ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต
“ในห้วงขณะของความรู้สึก เราต่างมีช่วงเวลาที่ตกอยู่กับทางผ่านของ ชีวิต ความงาม และ ความรัก ด้วยกันทุกๆคน นั่นคือกาลเวลาที่ล้ำค่า ที่โถมซัดเข้าเบ้าหลอมอันจริงแท้และละเมียดละไมของตัวตน เป็นรสชาติของมายาจริต และ กลิ่นอายของสัญชาตญาณที่สนองรับกับนานาสรรพสิ่งระคนกัน...ดอกไม้งามแห่งการรับรู้ของชีวิตมักจะแตกดอกออกช่อเป็นความหลังแห่งความทรงจำเช่นนี้เสมอ....”
และนี่คือบริบท ณ บทเริ่มต้น ของหนังสืออันถึงพร้อมด้วยแรงขับเคลื่อนของจิตวิญญาณด้านใน”ชีวิต ความงาม และความรัก”(LIFE BEAUTY AND LOVE)หนังสือเรื่องงามของ”คาลิล ยิบราน”(Kahlil Gibran)ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่างปีค..ศ.1883-1931/นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ชาวเลบานอน /กวีที่มีผลงานขายดีที่สุดในอเมริกาทั้งๆที่เขามีชาติกำเนิดเป็นต่างชาติ/”
“โรแดง” ประติมากรชาวฝรั่งเศสถึงกับยกย่องให้เขาเป็น “วิลเลียมเบลค”ของศตวรรษที่20/..”ยิบราน”เป็นทั้งนักเขียน กวี นักปราชญ์ และ จิตรกร.../เขาได้รจนาบทประพันธ์ของเขา เพื่อมนุษยชาติในสากลโลก เขาร้องขอความรักที่มนุษย์พึงมีต่อกันอันจะขจัดถึง ความเห็นแก่ตัว ความโลภ โกรธ หลง ทั้งมวลลงได้ /ปรัชญารักของเขาทำให้เขาก้าวข้ามพ้นพรมแดนระหว่างชาติต่อชาติและการเหยียดผิว
“วิญญาณของฉันเทศนาและสั่งสอนฉัน ให้รักซึ่งผู้คนเกลียดชัง และเป็นมิตรกับผู้ซึ่งถูกเหยียดหยาม วิญญาณของฉันแสดงให้ฉันเห็นว่า ความรักจักภูมิใจในตนเองที่ได้ฝังร่างอยู่ในผู้ซึ่งรักเป็นและในผู้ซึ่งเป็นที่รัก ก่อนที่วิญญาณจะเทศนาฉัน ความรักได้สถิตในดวงใจฉันแล้ว เหมือนเส้นด้ายบางเฉียบที่พันผูกระหว่างหมุดสองตัว....
ทว่า...บัดนี้ ความรักได้กลายเป็นรังสีซึ่งจุดเริ่มต้นคือจุดจบ คือจุดเริ่มต้นของมันเช่นกัน ความรักห่มคลุมทุกสิ่งที่เป็นอยู่..และ แผ่รังสีอย่างช้าๆ เพื่อโอบกอดทุกสิ่งที่จะเกิดก่อ...”
ยิบรานคิดว่า...มนุษย์ไม่มีค่าควรแก่การเป็นเจ้าของพระผู้เป็นเจ้า ถ้าไม่จำกัดความรักแต่ชาติของตน เผ่าพันธุ์ของตน หรือแม้แต่ตัวเอง ความรักที่แท้จริงสำหรับเขาผูกพันกับผู้อื่น ทั้งนี้เพราะเขาได้เห็นความหมายของชีวิตที่แท้จริง ซึ่งจะเกิดขึ้นขณะที่เรียนรู้ รู้จัก และรักมนุษย์ด้วยกัน..
“ทว่า บัดนี้ ฉันประจักษ์แล้วว่า กาลปัจจุบันประกอบด้วยทุกกาลเวลา และภายในกาลเวลาคือทุกสิ่งซึ่งสามารถหวังไปให้ถึง และตระหนักชัดแจ้งได้...วิญญาณของฉันนำไม่ให้ฉันจำกัดเนื้อที่ โดยการกล่าวว่า”มีที่นี่ ที่นั่น และ ที่โน่น” ก่อนที่วิญญาณจะเทศนาฉัน ฉันรู้สึกว่าที่ใดก็ตามที่ฉันเดินเข้าไป ช่างไกลจากที่โล่งกว้างนัก/...ฉันตระหนักชัดแล้วว่า ที่ใดก็ตามที่ฉันอยู่ จักประกอบด้วยทุกสถานที่ และ ระยะทางที่ฉันก้าวเดินจักครอบคลุมระยะทางทั้งหมด ...วิญญาณของฉันยังได้สอน และแนะนำให้ตื่นอยู่เสมอ ในขณะที่ผู้อื่นหลับใหล และยอมแพ้ต่อการง่วงงุน เมื่อผู้อื่นเคลื่อนไหว..”
ด้วยเหตุนี้ ยิบรานจึงได้เน้น ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันในผลงานของเขา และย้ำในความสัมพันธ์ด้านจิตใจมากกว่าวัตถุ เขาเห็นว่าการนิยมวัตถุทำให้มนุษย์ต่ำต้อยไร้ค่า ดังนั้นเขาจึงมักเรียกร้องให้คนรวยหันมาเสียสละเพื่อคนจนบ้าง โดยกล่าวว่าการให้ก่อให้เกิดความเมตตา ความรัก ซึ่งจะให้มนุษย์รู้สึกต้องการในกันและกัน และกระชับความผูกพันต่อกันให้แน่นแฟ้น..คือการเคารพสิทธิกันยิ่งขึ้น...
“วิญญาณของฉันสอนสั่งให้ฉันดมกลิ่นหอม ซึ่งไม้หอมหรือกำยานมิได้กระจายกลิ่น..ก่อนที่วิญญาณจะเทศนา ฉันปรารถนากลิ่นหอมในสวนสวยในคนโท หรือ ในโถเครื่องหอม /...ทว่าบัดนี้ ฉันสามารถได้กลิ่นเครื่องหอมที่มิได้ถูกเผา เพื่อบูชาทวยเทพ หากฉันยังเติมเต็มหัวใจด้วยกลิ่นหอมที่ยังไม่เคยถูกพัดโชยโดยสายลมโบยเหนือที่โล่งกว้าง/วิญญาณของฉันเทศนาและสอนให้ฉันพูดว่า.ฉันพร้อมแล้ว เมื่อสิ่งที่ไม่รู้ และ อันตรายมาเยี่ยมเยือน..ก่อนที่วิญญาณจะสอนฉัน...ฉันไม่ตอบเสียงใดเลย ยกเว้นเสียงของผู้ป่าวประกาศซึ่งฉันรู้จัก และไม่ยอมเดินที่ใด ยกเว้นบนทางที่เรียบง่ายและอ่อนนุ่ม..”
“ยิบราน”ได้เน้นย้ำถึงภาวะแห่งดวงจิตปฏิพัทธ์ เพื่อให้ทุกผู้ทุกคนได้เพ่งพินิจในความจริงและตระหนักถึงภาวะแห่งลมหายใจของความเป็นตัวตนอันหยั่งลึก..สิ่งนี้นับว่าสำคัญยิ่งเพราะสรรพสิ่งล้วนไหวเคลื่อน และ ชีวิตของเราก็โบยบินและเอนไหวไปมา ...
