สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 มูลนิธิวีระภุชงค์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จัดพิธีบวงสรวงองค์พญานาค และทวยเทพลุ่มน้ำโขง ที่วัดภูมโนรมย์ ต.ศรีบุญเรือง อ.เมืองมุกดาหาร จ.มุกดาหาร โดยมีนายบุญเรือง เมฆฉิม รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร กล่าวต้อนรับ คณะผู้ร่วมในพิธี ทั้งจากสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย980 ,มูลนิธิวีระภุชงค์,มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นคณะผู้ทำการวิจัย เรื่อง อิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาคที่มีต่อพระพุทธศาสนาในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีผู้แทนจาก ศูนย์กลางองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์แห่งส.ป.ป.ลาว และพุทธศาสนิกชนไทยในจังหวัดมุกดาหารร่วมด้วย
พระเมธีวรณาญ กล่าวถึงการสรุปการวิจัยพญานาคว่า อิทธิพลเรื่องพญานาคส่งผลต่อการดำรงชีวิตของพุทธบริษัทและประชาชนที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงรวมทั้งประเทศไทยพญานาคเกี่ยวข้องกันพระพุทธศาสนา สมัยที่พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์และการลอยถาดของพระพุทธองค์ ก็มี พญานาคมารับรู้
ฉะนั้น เรื่องราวต่างๆที่มีปรากฏในพระพุทธศาสนา จึงทำให้เรามีความเชื่อว่าพญานาคนั้นมีอยู่ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก และจากคำสอนของครูบาอาจารย์และพระอริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบบอกเล่าให้ลูกศิษย์เพื่อเป็นคติเตือนให้ทราบว่าพญานาคเป็นผู้ปกป้องพระพุทธศาสนาและปกป้องธรรมชาติ เป็นผู้อยู่ดูแลพระพุทธศาสนา เรื่องของพญานาคก็ยังส่งผลถึงวัฒนธรรมประเพณี หรือชีวิตของประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขง
ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาฯ กล่าวรายงานผลการวิจัย ว่า ความคิดริเริ่มสนับสนุนการทำงานวิจัยหัวข้อ อิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาคที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาในลุ่มแม่น้ำโขง เนื่องจากตลอดการเดินทางในงานธรรมยาตรา 5 แผ่นดินไทย ลาวก้มพูชา เมียนมา เวียดนาม ที่ผ่านมา พบว่าทุกวัดมีเรื่องราวและรูปปั้นพญานาค ไม่ว่าจะเป็นวัดพุทธเถรวาทหรือมหายาน จึงทำให้คิดถึงการรวบรวมองค์ความรู้เรื่องพญานาคที่ถูกต้องให้ครอบคลุม เพื่อค้นหาความผูกพันขององค์พญานาคในการพิทักษ์ปกป้องพระพุทธศาสนา และทำความเข้าใจเรื่องความเชื่อเรื่องพญานาคให้ถูกต้อง สถาบันฯ จึงสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยเรื่อง"อิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาคที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาในลุ่มแม่น้ำโขง" ขึ้น ซึ่งมีคณะผู้วิจัยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงจากการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทยและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการพระพุทธศาสนาจากคณะพุทธศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นำโดย พระเดชพระคุณ พระเมธีวรญาณ รองคณบดีฝ่ายบริหาร รับเป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัยทั้งชุด
เนื่องในโอกาสที่ผลการดำเนินการวิจัยชุดแรกเรื่อง "อิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาคที่มีต่อพระพุทธศาสนาในประเทศไทย" ได้สำเร็จแล้ว ลำดับต่อไปได้วางแผนลงพื้นที่วิจัยที่ประเทศลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม โดยมีเป้าหมายนำองค์ความรู้ "ความเชื่อเรื่องพญานาค" ยกระดับให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง และขอขึ้นทะเบียนรายการต่อองค์การยูเนสโกร่วมกัน ประเทศ ไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม นี่คือ
ความฝันของพวกเรา ที่จะสร้างประวัติศาสตร์ของชาวพุทธลุ่มน้ำโขงที่มีมรดกโลกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมร่วมกัน จึงขอถือโอกาสมงคลนี้จัดพิธีเจริญพุทธมนต์และบวงสรวงองค์พญานาคและทวยเทพให้รับรู้ถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของพวกเรา และสนับสนุนอวยชัยให้พวกเราได้ทำการอันเป็นกุศลนี้สำเร็จ
สุดท้ายคือการแสดงกตัญญูกตเวหิตาด้วยการแผ่บุญอุทิศกุศลไปยังองค์พญานาคทั้งหลายและทวยเทพทั้งหลาย เพื่อให้ท่านได้อนุโมททนาในกุศลผลบุญของพวกเราทุกคน เพื่อเป็น พลวปัจจัย เป็นฐานตามส่งให้เกิดปัญญาญาณ จนเข้าถึงความพ้นทุกข์คือพระนิพพาน
ก่อนหน้าที่จะเริ่มพิธีบวงสรวงฯคณะได้เดินไปสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ ๒ ตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร เพื่อสักการะ ศาลพ่อปู่พญานาคอนันตนาคราช และรูปปั้นพญานาคขนาดใหญ่ที่จุดชมวิวสะพาน
มิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ ๒
จากนั้นออกเดินทางสู่แก่งกะเบา ตำบลป่งขาม อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร สักการะบูชาองค์พญาศรีภุชงค์มุกดานาคราช องค์พญานาคสีขาวหมอกประดับด้วยเกล็ดหินอ่อน ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงริมแก่งกะเบา เป็นแลนด์มาร์กแห่งความศรัทธา ที่เชื่อกันว่ามีศักดิ์สิทธิ์ ประชาชน นิยมมาขอพร ลอดท้องพญานาค ๓ ซุ้ม หมายถึง สุขภาพแข็งแรง ร่ำรวย และความสำเร็จสัมฤทธิ์ผล
และเดินทางไปยังวัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์ สักการะ "พระพุทธมิ่งมงคลมุณีศรีมุกดาหาร" รอยพระพุทธบาทจำลอง และองค์พญาศรีมุกดามหามุนีนีลปาลนาคราช