หมายเหตุ : รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้สัมภาษณ์พิเศษรายการ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” เผยแพร่ทางช่องยูทูบ Siamrath เมื่อวันที่ 2 ก.ค.65 ได้วิเคราะห์ถึงความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าจับตาของทุกพรรคการเมือง ในจังหวะที่เริ่มนับถอยหลังลงสู่สนามการเลือกตั้ง ที่มีความเป็นไปได้ว่า จะเกิดขึ้นก่อนรัฐบาลอยู่ครบเทอม ในปีหน้า 2566 มีสาระที่น่าสนใจดังนี้
- วันนี้จะถือว่าเราเริ่มนับถอยหลัง ลงสนามเลือกตั้งกันได้แล้วหรือไม่ โดยเฉพาะมีความเคลื่อนไหวจากทุกพรรคการเมืองที่เตรียมตัวกันแล้ว
ต้องบอกว่าโอกาสที่จะมีการเลือกตั้ง ที่จะเกิดขึ้นอีกไม่นานหลังจากนี้ ก็มีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากอายุของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ จะครบวาระในเดือนมีนาคมปี 2566 เพราะฉะนั้น ก็ต้องบอกว่า อย่างไรก็ตามสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ อยู่ไม่ถึงปี ก็มีโอกาสที่จะเกิดการเลือกตั้งขึ้นก่อนด้วย ถ้ามีอุบัติเหตุทางการเมือง เช่น มีเรื่องของการยุบสภาฯ ก่อนที่จะครบวาระ
เพราะเราก็เห็นได้ว่าการยุบสภาฯนั้น มีโอกาสที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะหลังการประชุมเอเปกที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ทำไมถึงบอกว่าการประชุมเอเปกนั้นเป็นหมุดหมายที่สำคัญในทางการเมืองหลังจากนี้ เพราะว่ามีเหตุผลอยู่ สองสามประการด้วยกัน
ประการแรก การประชุมเอเปกนั้น ครั้งนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และเป็นประธานเอเปกด้วย เพราะฉะนั้นแน่นอนว่า รัฐบาลก็คงจะดึงสถานการณ์ไปจนถึงการประชุมในเดือนพ.ย.นี้ ส่วน ประการที่สอง ในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม ก็จะเป็นฤดูการแต่งตั้ง โยกย้าย ข้าราชการประจำ เพราะฉะนั้นโอกาสที่เราจะเห็นการวางบรรดาบุคลากรในฝ่ายข้าราชการประจำ เพื่อที่จะเตรียมพร้อมรับกับยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้ง จะเป็นทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายพลเรือนต่างๆ มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว ในช่วงเดือนกันยายน ก็คงจะเรียบร้อย จากนั้นเข้าสู่เดือนตุลาคม เป็นช่วงเดือนงบประมาณใหม่
ประการที่สาม หลังจากเดือนตุลาคมไป การขับเคลื่อนงบประมาณก็จะเกิดขึ้นในระยะเวลาหลังการประชุมเอเปก ก็จะเป็นการขับเคลื่อนงบประมาณไปแล้วสัก 2-3 เดือน ก็จะเริ่มเห็นภาพของผลงานต่างๆของส.ส.ในระดับพื้นที่ หรือแม้กระทั่งของกระทรวง ของรัฐบาล ของรัฐมนตรี หรือของพรรคการเมืองต่างๆ เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่จะทำให้เกิดเรื่องการวางฐานทางการเมือง
