บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

การปลดล็อกกระท่อม ทำให้นึกถึงการปลดล็อกกัญชา มันช่างเหมือนละม้ายคล้ายกันยิ่ง เริ่มจากวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ได้ประกาศ “ปลดล็อกพืช(ใบ)กระท่อม” (Kratom หรือ Mitragynaspeciosa) ออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 ถือเป็นเรื่องฮอตตีคู่มาพร้อมๆ กันกับข่าวการปลดล็อกกัญชายาเสพติดประเภทที่ 5 ในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกัน โดยนโยบายพรรคภูมิใจไทยที่ชูหาเสียง “กัญชาเสรี” (Cannabis Liberalization) อ้างเป็นผลงานเต็มๆ ของพรรคและของรัฐบาล แม้จะมีเสียงโจมตีจากพรรคฝ่ายค้านบ้างในเรื่องความเหมาะสมของคำว่า “เสรี” เพราะใบกระท่อม นั้นคือ วิถีชีวิตชาวบ้านมาแต่โบราณ ตามประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากลและบริบทของสังคมไทย ซึ่งมีผลบังคับใช้ในอีก 90 วัน

คือในวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ประเทศไทยเริ่มมีผลบังคับใช้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 พ.ศ.2564 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด (รวมกฎหมาย 29 ฉบับ) ปลดล็อก “พืชกระท่อม” ออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 ในลักษณะเดียวกับพืชกัญชา-กัญชง (Cannabis, Hemp) ทำให้ชาวบ้านทั่วไปสามารถปลูกพืชกระท่อม เอาไว้ครอบครอง และสามารถซื้อ ขาย หรือนำมาบริโภคได้อย่างเสรี ไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป ตามนโยบายรัฐบาลต้องการผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ สามารถส่งขายเชิงพาณิชย์ หรืออุตสาหกรรมได้ เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย เพราะกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้พืชกระท่อมสามารถประกอบอาหาร-แปรรูปได้ ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2565 เป็นต้นไป

ในอดีตกระท่อมเป็นพืชควบคุมมาตั้งแต่ปี 2486 เหมือนฝิ่นที่มีมาในช่วงนั้น รัฐบาลได้ออกกฎหมายควบคุมโดย ห้ามปลูก ห้ามเสพ ห้ามขาย พืชกระท่อม การปลดล็อกครั้งนี้เพื่อหวังชูให้กระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง พันธุ์กระท่อมที่พบในประเทศไทยมีอยู่ 3 สายพันธุ์ (ชนิด) ได้แก่ (1) ก้านเขียว (แตงกวา) (2) ก้านแดงใบหยักหางกั้ง และ (3) ก้านแดง พบมากในป่าธรรมชาติภาคใต้ที่มีมาช้านาน แต่เดิมใบกระท่อมเป็นเพียงยาสมุนไพรพื้นบ้านรักษาโรคต่างๆ โดยเฉพาะเบาหวาน ความดัน คลายความเครียด

ปัจจุบันสถานะของ “กระท่อม” จึงเป็นพืช ที่สามารถปลูก กิน ซื้อขายและครอบครองได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ประชาชนคนทั่วไปอายุ 18 ปีขึ้น สามารถนำใบกระท่อมมาเคี้ยว ต้มทำน้ำกระท่อมบริโภคเป็นยาชูกำลัง หรือชากระท่อมดื่มได้ ช่วยให้มีสมาธิและระงับประสาท ช่วยบรรเทาความวิตกกังวลและควบคุมอารมณ์ไปในทางที่ดีขึ้น ช่วยในเรื่องการเผาผลาญ แก้ท้องเสีย แก้ท้องร่วง ปวด เบ่ง แก้บิด ตามวิถีท้องถิ่น เพราะใบกระท่อมมีสารอัลคาลอยด์หลักที่สกัดได้ 66% คือ สารไมทราไจนีน (mitragynine) ซึ่งมีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท

และนับตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2564 ได้มีการยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ห้ามใช้พืชกระท่อมเป็นส่วนผสมของอาหารแล้ว ปัจจุบันจึงสามารถใช้พืชกระท่อมในการประกอบอาหารหรือต้มน้ำกระท่อมในเชิงอุตสาหกรรมได้ สำหรับความผิดฐานขับเสพ ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ เมื่อพืชกระท่อมไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ ผู้ขับขี่เสพพืชกระท่อมในขณะขับรถ จึงไม่มีความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วยเช่นกัน