“ที่รักของข้าเอย...กิ่งไม้ไหวเอนไปมา เสียงเกรียวกราว ประสานกับเสียงพึมพำของธารน้ำไหลในหุบเขา ...วิญญาณของเด็กๆผู้หิวโหยสั่นเทาอยู่ในที่พำนัก เสียงถอนหายใจของผู้เป็นแม่ กระดอนบนเตียงนอนแห่งความลำเค็ญและสิ้นหวัง ดังไปจนถึงท้องฟ้า ความฝันอันกลัดกลุ้มทำให้หัวใจของผู้พิการเจ็บช้ำ ข้าได้ยินเสียงครวญคร่ำอันเจ็บปวดของพวกเขา”
โดยเนื้อแท้..ยิบรานมองเห็นธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ในแง่ดี และ ยืนยันว่ามนุษย์จะไม่หันไปกระทำชั่ว ถ้าไม่จนแต้มต่อสภาพแวดล้อมที่มาบีบบังคับเขา มนุษย์มักตกเป็นเหยื่อของความอ่อนแอในตน ความต้องการทางร่างกายและจิตใจ และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่รัดตัว ซึ่งเขาต้องทนทุกข์ และบ่อยครั้งที่ผลักดันให้คนเรากระทำชั่วได้...
“เมื่อฉันมาถึงชายทะเล ม่านหมอกจากทิวเขาได้ปกคลุมทั่วบริเวณนี้ ดุจดังผ้าคลุมหัวของหญิงสาว ฉันจ้องไปที่ระลอกคลื่นสลับเสียงบูชาพระผู้เป็นเจ้า และครุ่นคิดถึงอำนาจอมตะที่ซ่อนอยู่ในเกลียวคลื่น อำนาจที่เคลื่อนไหวไปพร้อมกับแรงพายุ ปะทุร่วมกับภูเขาไฟ ยิ้มผ่านนวลกลีบดอกกุหลาบ และร้องเพลงร่วมกับสายธาร..และแล้วฉันก็เห็นผีสามตนนั่งอยู่บนก้อนหิน ฉันเดินเก้ๆกังๆ ไปหาพวกมันเหมือนดังอำนาจบางอย่างผลักไสให้ฉันไปที่นั่นโดยที่ฉันไม่เต็มใจ..ฉันหยุดชะงักเมื่ออยู่ห่างจากพวกมันไปสองสามก้าว คล้ายดั่งถูกตรึงให้ยืนนิ่งขึงโดยพลังอัศจรรย์”
ชั่วนาทีนั้น...ผีตนหนึ่งก็ยืนขึ้นแล้วเปล่งเสียง ซึ่งดูเหมือนจะผุดพรายจากท้องทะเลลึกว่า...
“ชีวิตที่ปราศจากความรักก็เหมือนดังต้นไม้ที่ไร้ดอกผล และความรักที่ปราศจากความงามก็เหมือนดอกไม้ที่ไร้กลิ่น หรือผลที่ไร้เมล็ด..
ชีวิต ความรัก ความงาม คือ สามสิ่งที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว ไม่สามารถ จากพรากหรือเปลี่ยนแปลงได้”
.........................
ผีตนที่สองพูดด้วยเสียงดังก้องเหมือนน้ำตกกำลังคำรามว่า...
“ชีวิตที่ปราศจากการกบฏ ก็เหมือนดั่งฤดูกาล ที่ปราศจากฤดูใบไม้ผลิ การขบถที่ปราศจากความถูกต้อง ก็เหมือนดังฤดูใบไม้ผลิ ในทะเลทรายแห้งแล้ง
ชีวิต การกบฏ ความถูกต้อง คือ สามสิ่งที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว ไม่สามารถจากพราก หรือ เปลี่ยนแปลงได้”
...................................
ผีตนที่สามเอ่ยด้วยเสียงกัมปนาท ดุจเสียงอสุนีบาตว่า..
“ชีวิตที่ปราศจากเสรีภาพก็เหมือนดั่งร่างกายที่ปราศจากวิญญาณ เสรีภาพที่ปราศจากความคิด ก็เหมือนดังจิตใจสับสน..
ชีวิต เสรีภาพ ความคิด คือสามสิ่งที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว และจะคงทนชั่วกาลนาน ไม่มีวันเสื่อมสลาย”
.................
และแล้วผีทั้งสามตนก็ยืนขึ้นพร้อมกัน เปล่งเสียงอันทรงอานุภาพเป็นหนึ่งเดียวว่า...
“สิ่งซึ่งความรักก่อเกิด
สิ่งซึ่งการขบถรังสรรค์
สิ่งซึ่งเสรีภาพหล่อเลี้ยงนั้น
ล้วนเป็นความประจักษ์แจ้งแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์คือการแสดงออกของจักรวาลอันชาญฉลาด”
ชั่วครู่หนึ่ง ความเงียบได้กลมกลืนกับเสียงกระพือปีก ที่มองไม่เห็น และร่างโปร่งใส ที่สั่นระริก และแล้วความเงียบได้เข้าครอบคลุมทุกสิ่ง
“ฉันหลับตาและฟังเสียงก้องของถ้อยคำที่ยังอึงอล เมื่อฉันเปิดเปลือกตา ฉันมองไม่เห็นสิ่งใดยกเว้นท้องทะเล ท่ามกลางสายหมอก ฉันเดินตรงไปที่ก้อนหิน ซึ่งผีสามตนนั่งอยู่ แต่ฉันไม่เห็นอะไรเลยนอกไปเสียจากควันกำยานเลื้อยเป็นสายขึ้นสู่สรวงสวรรค์”
โดยเนื้อแท้...ยิบรานมองเห็นธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ในแง่ดี และยืนยันว่ามนุษย์จะไม่หันไปกระทำชั่วถ้าไม่จนแต้มต่อสภาพแวดล้อมที่มาบีบบังคับเขา..มนุษย์มักตกเป็นเหยื่อของความอ่อนแอในตน ความต้องการทางร่างกายและจิตใจ และ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่รัดตัวซึ่งเขาต้องทนทุกข์ และ บ่อยครั้งที่ผลักดันให้คนเรากระทำชั่วได้..
ด้านหนึ่ง...อิทธิพลทางความคิดของยิบรานนั้น มาจากโศกนาฎกรรมในครอบครัวส่วนหนึ่ง ความขมขื่น ความเศร้า และ ความเปล่าเปลี่ยว ทำให้เขารู้สึกเจ็บปวด และ สะสม มันไว้ในจิตใจ ทำให้หันมาครุ่นคิดถึงปรัชญาเพื่อปลอบใจตนเอง โดยเฉพาะแห่งการเกิดใหม่..
อิทธิพลอีกประการหนึ่งนั้นก็คือ ยิบรานได้รับจากนักปราชญ์เยอรมัน”นิตเช่” อย่างน้อยการวิจารณ์ของนิตเช่ เกี่ยวกับอารยธรรมสมัยใหม่ และคริสต์ศาสนา ย่อมมีผลกระทบต่อยิบรานไม่มากก็น้อย...
“กอบกุล อิงคุทานนท์”นักแปลอาวุโสผู้มากฝีมือ ...แปลหนังสืออันมีค่าเล่มนี้ออกมาอย่างงดงาม เป็นความลึกซึ้งในด้านลึกของจิตวิญญาณแห่งชีวิต....โดยแท้...
นี่คือ...หนังสือที่สร้างพลังศรัทธาให้แก่โลกของความหมายอันสูงสุด...ความรัก คือ ความไม่รู้ที่มืดบอด...ซึ่งหนุ่มสาวเริ่มต้นและจบลงที่มัน
“วิญญาณของฉัน แนะและสอนฉัน ให้สังเกตความงาม ที่ซ่อนอยู่ใต้เปลือกผิว รูปร่าง และ สีสัน ความรักยังสอนให้ฉันครุ่นคิดในสิ่งที่ผู้คนเรียกว่าความอัปลักษณ์จนกระทั่งเสน่ห์แท้จริงและความปีติจะ...บังเกิด..”