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องงบประมาณนั้นจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของฐานคะแนนเสียงในพื้นที่ และด้วยสาเหตุสำคัญ สองสามประการตรงนี้ก็มีโอกาสที่จะทำให้เราได้เห็นว่าโอกาสจะมีการยุบสภาเกิดขึ้นก่อน มีความเป็นไปได้สูง
และ ที่สำคัญ การยุบสภาฯจะทำให้เกิดความได้เปรียบในเชิงเทคนิคในหลายประการ อย่างเช่น ในเรื่องของระยะเวลาในการเลือกตั้ง จะถูกยืดเวลาออกไป ซึ่งปกติแล้วถ้ารัฐบาลอยู่จนครบวาระ จะมีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วัน แต่ถ้าเป็นกรณีของการยุบสภานั้นจะขยายไปถึง 60 วัน เพราะฉะนั้นในระยะเวลา 45 ถึง 60 วัน หลายคนอาจจะบอกว่าไม่ได้นานมาก ต่างกันประมาณ 2 สัปดาห์ แต่สำหรับพรรคการเมือง และนักเลือกตั้ง ต้องบอกว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในทุกวินาทีในสนามเลือกตั้ง
และ อีกประการหนึ่ง ก็คือว่าระยะเวลาในการย้ายพรรค ย้ายขั้ว ย้ายค่าย ก็จะย่อๆลงด้วย เพราะปกติถ้ารัฐบาลอยู่ครบวาระของสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.จะต้องสังกัดพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วัน จึงจะมีคุณสมบัติในการลงสมัครส.ส. ได้
แต่หากเป็นการยุบสภาฯ จะใช้เวลาเข้าสังกัดพรรคเพียงแค่ 30 วัน เพราะฉะนั้นตรงนี้คือสิ่งที่จะทำให้เกิดความได้เปรียบในเรื่องเทคนิค ดังนั้นโอกาสที่จะมีการยุบสภาฯหรือมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นก่อนก็มีความเป็นไปได้สูง
- ถ้าเป็นแบบนี้หมายความว่าเป้าหมายการชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายของพรรคเพื่อไทยก็ดูติดขัดแล้วก็มีเงื่อนไขหลายข้อ
ในเรื่องของการประกาศแลนด์สไลด์ของคุณทักษิณ ชินวัตร และ พรรคเพื่อไทยนั้นต้องบอกว่าเป็นเรื่องปกติของพรรคการเมืองในสนามเลือกตั้ง ที่เขาจะต้องมีการสร้างแคมเปญหรือการที่จะเร้าระดมทางการเมืองต่างๆอยู่แล้ว การประกาศในเรื่องแลนด์สไลด์ ก็สอดรับกับกระแสข่าวก่อนหน้านี้ในเรื่องของ คุณอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาว ของ ทักษิณ ก็อาจจะมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็จะเป็นสิ่งที่สะท้อนภาพให้เห็นว่า การเดินหน้าสู่แลนด์สไลด์จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของพรรคเพื่อไทย
แต่ว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ต้องบอกว่าโอกาสเป็นไปได้ยาก เพราะว่ามีปัจจัยหรือเงื่อนไขเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเยอะ แม้ว่าวันนี้ระบบเลือกตั้งจะถูกแก้ไขจากระบบจัดสรรแบบส่วนผสม ไปสู่ระบบเลือกตั้งที่เรียกว่าบัตรสองใบ แบบคู่ขนาน พูดง่ายๆก็คือเหมือนกับไปอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ว่าอย่าลืมว่าวันนี้ เรื่องของภูมิทัศน์ทางการเมือง ของผู้คนก็เปลี่ยนแปลงไป เรื่องบริบทแวดล้อมทางการเมืองก็เปลี่ยนแปลงไป
ซึ่งในการเลือกตั้งเมื่อปี 2544 ใช้กติกาเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 การกาคะแนนเสียงของผู้คนจะไปในทิศทางเดียวกันหมด ใบหนึ่งเลือกคน ใบหนึ่งเลือกพรรค แต่ ณ วันนี้มีโอกาสที่การกาคะแนนเสียงผู้คนนั้นจะถูกแบ่งเจตจำนงออกตามบัตร 2 ใบ มีความเป็นไปได้สูง คือใบหนึ่งเลือกคนก็คือส.สแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และอีกใบหนึ่งก็เลือกพรรค ก็คือส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งตรงนี้ เราได้เห็นปรากฏการณ์ที่คล้ายๆกัน ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ที่ผ่านมา ใบหนึ่งก็เลือกผู้ว่าฯอีกท่านหนึ่ง ใบหนึ่งก็เลือกส.ก.มาจากอีกพรรคหนึ่งเป็นต้น
ตรงนี้อย่าลืมว่าในชั้นกรรมาธิการพิจารณาในเรื่องของกฎหมายเลือกตั้ง ก็ได้มีการโหวตกันเรียบร้อยแล้วว่าจะใช้ระบบที่ผม ใช้คำเรียกง่ายๆว่าหลายเบอร์ทั่วประเทศ ไม่ใช่เบอร์เดียวทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เบอร์เดียวทั่วประเทศเหมือนกับในกติกาเมื่อปี 40 ต้องบอกว่าโอกาสที่คนจะกาไปในทิศทางเดียวกันมันก็เป็นไปได้ยากขึ้น การจะถูกแยกเจตจำนงในบัตร 2 ใบ มันก็มีโอกาสที่จะเป็นอย่างนั้น
นอกจากนี้อีก ประการหนึ่ง คือเรื่องของภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป วันนี้ผู้คนมีความคิดทางอุดมการณ์ แนวคิดทางการเมืองที่หลากหลายกันมากขึ้น พรรคการเมืองก็มีจำนวนมากขึ้น และก็มีทางเลือก มีตัวเลือกให้กับพี่น้องประชาชนมากมาย เพราะฉะนั้น ด้วยบริบททางการเมืองและด้วยเรื่องของสถานการณ์การเมืองต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไป ก็เป็นจุดที่สำคัญอย่างยิ่งการที่จะทำให้การแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยและยุทธศาสตร์ที่คุณทักษิณ ได้วางเอาไว้อาจจะไม่เกิดขึ้นง่ายๆ
-ปัญหาของพรรคเพื่อไทย ของคุณทักษิณ หลายคนมองว่า หมดตัวเล่นไม่ว่าจะเป็นการไปดึง คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำนปช. กลับมา รวมทั้งการพูดถึงแคนดิเดตนายกฯในการเลือกตั้งรอบหน้า คุณอุ๊งอิ๊งจะแบกรับภาระตรงนี้ อย่างไร
ต้องบอกว่าการกลับมาของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ก็เป็นจุดหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการวางยุทธศาสตร์ทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยอยู่ไม่น้อย เพราะว่าอย่าลืมว่าจุดอ่อนประการหนึ่งของพรรคเพื่อไทยนั้นก็คือการที่พรรคเพื่อไทยไม่มีตัวผู้เล่น หรือตัวบุคคลซึ่งเป็นนักวาทวิทยา และอย่าลืมว่าวันนี้การลงไปในพื้นที่การพบปะพี่น้องประชาชนไปเปิดเวทีปราศรัยต่างๆนั้น สิ่งที่สำคัญก็คือจะต้องมีบรรดาผู้คนซึ่งเรียกว่ามี ความเก่งกาจหรือ ความชำนิชำนาญ ในเรื่องการใช้วาทศิลป์ ซึ่งนี่เป็นคุณลักษณะที่สำคัญของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ทั้งเรื่องของลีลาการปราศรัยการพูดความสนุกสนานอะไรต่างๆในการที่จะดึงผู้คนในเวทีของการปราศรัยได้