การปลูกการผลิตต้องได้รับอนุญาต

แม้ว่ากฎหมายจะปลดล็อกกระท่อมและกัญชาออกจากยาเสพติดแล้วก็ตาม ยังมีการควบคุมโดยรัฐอยู่ ชาวบ้านต้องไปขออนุญาตเสียก่อน จึงถูกวิจารณ์ว่าเป็นกฎหมายที่เอื้อผู้ประกอบการรายใหญ่ เป็นนัยยะกีดกันประชาชนทั่วไปมิให้ผลิตกัญชา น้ำกระท่อมแข่งกับนายทุน พืชกระท่อมขายใบได้ แต่ทำเป็นน้ำขายยังไม่ได้ เพราะนายทุนใหญ่จะได้เปรียบเชิงพาณิชย์มากกว่าประชาชน ท่ามกลางสถานการณ์โรคโควิดก็มีข่าวปลอมออกมาว่า พีชกระท่อมสามารถยับยั้งและทำลายเชื้อไวรัสโคโรนาได้

ร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. ...

ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 พบว่ามี ร่าง กฎหมายสำคัญค้างท่อรัฐสภาอยู่อย่างน้อย 40 ฉบับ หนึ่งในนั้นก็คือ ร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. … (รวม 41 มาตรา) เป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงินเสนอโดย คณะรัฐมนตรี(ครม.) สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 3 รับหลักการร่างกฎหมายนี้เมื่อ 7 กรกฎาคม 2564 (สคก.ตรวจพิจารณาแล้ว) และพิจารณาในการประชุมครั้งที่ 18 ลงมติวาระสองและวาระสามเมื่อ 8 กันยายน 2564 ด้วยคะแนน 281 เสียง และที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับข้อสังเกตของกรรมาธิการ ด้วยคะแนน 277 เสียง

วุฒิสภารับเมื่อ 10 กันยายน 2564 ในชั้นวุฒิสภา มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจึงต้องตั้ง กมธ.ร่วมกันเพื่อพิจารณา จากนั้นจึงจะส่งให้วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรลงมติ

อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบ พบว่ามีร่าง พ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม พ.ศ.... (รวม 108 มาตรา) ที่เผยแพร่โดย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) หรือ thaidrugwatch น่าสนใจมาก เพราะเป็นร่างกฎหมายที่นำกัญชาและพืชกระท่อมมารวมกัน มิได้แยกกัน เพราะเห็นว่าเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านเหมือนกัน

ความหวังพืชเศรษฐกิจ

การทำสิ่งที่เคยผิดกฎหมายให้ขึ้นมาสู่เวที “ถูกกฎหมาย” และ “เสรี” ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้คนรากหญ้าได้ลืมตาอ้าปากได้ ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโรคโควิด-19 มาร่วม 3 ปี (2563-2565) กระท่อม​ กัญชา เสรี ต่อไปเหล้า(พื้นบ้าน)​ ​ก็เสรี​ เพราะสิ่งเหล่านี้คือวิถีของชาวบ้าน (folkways) คือภูมิปัญญาของชาวบ้าน (Intelligence/wisdom) เป็น “Soft Power” ของท้องถิ่นที่ทรงพลังในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ที่เป็นความหวังในการฟื้นเศรษฐกิจพื้นบ้านไทยได้

ปัจจุบันเกษตรกรลงทุนปลูกต้นกระท่อมกันทุกภูมิภาค มิใช่เฉพาะคลองสาม จ.ปทุมธานี และภาคใต้ที่มีอยู่มากและเป็นพืชพื้นถิ่น เช่น ที่ อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์, อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์, อ.เมือง จ.แพร่ เป็นต้น

ในด้านการลงทุนปลูกกระท่อมนั้น ราคาจะลดหรือเพิ่มอยู่ที่การทำตลาดของแต่ละบริษัทหรือแต่ละบุคคล เชื่อว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้า หากปลูกได้ดี ได้มาตรฐาน GAP ผลผลิตมีคุณภาพ การขายใบก็ไม่ขาดทุน เพราะกระท่อมปลูกครั้งเดียวเก็บผลผลิตไปได้หลายสิบปี เดือนหนึ่งเก็บได้ 2-3 รอบ การลงทุนก็น้อย มองตลาดให้ออก ราคาขายกิโลกรัมละ 50 บาทก็ขายได้ไม่ขาดทุน ปัจจุบันกระท่อมขายกิโลละ 300-400 บาท เก็บใบขายได้เดือนละ 2 ครั้ง

