อีอีซี ร่วมมือ Diplomatic Council รับคณะทูตทั่วโลกมากกว่า 10 ประเทศ และหอการค้านักธุรกิจต่างประเทศและไทย เตรียมพร้อมพื้นที่ อีอีซี ก้าวสู่ศูนย์กลางการลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลแห่งอนาคต เพื่อดึงดูดเงินลงทุนเข้าพื้นที่   

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี ร่วมกับ Diplomatic Council จัดงานสัมมนา “A High-level Briefing and Dialogue Session on Eastern Economic Corridor (EEC)” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความก้าวหน้าพื้นที่ อีอีซี ให้กับกลุ่มนักการทูตและผู้นำนักธุรกิจจากหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย รวมถึงเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นต่อแนวทางการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความร่วมมือและดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใน อีอีซี  โดยมี ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง อาทิ นางนงนุช เพ็ชรรัตน์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านการต่างประเทศ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านพัฒนาการศึกษา บุคลากร และเทคโนโลยี ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติกำกับและดูแลเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) และ ดร.ชลจิต วรวังโส วีรกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ ช่วยกำกับดูแลด้านเศรษฐกิจมหภาค เข้าร่วมการบรรยาย  

สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ ถือเป็นเวทีสำคัญของ อีอีซี ที่ได้รับเกียรติจากเอกอัครราชทูตจากประเทศชั้นนำทั่วโลกมากกว่า 10 ประเทศ และประธานผู้บริหารจากหอการค้า เข้าร่วมงานฯ อาทิ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ สิงคโปร์ บราซิล อียิปต์ กัมพูชา เป็นต้น ในงาน อีอีซี ได้นำเสนอความก้าวหน้าและความสำเร็จการพัฒนาโครงการอีอีซี ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา รวมถึงประกาศแผนขับเคลื่อนโครงการต่างๆในระยะต่อไป โดยเน้นลงทุน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ใน 4 แกนหลักธุรกิจใหม่ศักยภาพสูงอาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ดิจิทัล การแพทย์สมัยใหม่ และโลจิสติกส์ ภายใต้บริบทของเศรษฐกิจสีเขียว (BCG)

ขณะเดียวกันยังรวมทั้งโครงการพัฒนาเมืองใหม่ (Smart city) ในอนาคต ซึ่งจะทำให้นักลงทุนทราบถึงความสำคัญของพื้นที่ อีอีซี ศูนย์กลางการลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมด้านดิจิทัลแห่งอนาคต และเป็นเมืองอัจฉริยะ โดยใช้หลักคิดการพัฒนาเมืองที่เติบโตอย่างยั่งยืน และพึ่งพาตนเองได้ ทั้งนี้เพื่อดึงดูดการลงทุนฐานนวัตกรรมขั้นสูง และจูงใจนักลงทุนทั่วโลกเข้าสู่พื้นที่ อีอีซี ให้สำเร็จตามเป้าหมายแผนลงทุนระยะ 2 ในอีก 5 ปีข้างหน้า (2565 – 2569) ที่จะขับเคลื่อนต่อยอด เร่งรัดการลงทุนนวัตกรรมขั้นสูง เพิ่มความสามารถการแข่งขันของไทย วงเงินลงทุนรวม 2.2 ล้านล้านบาท เป็นกลไกหลักผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตเต็มศักยภาพ 4.5-5% ต่อปี และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19    

นอกจากนี้ อีอีซี ยังได้ใช้เวทีสัมมนาครั้งนี้ นำเสนอข้อมูล 3 หัวข้อสำคัญ ด้แก่ 1.) 5G and Digital Transformation in EEC 2.) Bio-Green-Circular Economy and EECi Development และ 3.) Human Resource Development and Education in EEC ตลอดจนร่วมตอบคำถามและแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้เข้าร่วมประชุม ต่อแนวทางการมีส่วนร่วม และร่วมกันหารือเพื่อผลักดันโครงการต่างๆของอีอีซี