เราก็เห็นภาพอย่างนั้นที่เกิดขึ้นที่ศรีสะเกษในสองเวที บทบาทเด่นก็จะเป็นบทบาทของคุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอย่าลืมว่าในทางการเมืองนั้น วันนี้คุณณัฐวุฒิ ไม่สามารถดำรงตำแหน่งในทางการเมืองได้เพราะต้องคำพิพากษา ในรัฐธรรมนูญ 60 เรียกกันง่ายๆว่าโดนใบดำ เพราะฉะนั้นก็ไม่สามารถลงส.ส.หรือดำรงตำแหน่งการเมืองได้
ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่าคุณณัฐวุฒิ จึงอยู่ในฐานะของการเป็นผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย แล้วจะทำหน้าที่ตรงนี้ในการที่จะลงไปในพื้นที่ เนื่องจากว่าเพื่อไทยนั้นก็ยังขาดบุคคลที่จะเป็นดาวสภา ดาวพูด ดาวปราศรัยต่างๆ ซึ่งนี่คือสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องหยิบจับคุณณัฐวุฒิขึ้นมา ในการที่จะลงพื้นที่ในการหาเสียง และที่สำคัญก็คือว่า ณ วันนี้ท้ายที่สุดแล้วแคนดิเดตนายกฯของพรรคมีชื่อของ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ขึ้นมาจริงๆ ก็ต้องบอกว่าต้องอาศัยบรรดาผู้คนซึ่งจะเป็นบุคคลสำคัญในพรรคในการที่จะช่วยดึงตรงนี้อยู่พอสมควร เพราะว่าคุณอุ๊งอิ๊ง เองก็ยังไม่มีประสบการณ์ในการเมืองมากนัก
และที่สำคัญคือความสำเร็จของคุณทักษิณ ที่เกิดขึ้นในทศวรรษที่ 2540 อาจ จะถูกส่งผ่านมาสู่คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในทศวรรษที่ 2550 ได้ แต่ ณ วันนี้คือทศวรรษที่ 2560 เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณทักษิณ ทำไว้ นโยบายต่างๆความสำเร็จในเชิงรูปธรรมก็จำเป็นที่ต้องหาคนที่มาเชื่อมโยง เพราะว่าพรรคเพื่อไทยเองนั้นไม่ได้เป็นรัฐบาลมาร่วม 9 ปีแล้ว หลังการรัฐประหารในปี 2557 เพราะฉะนั้นเนื้อหาสาระในการปราศรัยของคุณณัฐวุฒิ บนเวทีก็จะมีการพูดถึงผลงานของอดีตคุณทักษิณ แล้วก็เชื่อมโยงมาสู่การแนะนำหรือเปิดตัวคุณอุ๊งอิ๊ง บนเวที ตรงนี้จึงเป็นภารกิจหลักของคุณณัฐวุฒิสำหรับการกลับมาพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้
- มีพรรคการเมืองไหนที่ต้องจับตาเป็นพิเศษหรือไม่ ในสนามเลือกตั้งรอบนี้ อาจจะไม่ใช่ในแง่ของการได้เสียงข้างมาก แต่ว่าอาจจะมีความโดดเด่น อย่างพรรคภูมิใจไทย
ผมคิดว่าในส่วนของพรรคภูมิใจไทย เป็นสิ่งที่ต้องจับตาอย่างยิ่งเลย เพราะอย่าลืมว่าพรรคภูมิใจไทยเดินเข้าสู่สภาฯหลังการเลือกตั้งในปี 2562 ด้วยคะแนนเสียงที่เท่าๆกับพรรคประชาธิปัตย์ก็คือ 51 ที่นั่ง แต่ในระยะเวลาผ่านไป พรรคภูมิใจไทย มีส.ส.เพิ่มขึ้นมาเป็น 64 ที่นั่งแล้ว และยังไม่รวมบรรดาคนที่ยังไม่ได้ย้ายพรรคกันอย่างเป็นทางการ เอาเฉพาะตัวเลขที่เป็นทางการก็คือ 64 ที่นั่งแล้ว