การปราบปรามยาเสพติดหนักข้อขึ้น

ตัวอย่างข่าวเมื่อ 11 มิถุนายน 2565 เจ้าหน้าที่หน่วยกองร้อยป้องกันชายแดนที่ 1 คุมเข้มบริเวณรั้วชายแดนที่กั้นกลางระหว่างไทยและมาเลเซีย ในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา โดยเฉพาะในจุดที่มีช่วงแคบ ที่มักถูกใช้จุดที่ขนย้ายยาเสพติด เช่น พืชกระท่อม เพราะหลังการปลดล็อกพืชกระท่อม ก็ยังพบว่ายังมีการลักลอบขนย้ายเข้าในประเทศ เนื่องจากมีราคาขายกิโลกรัมละ 150-200 บาท และการปลดล็อกกัญชาล่าสุด ก็อาจทำให้มีการลักลอบขนย้ายมากขึ้น เนื่องจากกัญชามีราคากิโลกรัมละเกือบหมื่นบาทเมื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยกลุ่มขบวนการจะโยนผ่านรั้วชายแดน แล้วนัดแนะให้ไปรับตามจุดที่นัดหมาย ก่อนจะโอนเงินให้ในภายหลัง โดยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 เจ้าหน้าที่สามารถยึดกัญชาล็อตใหญ่น้ำหนัก 1,680 กิโลกรัมมูลค่ากว่า 50 ล้านบาทได้ที่ตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความกังวลว่ากัญชาอาจถูกลักลอบส่งออกมากขึ้น แต่สำหรับในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะมีผู้ติดยาเสพติดมากเป็นอันดับต้นๆของประเทศ กลับพบว่ามีกลุ่มผู้เสพกัญชาไม่มากนัก เมื่อเทียบกับยาเสพติดประเภทอื่น โดยนางสาวลัดดา นิเงาะ อดีตผู้ทำงานกับกลุ่มผู้ใช้สารเสพติด สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อว่า การเปิดเสรีกัญชาน่าจะมีผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะการนำสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาบนโต๊ะจะทำให้เห็นที่มาที่ไปของการเสพ และคุณสมบัติของกัญชาก็มีประโยชน์ทางการแพทย์ และโดยส่วนตัวไม่ห่วงว่าจะเป็นสารตั้งต้นในการเสพยาเสพติดชนิดอื่น เพราะกลุ่มนักเสพหน้าใหม่อายุน้อย หรือ ผู้เสพยาเสพติดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่ เสพยาเสพติดชนิดอื่น เช่น ยาบ้า ไอซ์ เฮโรอีน และยาเสพติดชนิดใหม่ที่มีส่วนผสมของยานอนหลับ ยาสำหรับผู้ป่วยจิตเวช ที่เรียกว่า ลูกอม และกฎหมายยังมีช่องว่างในการจำหน่ายยาบางประเภทก็ทำให้เยาวชนเข้าถึงยาที่นำมาเป็นส่วนผสมของยาเสพติดได้ง่าย และมีฤทธิ์ที่รุนแรงมากกว่าการเสพกัญชา

อินโดนีเซียมีการปลูกกระท่อมอย่างถูกกฎหมายและส่งออกไปประเทศต่างๆ UN ไม่ได้มีการประกาศควบคุมพืชกระท่อม ในบัญชีรายชื่อยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ หลายประเทศไม่มีโทษทางอาญา อังกฤษและเยอรมนี ไม่มีกฎหมายควบคุมการใช้กระท่อม มีเพียงแค่การเฝ้าระวัง นักวิจัยญี่ปุ่นได้จดสิทธิบัตรกระท่อมให้เป็นพืชยาแล้ว แต่สำหรับมาเลเซียกัญชายังต้องห้ามโทษถึงประหาร ญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักร ไม่อนุญาตให้เปิดเสรีกัญชาในการนันทนาการ ยุโรปมีการใช้กัญชารักษาโรคกันอย่างแพร่หลาย

ข้อห่วงใยต่อสังคม

มีความห่วงใยว่าการปลดล็อกปล่อยในเรื่องใดๆ ที่เคยเป็นสิ่งต้องห้าม รัฐต้องมีความพร้อมในกฎหมายที่บังคับใช้ให้เรียบร้อย มิใช่เพียงแต่ประกาศเป็น “นโยบาย” เท่านั้น เพราะ หากกระทำเพียงเท่านั้น เหมือนกับเช่น พืชกระท่อม และ กัญชา ที่กำลังตามแก้ปัญหากันอยู่ในปัจจุบัน จะถือว่าเป็น “การหาเสียงทางการเมืองเสียมากกว่า” เพราะความพร้อมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ยังไม่เรียบร้อย กฎหมายระดับ พ.ร.บ.ที่จะบังคับใช้ก็ยังเป็นร่างอยู่ คือ (1) พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. … (2) พ.ร.บ.กัญชง กัญชา พ.ศ. … แล้วจะไปประกาศ “นโยบายเสรี” (Liberation) เช่น “กัญชาเสรี” ได้อย่างไร ที่ว่ากัญชาเสรีนั้น (เสรีมากๆ) ทั้งทางสันทนาการและการแพทย์ ก็มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น ได้แก่ แคนาดา จอร์เจีย แอฟริกาใต้ และอุรุกวัย

ในความห่วงใยเด็กและเยาวชน และการใช้ในทางที่ผิด (Drug Abuse Control) จึงอยากแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนทุกคน ต้องดูแลบุตรหลานอันเป็นที่รักไว้ด้วย เพราะคำว่า “เสรี” (Liberation) ยังไม่มีนิยามความหมายและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ห่วงปัญหายาเสพติดและจิตเวชที่จะตามมา นี่ยังมียาบ้าอีกที่ยังไม่หมด เครื่องดื่มยาเสพติด 4 คูณ 100 (ยาเสพติดสูตรน้ำกระท่อมผสมน้ำอัดลมฯ) ยังเป็นอันตรายอยู่ การเปิดเสรีพืชกระท่อม เท่ากับก็เปิดเสรีสี่คูณร้อย หรือ ข่าวเด็กนักเรียนปิดห้องเรียนสูบกัญชา หรือข่าวเด็กทานขนมที่ใส่กัญชา ล้วนน่าตกใจ ล่าสุด กระทรวงมหาดไทยแจ้ง ผวจ. (3 กรกฎาคม 2565) ห้ามมีการจำหน่ายอาหารที่มีส่วนผสมกัญชาในสถานที่ราชการแล้ว เช่นเดียวกับ กทม. ที่มีมาตรการกัญชาแก่เด็กในโรงเรียน

มิติใหม่ จากใต้ดินสู่ “สินค้าคุณธรรม” (Merit Goods)หรือ “สินค้าบาป”

(1) มองในมติทางเศรษฐศาสตร์ การนำสินค้าที่เคยต้องห้ามเป็นยาเสพติด “จากใต้ดินสู่บนดิน” คือ เป็นสินค้าอุปโภค (commodity) สินค้าบุญ สินค้าบาป (Merit-Demerit Goods) ที่ถูกกฎหมาย เหมือนเช่น เหล้า เบียร์ บุหรี่ ที่ล้วนแต่อันตรายทั้งสิ้น โดยเฉพาะต่อบุคคล และต่อสังคม อุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท ทำร้าร่างกาย ตลอดจนพิษร้ายที่สะสม เกิดเป็นโรคร้ายต่อสุขภาพ ทำไมจึงทำมาค้าขายได้เป็นปกติมานานแล้ว แถมเป็นรายได้ส่วนใหญ่ของรัฐอีกต่างหาก

(2) ในที่นี้ “พืชกระท่อม” มีความคล้ายกับกัญชา เพราะมีความเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านเป็นพืชพื้นบ้าน เหมือนกัน หากจะกล่าวรวมๆ ร่วมกันกับกัญชาคงไม่ผิด การเน้นกระท่อม กัญชา ใช้บริโภคกินได้ เช่น น้ำกระท่อม น้ำกัญชา สารกัญชา (CBD) ผสมอาหาร เป็นต้น ใช้เป็นยาทางการแพทย์ (Medical) ได้ที่ไม่เน้นการสันทนาการ (Entertain) หรือคลายเครียด แน่นอนว่ายา ไม่ว่ายาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ สมุนไพร ล้วนมีคุณและมีโทษ หากไม่มีข้อบ่งใช้ หรือจ่ายโดยแพทย์ โดยเภสัชกร สลากยา ข้อบ่งใช้ คำเตือน ล้วนเป็นการกำกับการใช้ แต่ยาหลายอย่างที่หาซื้อได้เอง ทั่วไป หรือยาสามัญประจำบ้าน แทบไม่ต้องมีข้อบ่งใช้ เรียกว่า ผู้ใช้หาซื้อใช้ดุลพินิจเอาเอง เหมือนเลือกซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (เหล้าเบียร์)

(3) การปลดล็อกพืชกระท่อม กัญชา ออกจากยาเสพติดประเภท 5 เพื่อให้เกิดการ “พัฒนาภูมิปัญญาไทย” หรือ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” (Local wisdom : LW) ให้กลับมาอยู่ในมือชาวบ้านที่มี ”ปัญญา” อย่างน้อยที่สุดในเรื่อง (1) มียารักษาโรคราคาถูกที่คนป่วยเข้าถึงได้ง่าย (2) เกิดการพัฒนาภูมิปัญญาไทยด้านยาสมุนไพร (3) เป็นทางเลือก “พืชเศรษฐกิจ” ที่เกิดรายได้ แต่ข้อหลังนี้หากไม่ควบคุมและส่งเสริมชาวบ้าน ผลประโยชน์จะตกแก่นายทุนใหญ่มากกว่า

(4) เมื่อออกจาก “ยาเสพติด” ได้นั่นหมายถึง “ดุลพินิจ และอำนาจตัดสินใจ” ที่ได้อยู่ในมือของเจ้าหน้าที่รัฐมาช้านาน กลายมาอยู่ในภูมิปัญญาไทยของ “ชาวบ้าน” ที่คนมีปัญญาทั่วไปสามารถใช้ดุลพินิจและการตัดสินใจเองได้ แต่อย่างไรก็ตาม การปลดล็อกน่าจะปลดเพียง “ยาเสพติด” แต่ “สารเสพติด” ยังมีบังคับ ควบคุมอยู่ เช่น สาร Mitragynine ในกระท่อม สาร THC ในกัญชา เป็นต้น ที่ต้องมีข้อบ่งใช้เบื้องต้น เช่น ค่า THC CBD ในสารสกัดจากกัญชากัญชง พึงระวังเช่น “กัญชา” สูบเอาควันจะเป็นยาเสพติด อันตรายของยาเสพติดคืออาการทางจิตประสาท (จิตหลอน) โดยเฉพาะกัญชาสายพันธุ์ต่างประเทศ

(5) น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ก็เป็นอันตรายได้ หากดื่มมากเกินไป การปลดล็อกเป็นเรื่องผ่อนคลายของกฎหมาย แน่นอน ต้องเป็นอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ พรรคการเมืองจึงถือเป็นนโยบายหาเสียง เหมือนเช่น นโยบายจำนำข้าว ข้าวโพด พืชไร่ เพื่อช่วยเหลือชาวนา เกษตรกร ครั้นเอาเข้าจริงในอดีต ข้าว ข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านต่างขนย้ายข้าวไหลมาใช้บริการเงินรัฐบาลไทยมิใช่น้อย

(6) เมื่อได้ปลดล็อกแล้วรัฐต้องกำกับดูแล อย่าให้เสียหายได้ ไม่ให้บานปลายไปเป็นสารเสพติด หรือเงินไทยรั่วไหลออกนอกประเทศ เพราะมันเป็น “Merit Good” ดีๆ นี่แหละ เหมือนกับ สลากกินแบ่ง โรงอาบนวด สถานบันเทิง แม้แต่โรงผลิตไพ่ เต๋าไฮโล ที่ล้วนเป็นอบายมุข รัฐก็ทำออกแล้ว แต่การปล่อยให้ “เป็นดุลพินิจและการตัดสินใจของใคร” ที่ถูกต้องนั้น ต้องพิจารณาให้ดี ให้เหมาะสม อย. สคบ. การทะเบียนพาณิชย์ ทะเบียนการค้า กฎหมายลิขสิทธิ์ ฯลฯ เหล่านี้ เป็น “ดุลพินิจเจ้าหน้าที่รัฐ หรือ ภูมิปัญญาของชาวบ้านที่มีปัญญา” แยกแยะกันตรงไหน และแยกแยะให้ดี อย่าให้เหมือนกับ “การกู้เงิน” ของรัฐจนประเทศมีหนี้สินทะลุเพดาน

เรื่องนี้เป็น “ดุลพินิจและอำนาจตัดสินใจ” ที่คนไทยได้มอบอำนาจไว้ให้รัฐทั้งหมดใช่หรือไม่ หลายเรื่องรัฐบาลเดิมหลังจากลงจากอำนาจแล้ว ต่างล้วนมีคดีติดตัวกันหมด นั่นแปลว่า "ดุลพินิจและอำนาจตัดสินใจ" มันจึงควรอยู่ใน "ที่ถูกที่อันควร" มีเหตุมีผล มิใช่การใช้อำนาจที่ผิดเพี้ยน พ้นเกิน หรือตามอำเภอใจ