ชาวขอนแก่น ได้เฮ กรมทางหลวงเพิ่มจุดกลับรถ เข้าสนามบิน แก้ปัญหารถติดและเร่งระบายรถในชั่วโมงเร่งด่วน “วัฒนา”ระบุ งบปี 65 – 66 ขอนแก่นได้ขยายช่องทางการจราจรมากที่สุดในประเทศไทย เร่งประสานท้องถิ่นพิจารณารับการถ่ายโอนถนนเพิ่มเติมหลังพบงบท้องถิ่นแก้ไขปัญหาไม่ได้ในหลายเส้นทาง

เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 11 ก.ค.2565 ที่จุดกลับรถ กม.ที่ 1+325 ถนนทางหลวงหมายเลข 2428 ทางเข้าท่าอากาศยานนานาชาติ จ.ขอนแก่น นายวัฒนา  ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น เขต 2 พรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วย นายรุ่ง บัวใหญ่รักษา รองผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ 7 ขอนแก่น,นายสิโรตม์  แดงภูมี ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงขอนแก่นที่ 1 และนายสมหมาย  ไชยนิจ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนานาชาติขอนแก่น  ร่วมเปิดจุดกลับรถและทดสอบระบบการกลับรถ ของจุดหลักรถ กม.ที่ 1+325 ถนนเส้นทางทางเข้าท่าอากาศยานนานาชาติ จ.ขอนแก่น ก่อนถึงโรงแรมราชาวดีรีสอร์ท แอนด์ โฮเต็ล จ.ขอนแก่น ซึ่งแขวงทางหลวงขอนแก่นที่ 1 ได้ทำการจัดสร้างขึ้นเป็นจุดกลับรถแห่งที่ 3 ของถนนเส้นทางสายดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพการจราจรที่ติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วนและลดระยะเวลาในการเดินทางให้กับหมู่บ้านและชุมชนโดยรอบสนามบิน ท่ามกลางชาวชุมชนที่มาร่วมเป็นสักขีพยานและร่วมทดสอบระบบการกลับรถในจุดกลับรถแห่งใหม่ใสจุดนี้เป็นจำนวนมาก

นายวัฒนา  ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น เขต 2 พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า จุดกลับรถหลัก กม.ที่ 1+325 ถนนทางหลวงหมายเลข 2428 เป็นจุดกลับรถจุดที่ 3 ของถนนเส้นทางสายดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามการร้องเรียนและการลงพื้นที่สำรวจร่วมกันของคณะทำงานร่วมทุกฝ่าย ในการแก้ไขปัญหาสภาพการจราจร โดยเฉพาะในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ที่ผู้ใช้รถใช้ถนนในเส้นทางดังกล่าวเฉพาะในชุมชนโดยรอบสนามบิน มีทั้งสิ้น 4 หมู่บ้านไม่นับรวมปริมาณรถของผู้โดยสารที่มาใช้บริการที่สนามบิน ที่เดิมต้องไปกลับรถ บริเวณใต้สะพานทางเข้าสนามบิน หรือบริเวณตอนกลางของถนน ดังนั้นการก่อสร้างเพิ่มเติมในจุดนี้ถือเป็นสิ่งที่กระทรวงคมนาคมนั้น ดำเนินการโดยคำนึงถึงความต้องการของประชาชนเป็นสำคัญ

“ จุดกลับรถจุดนี้ใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 500,000 บาท โดยเป็นการเปิดเกาะกลางถนน ระยะทางความกว้างจากหัวเกาะถึงหัวเกาะประมาณ 16 เมตร มีการติดตั้งป้ายและสัญญาณไฟกระพริบแจ้งเตือนตามหลักวิศวกรรมทางถนน มีการเพิ่มไฟส่องสว่างในจุดกลับรถและการทาสีเส้นถนน ให้เด่นชัด ซึ่งวันนี้จุดกลับรถแห่งนี้ได้เปิดพร้อมที่จะเปิดให้บริการประชาชนที่สัญจรไป-มาในเส้นทางถนนสายดังกล่าวที่มีวันละไม่ต่ำกว่า 2,000 คัน อย่างไรก็ดีเตรียมที่จะประสานกับท้องถิ่น ทั้ง อบจ.,เทศบาล และ อบต. ในการสำรวจถนนในความรับผิดชอบของท้องถิ่นว่าจุดใด ที่เกินกำลังหรือการจัดสรรงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดที่ไม่สามารถทำการซ่อมแซม ได้ก็จะมีพิจารณารับการถ่ายโอนให้กับกระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในภาพรวมต่อไป ”