เพราะฉะนั้นในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็น่าสนใจยิ่ง กับการขยายฐานของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเดิมภูมิใจไทย เรียกว่าอยู่ในสถานะที่เป็นพรรคเฉพาะถิ่น ก็คืออยู่ในอีสานใต้ และในการเลือกตั้งปี 62 ก็ขยายออกมาในหลายพื้นที่ เช่นขยายไปที่โคราช ขยายไปที่ภาคกลาง ลงพื้นที่เปิดใหม่ในภาคใต้ ซึ่งครั้งนี้ต้องบอกว่าภูมิใจไทยก็จะมีโอกาสจะขยายฐานได้มากกว่าเดิมอีก
แล้วก็ที่สำคัญก็คือหลายคนอาจจะจับตาไปว่าพรรคเพื่อไทยนั้นจะตัดคะแนนเสียงกันเองกับพรรคก้าวไกล แต่ผมไม่คิดอย่างนั้น ผมคิดว่าตัวบุคคลต่างๆ ในระดับพื้นที่นั้นยังคงมีความสำคัญในทางการเมืองสำหรับการเมืองในต่างจังหวัดอยู่ เพราะฉะนั้นพรรคการเมืองซึ่งจะเป็นคู่แข่ง เป็นคู่ฟัดที่สำคัญกับพรรคเพื่อไทยในพื้นที่ภาคอีสานเลยนั้นคือพรรคภูมิใจไทย เพราะฉะนั้นอันนี้คือจุดที่ต้องจับตาเลยว่าการชนกันระหว่างเพื่อไทยกับภูมิใจไทยจะเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในหลายส่วน
ในฐาน ในพื้นที่แล้วก็ก็ต้องจับตามองเรื่องของทิศทางพรรคภูมิใจไทยเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเราเห็นได้ว่าเมื่อมีการย้ายส.ส.ที่เป็น Package ที่ศรีสะเกษ คือมาทั้งตระกูลการเมือง พรรคเพื่อไทยก็ต้องรีบลงไปอุดรอยรั่วป้องกันไม่ให้เกิดรอยรั่วเช่นนี้เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆที่จะตามมา จึงเป็นที่มาของ แคมเปญ “ไล่หนู ตีงูเห่า” ซึ่งก็ทำให้เกิดการวิวาทะกัน ระหว่างบุคคลแกนนำของสองพรรคอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นตรงนี้คือจุดที่ต้องจับตามอง สำหรับในเรื่องของพรรคเพื่อไทยกับการเลือกตั้งในครั้งหน้าแล้วก็พรรคภูมิใจไทยกับการเลือกตั้งในครั้งหน้าด้วยเช่นเดียวกัน
-ดูเหมือนว่าการเลือกตั้งที่ดูเหมือนกับว่าจะห่างไกลแต่จริงๆแล้วก็ใกล้เข้ามา หมายความว่าทุกพรรคต้องเตรียมความพร้อมกันเรียบร้อยแล้ว
แน่นอน เพราะการเลือกตั้งนั้นเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และวันนี้อย่าลืมว่ามีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายส่วน ทั้งปัจจัยทางการเมือง ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ที่ยืดเยื้อเรื้อรัง สถานการณ์เศรษฐกิจโลก ซึ่งต้องบอกว่าอยู่เหนือการควบคุม ไม่ว่าจะเป็นสงครามรัฐเซีย- ยูเครน เรื่องของเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลกการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ สิ่งต่างๆเหล่านี้ส่งผลต่อการเมืองและเศรษฐกิจในประเทศไทย และหลายส่วนก็อยู่นอกเหนือปัจจัยที่จะควบคุมได้ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ก็จะส่งผลต่อทางการเมืองด้วย
เราจึงเห็นได้ว่าบรรดาพรรคการเมือง หรือผู้คนในแวดวงการเมืองจำนวนไม่น้อย ต่างก็เตรียมตัว เตรียมการ ที่จะเข้าสู่เวทีของการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งก็อาจจะเป็นทางออกที่ทำให้สังคม สามารถจะเดินไปได้ และยังเป็นความหวังของสังคมด้วยเช่นเดียวกัน