เผยอัตราครองเตียงกทม.เหลือไม่ถึง 50% สามารถรับผู้ป่วยโควิดวิกฤติได้ 3-5 วัน ย้ำประชาชนขอให้รีบไปฉีดเข็มกระตุ้นเพราะเชื่อว่าสามารถป้องกันอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตลงได้ รวมทั้ง กลุ่ม 608 ต้องใส่หน้ากากตลอดเวลาแม้จะออกไปที่โล่งแจ้ง เพื่อเป็นการป้องกัน ผู้ว่าฯชัชชาติสั่งเตรียมแผนสำรองยา เวชภัณฑ์ บุคลากร รวมถึงให้ศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นด่านแรกในการตรวจโรค ก่อนส่งต่อไปยังโรงพยาบาลของกทม. ประชาชนแจ้งได้ ผ่านเบอร์ 1669 ศูนย์เอราวัณ จะเป็นผู้บริหารจัดการทั้งหมด 

(8 ก.ค.65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อม ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงสถานการณ์โควิด-19 ภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยเปิดเผยสถานการณ์ โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยมีผู้ติดเชื้ออยู่ที่วันละ 2,000 คน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ และกลุ่มที่มีโรคประจำตัว ที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลทำให้อัตราครองเตียงเพิ่มขึ้น แต่ยังสามารถจัดสรรได้ ในส่วนของโรงพยาบาลสังกัด กทม. ที่อยู่ชั้นในอาจจะตึง ต้องส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลรอบนอกที่ยังมีเตียงว่างพอ โดยรวมยังมีเตียงรองรับผู้ป่วยกลุ่มเหลืองและแดง ได้อีก 40% ยังรับผู้ป่วยวิกฤตได้ 3-5 วัน โดยผู้ว่าฯ สั่งให้เตรียมแผนสำรองยา เวชภัณฑ์ บุคลากร รวมถึงให้ศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นด่านแรกในการตรวจโรค ก่อนส่งต่อไปยังโรงพยาบาลของกทม. ประชาชนแจ้งได้ ผ่านเบอร์ 1669 ศูนย์เอราวัณ จะเป็นผู้บริหารจัดการทั้งหมด 

ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ได้สั่งการให้แต่ละเขต เตรียมเปิด ศูนย์พักคอย หรือ Community Isolation (CI) รองรับผู้ติดเชื้อ จากที่ปิดไปแล้ว โดยมอบรองผู้ว่าฯ ทวิดา ประสานดำเนินการ รวมถึงประสานกระทรวงสาธารณสุขเรื่องในการสำรองยารักษาตัวใหม่ โมลนูพิราเวียร์ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขบอกว่าให้ผลการรักษาดี แต่ยังไม่มี อย. ต้องซื้อผ่านกระทรวงสาธารณสุข แต่หากผ่าน อย.แล้ว กทม.สามารถจัดซื้อเองได้ ก็ให้เตรียมสำรองไว้ให้เพียงพอ นอกจากนี้ ขอเตือนประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยใน กทม. ฉีดไปแล้ว 50% ขอให้รีบไปฉีดเข็มกระตุ้นเพราะเชื่อว่าสามารถป้องกันอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตลงได้ รวมทั้ง กลุ่ม 608 ต้องใส่หน้ากากตลอดเวลาแม้จะออกไปที่โล่งแจ้ง เพื่อเป็นการป้องกัน

ส่วนกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนหมู่มาก ทั้งดนตรีในสวน และการชมหนังกลางแปลง ซึ่งเป็นข้อกังวลของที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ก็จะแนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างเพื่อลดความแออัดตลอดการทำกิจกรรม โดยตนจะเป็นตัวอย่างให้กับประชาชนในเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะเช่นในการวิ่งออกกำลังกายทุกเช้า

สำหรับการรับมือผู้ติดเชื้อในโรงเรียนสังกัด กทม. พบว่าส่วนใหญ่เป็นเด็กโตเนื่องจากการรวมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกันบ่อยครั้ง ส่วนเด็กเล็ก พบอัตราการติดเชื้อ 1% โดยขอให้โรงเรียน 437 แห่ง เตรียมแผนรับมือ จัดการเรียนในรูปแบบออนไลน์ให้พร้อม เบื้องต้น ให้ทุกโรงเรียนเปิดเรียนออนไซด์ได้ตามปกติ ส่วนแผนเผชิญเหตุ กรณีพบเด็กติดเชื้อ 1-2 คน ให้เข้าสู่กระบวนการรักษาทันที แต่หากพบมากกว่านั้น จนกลายเป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่มากกว่า 1 ห้องเรียนให้ผู้อำนวยการโรงเรียนสามารถพิจารณาปิดเรียนได้ 3 วัน