สภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (CDAST) และครีเอทีฟ แล็บ (Creative Lab) ภายใต้การสนับสนุนจากบริษัท ซีพี ฟิวเจอร์ ซิตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (CPFC) หนุนไอเดียคนรุ่นใหม่ปั้นแลนมาร์ค “พื้นที่สาธารณะ” แห่งอนาคต เพื่อกระตุ้นแนวคิดคนรุ่นใหม่ใส่ใจสังคมไทย สะท้อนผ่านแนวคิดที่นำเสนอพื้นที่สาธารณะผสานอัตลักษณ์ไทย ในหลากหลายมิติ เหนือจินตนาการ พร้อมสร้างความประทับใจให้คนทั่วโลก

กระแส “พื้นที่สาธารณะ” ได้รับความสนใจอีกครั้ง หลังจากผู้คนกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านได้มากขึ้น ทว่าในประเทศไทยมีพื้นที่สาธารณะน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร และแม้ว่าในปัจจุบันหลายภาคส่วนในไทยเริ่มตื่นตัวกับการสร้างพื้นที่สาธารณะ เพื่อเติมเต็มคุณภาพชีวิตของคนเมืองให้ดียิ่งขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกที่จะสามารถออกแบบได้ตอบโจทย์ตามความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างแท้จริง อาจจะเป็นเพราะการพัฒนาพื้นที่สาธารณะส่วนใหญ่ในไทยยังขาด “กระบวนการที่มีส่วนร่วม” (inclusive process) ของผู้คนที่จะเข้ามาร่วมใช้ประโยชน์จากพื้นที่เหล่านั้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เต็มเปี่ยมด้วยพลังสร้างสรรค์และมุมมองที่แตกต่างออกไปจากเดิมในการพัฒนาเมือง

จึงเป็นที่มาของการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ร่วมแชร์ไอเดียความคิด วิสัยทัศน์ และมุมมองในการออกแบบพื้นที่สาธารณะและอนาคตเมืองในโครงการประกวดแบบ “Uniquely Thai” Envisioning the 21st Century Bangkok’s Civic Center Architectural Design Competition ด้วยความร่วมมือของสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (CDAST) และครีเอทีฟ แล็บ (Creative Lab) ภายใต้การสนับสนุนจากบริษัท ซีพี ฟิวเจอร์ ซิตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (CPFC) ค้นหาสุดยอดผลงานการออกแบบพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชน หรือ “Civic Center” แห่งอนาคตที่ตอบโจทย์เรื่องคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คนบนความยั่งยืน รองรับความต้องการที่หลากหลายมิติ เข้าถึงวิถีการใช้ชีวิตของคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัยได้อย่างเท่าเทียม อีกทั้งยังหมายมั่นให้เป็นจุดหมายด้านวัฒนธรรมและสร้างเสน่ห์ความเป็นไทยสู่สากลโลกด้วยการใช้พลัง 'ซอฟต์พาวเวอร์ไทย' ผ่านผลงานออกแบบ         

