ร่วมสมัย/ชะมวง พฤกษาถิ่น : ศิลปะที่มนุษย์สร้างขึ้น นอกจากเป็นเครื่องมือกล่อมเกลาจิตใจ สร้างความสุขแล้ว ศิลปะยังเป็นเครื่องมือใช้บำบัด ฟื้นฟูสภาพจิตใจ สร้างแรงบันดาลใจและความสงบสุขในชีวิตด้วย
“โครงการสุขศิลป์แบบองค์รวมเพื่อการพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนศิลปะเด็กพิการ ภาคเหนือ” โครงการที่มุ่งสร้างคุณค่าให้ผู้พิการ ด้วยการเสริมพัฒนาการศักยภาพครูผู้สอนศิลปะเด็กพิการในภาคเหนือ และโรงเรียนเครือข่ายให้เพิ่มพูนความรู้ ทักษะการปฏิบัติการ วิธีการสอนศิลปะในรูปแบบใหม่ๆ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย(สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม
รศ.ลิปิกร มาแก้ว อาจารย์ประจำ คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมุ่งยกระดับคุณค่าทางสุนทรียะ สู่แรงบันดาลใจสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยสู่สังคม เพื่อให้เด็กพิการได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะและส่งมอบกำลังใจในรูปแบบผลงานศิลปะให้แก่ห้องผู้ป่วยเด็ก โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรมประกวดวาดภาพ หัวข้อ “ความสุข” ภายใต้โครงการฯ ประจำปีการศึกษา 2565 โดยกิจกรรมแบ่งออกเป็น การอบรมเชิงปฏิบัติการทางศิลปะ ครูผู้สอน โรงเรียนเฉพาะความพิการ ภาคเหนือ และโรงเรียนเครือข่าย มีศิลปินแห่งชาติ ศิลปินศิลปาธร และศิลปินสายวิชาการ เป็นวิทยากร และอีกกิจกรรม เป็น การให้ครูผู้สอนถ่ายทอดองค์ความรู้สู่กระบวนการเรียนการสอนให้กับนักเรียนพิการและเด็กพิเศษ และจัดการประกวดผลงานศิลปะจากเด็กดังกล่าว จากนั้นนำมาจัดแสดงนิทรรศการ ณ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมราชมงคลล้านนา คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ล้านนา ตั้งแต่วันที่ 8 – 27 ก.ค. นี้
“ผลงานที่นำมาจัดแสดงล้วนเป็นการส่งความสุขใจมาจากผู้ให้ เพื่อสร้างกำลังใจให้ผู้รับ มีการใช้เทคนิคที่หลากหลาย สีสันสดใส โดยรางวัลยอดเยี่ยมเป็นภาพ “จินตนาการโลกแห่งความสุข” พร้อมกับภาพรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1, 2 และ 3 หลังจากจัดนิทรรศการนี้แล้วจะนำผลงานศิลปะที่ได้รับรางวัลจำนวน 30 ผลงาน ไปมอบให้กับสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ และห้องผู้ป่วยเด็ก โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ต่อไป” รศ.ลิปิกร กล่าว