำลังยกมหาปราสาทก็จะสวยงามสมบูรณ์
รายงานเรื่องทัศนศึกษาเมืองโบราณของกลุ่มเราได้รับรางวัลชนะเลิศ ส่วนสำคัญก็คือฝีมือการถ่ายภาพของอมร พอขึ้น ม.ศ. 3 ผมกับอมรแยกไปเรียนคนละห้อง แต่อมรก็ยังมาพูดคุยกับผมอยู่เสมอ เรื่องหนึ่งที่เขาชอบมาคุยก็คือเรื่องการถ่ายภาพของเขา เขาบอกว่าตอนที่ปิดเทอมเขาได้ไปทำงานเป็นไกด์พาฝรั่งชมวัด จนถึงที่พาไปชมภูเขาทองและพระบรมมหาราชวัง ได้เงินทิปดีมาก จนมีเงินพอซื้อกล้องแบบที่เคยเห็นพวกนักข่าวเขาใช้กัน แต่เป็นกล้องมือสองซื้อจากย่านหลังกระทรวงกลาโหม พร้อมกับเลนส์อีก 2 ตัว และขาตั้งกล้องที่ใหญ่ขึ้น มีฝรั่งบางคนขอซื้อรูปภาพที่เขาถ่าย และแนะนำว่าให้ถ่ายเป็นภาพสีจะได้ราคาดีกว่ามาก นี่เขาก็กำลังฝึกถ่ายภาพสีอยู่บ้าง แต่มันก็มีค่าฟิล์มและราคาล้างอัดภาพแพงมาก จึงต้องค่อย ๆ ทำอย่างระมัดระวัง โดยเขาได้เอาภาพมาให้ผมดูชุดหนึ่ง ราว 6-7 ภาพที่อัดขยายมา เป็นภาพชีวิตผู้คนริมแม่น้ำและลำคลองต่าง ๆ ที่แม้ว่าจะเป็นภาพขาวดำ แต่ถ้ามองด้วยสายตาของคนที่ชอบงานศิลปะ ก็จะมองเห็นได้อย่างแจ่มชัดว่า แต่ละภาพนั้นงดงามอย่างล้ำลึก แม้ว่าภาพเหล่านั้นจะไม่เห็นว่าผู้คนที่อาศัยอยู่ริมน้ำนั้นมีความสุขหรือความทุกข์อะไรหรือไม่ แต่ด้วยบรรยากาศและแสงเงาที่อมรได้บันทึกลงบนแผ่นฟิล์ม เมื่อล้างอัดออกมาเป็นภาพที่สำเร็จสมบูรณ์บนกระดาษแล้ว ก็ให้อารมณ์ที่รู้สึกได้ในทันทีที่สายตาได้สัมผัส อย่างภาพหนึ่งที่ผมจำได้ เป็นภาพหญิงสาวในชุดผ้าถุงกระโจมอก กำลังอาบน้ำให้ลูกน้อยริมท่าน้ำหน้ากระต๊อบที่เธออาศัยอยู่ ด้านหลังกระต๊อบนั้นเป็นสวนหมาก เห็นยอดหมากสีเข้มบ้างจางบ้าง เรียงรายเป็นทิวแถวถูกลมพัดจนไปโอนเอนตามกัน ในทิศทางเดียวกับควันไฟบนนอกชาน ที่พัดฉวันเฉวียนไปตามลมที่พัดมาเบา ๆ ใกล้เตาไฟนั้นก็มีชายหนุ่มที่ก็คงจะเป็นสามีของหญิงสาวและพ่อของเด็กน้อย กำลังพัดเตาไฟด้วยมือหนึ่ง อีกมือหนึ่งคีบบุหรี่มวนใหญ่อยู่ที่ข้างปาก พ่นควันลอยพลิ้วออกไป เป็นจังหวะและลีลาเดียวกันกับควันที่เตาไฟและสายลมที่พัดในสวนหมากนั้น ไม่ต้องบรรยายเลยว่าครอบครัวเล็ก ๆ นี้จะมีความสุขกันมากเพียงไหน เพราะเพียงแต่เห็นพลิ้วน้ำที่สะท้อนเงากระต๊อบ กับรูปร่างของสายลมที่ลอยไป ก็มองเห็นทั้งความใสเย็น ความสดชื่น และความสุขต่าง ๆ ได้ทั้งหมด
ชีวิตของอมรนั้นมาพลิกผันก็ตอนจบมัธยม 3 นี่เอง แต่เป็นการพลิกผันที่เขาได้วาดหวังไว้แล้ว