ขณะที่นายสิโรตม์ แดงภูมี ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงขอนแก่นที่ 1 กล่าวว่า เดินถนนทางหลวงหมายเลข 2428 เส้นทางจุดตัดจาก ถ.มะลิวัลย์ มาที่ท่าอากาศยานนานาชาติขอนแก่น นั้นเป็นของกรมท่าอากาศยาน และได้มีการโอนให้มาอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง เมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งกรมทางหลวงได้ดำเนินการปรับปรุงจุดแรกคือการติดตั้งสัญญาณไฟจราจร บริเวณจุดตัด ระหว่าง ถ.มะลิวัลย์และ ถ.เส้นทางสายนี้ เพื่อเปิดเป็นจุดระบายรถที่รถสามารถที่จะเลี้ยวขวาออกจากสนามบินได้เลย ตามการควบคุมสัญญาณไฟจราจรแบบอัจฉริยะที่ติดตั้งขึ้น รวมทั้งการปรับปรุงจุดกลับรถเดิมที่มี คือ บริเวณใต้สะพานยกระดับทางเข้าสนามบิน,จุดกลับรถด้านหน้าทางเข้าสนามบิน และจุดกลับรถตอนกลางของถนนเส้นทางสายนี้ และวันนี้ด้วยสภาพของเมืองที่เปลี่ยนไป โดยที่มีผู้ใช้รถใช้ถนนในเส้นทางสายนี้ในจำนวนที่เพิ่มขึ้น การเพิ่มจุดกลับรถ อีก 1 จุดถือเป็นการลดระยะทางของการเดินทางของคนในชุมชนได้อย่างมาก ยกตัวอย่างเช่นหมู่บ้านโดยรอบสนามบินที่มีอยู่ 4 หมู่บ้านหลัก หากและหมู่บ้านมีรถยนต์หมู่บ้านละ 300 คัน รวมทั้งสิ้นก็จะมีประมาณ 1,200 คัน ไม่นับรวมรถส่วนบุคคล รถโดยสาร รถแท็กซี่ หรือรถจักรยานยนต์ที่มารับ-ส่งผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานแห่งนี้ เท่ากับว่าจุดกลับรถจุดนี้ ที่แขวงทางหลวงขอนแก่นที่ 1 ได้ใช้งบบำรุงของแขวงฯ จำนวน 500,000 บาทมาดำเนินการจัดสร้าง จึงถือเป็นประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างมาก

“ในปี 2565 ขอนแกนได้รับการพิจารณาอนุมัติงบประมาณ ในการดำเนินโครงการขยายผิวช่องทางการจราจร จากเดิม 2 ช่องทางเป็น 4 ช่องทางและจาก 4 ช่องทางเป็น 6 ช่องทาง รวมทั้งสิ้น 13 โครงการ ซึ่งถือเป็นงบประมาณที่กระทรวงคมนาคมได้พิจารณาอนุมัติงบประมาณในการขยายผิวช่องทางการจราจรมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการก่อสร้าง ขณะที่ปี 2566 ก็จะมีการขยายผิวการจราจรอีกหลายจุด ซึ่งขอนแก่น ก็ได้รับการจัดสรรในจำนวนมากที่สุดในประเทศไทยเช่นกัน โดยเฉพาะถนนทางหลวงหมายเลข 2428 จุดนี้ ที่จะมีการปรับปรุงฟุตบาทเดินเท้าและขยายจุดจอดรถเพิ่มเติม เพื่อรองรับกับแผนพัฒนาเมืองและระบบขนส่งมวลชนในเส้นทางสายหลักที่กระทรวงคมนาคมได้กำหนดไว้”