โดยรางวัลชนะเลิศ Gold Award ระดับนิสิตนักศึกษาเป็นของ นางสาวมนัสนันท์ เดชะสุวรรณ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เจ้าของผลงานที่นำแนวคิด “ความเหลื่อมล้ำทางสังคม” มาใช้ และรางวัลชนะเลิศระดับบุคคลธรรมดาได้แก่ ทีม Cosmic Civic Center จากผลงานที่ผสมผสานความเป็นไทยเข้ากับโลกอนาคตสุดล้ำอย่าง “Metaverse” ขณะที่รางวัล Popular Vote ตกเป็นของผลงาน “เอกลักษณ์ไทยอนันตกาล” จากผู้เข้าแข่งขันประเภทบุคคลทั่วไป ซึ่งผู้ชนะทุกประเภทจากโครงการฯ ได้รับเงินรางวัลรวมกว่า 700,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ และรางวัลชนะเลิศ Gold Award รวมทั้งรางวัลเดินทางศึกษาดูงานและได้รับประสบการณ์ชมพื้นที่สาธารณะต่างประเทศ ณ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ทั้งนี้ ทุกผลงานของผู้เข้าประกวดผ่านกระบวนการตีความภายใต้โจทย์ “Uniquely Thai” เพื่อออกแบบ “พื้นที่สาธารณะ” จุดหมายปลายทางทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ที่จะสร้างเสน่ห์ความเป็นไทยให้โลกรับรู้ ผ่านการนำเสนอ ‘Thai Soft side – Soft power’ ดึงทุกแง่มุมของอารยธรรมและความลึกซึ้งของความเป็นไทย โดยมีความท้าทายในการสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมไทยในรูปแบบใหม่ ผ่านการคิดทบทวนและตีความประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความเชื่อที่แทรกซึมอยู่ในสังคมไทย รวมถึงความเข้าใจในพฤติกรรมการอยู่ร่วมกันเพื่อออกแบบพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม

ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี อดีตประธานสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (CDAST) กล่าวว่า ปัจจุบันเทรนด์ของการออกแบบและพัฒนาเมืองทั่วโลก ต่างให้ความสำคัญกับ พื้นที่สาธารณะมากขึ้น เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในเมือง ที่ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ดังนั้น เราจึงเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการคิด และถ่ายทอดประสบการณ์ร่วมกัน  ถือเป็นเวทีที่ให้นักออกแบบ ที่เป็นอนาคตของเมือง ได้นำเสนอไอเดีย อัตลักษณ์ของวัฒนธรรมไทยผสานกับความเป็นสากล ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ท้าทายและน่าตื่นเต้นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกคน เพราะท้ายที่สุดแล้ว กลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้ก็คือเจ้าของพื้นที่สาธารณะในอนาคตอย่างแท้จริง

ด้านนางสาวมนัสนันท์ เดชะสุวรรณ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เล่าถึงผลงานว่า “จากสายตาของเราทุกคน กรุงเทพมหานครคือเมืองหลวงที่สามารถสะท้อนความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี แต่ความสวยงามที่เห็นก็ตั้งอยู่บนความไม่สมบูรณ์ของระบบผังเมือง ไม่สามารถตอบโจทย์วิถีชีวิตอันเร่งรีบของคนในพื้นที่ได้ เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมไม่มีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียม จึงได้ออกแบบอาคาร Civic Center ให้เป็นจุดเชื่อมต่อไปยังชุมชนต่าง ๆ เพราะ Civic Center มีความสำคัญกับสังคมและเกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คนจำนวนมาก การเชื่อมต่อจะเป็นในรูปแบบทางเดินเท้าเพื่อสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจไปยังผู้ประกอบการรายย่อย ส่งเสริมการท่องเที่ยวและเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมของชุมชน ผ่าน  4 เส้นทางหลักได้แก่ Cultural Loop เส้นทางพัฒนาต่อยอดและสืบสานวัฒนธรรมไทย Commercial loop เส้นทางเสริมสร้างอาชีพเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้กับคนในสังคม Education loop เส้นทางการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนเพื่อสร้างโอกาสด้านความคิดรวมถึงความรู้เทียบทันยุคสมัย และ Recreation loop เส้นทางสำหรับคนเมืองเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับทุกคน

โดยยังได้ดีไซน์โครงสร้างอาคารให้ล้อไปกับองค์ประกอบในสถานที่จริงทั้งการเล่นกับความสว่างของแสง ลม เพื่อให้สอดคล้องกับระดับความ Private และ Public ในพื้นที่นั้นๆ โดยไม่ลืมที่จะสอดแทรกสถาปัตยกรรมล้ำสมัยเข้ากับสิ่งที่ชาวไทยมีร่วมกันนั่นก็คือ ความอ่อนช้อย ตามความตั้งใจที่จะแสดงให้ทุกคนเห็นถึงความเป็นไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของโครงการนี้