ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
“ศิลปินนั่นหรือวะ ถ้าไม่พิการทางสายตา ก็พิการทางสมอง” เพื่อนผมที่ชื่ออมรพูดคำนี้ไว้
ผมรู้จักกับอมรตั้งแต่ชั้นมัธยมต้น เราเรียนโรงเรียนเดียวกัน ผมมาจากภาคอีสาน ส่วนอมรมาจากภาคใต้ บางทีเราก็คุยกันด้วยภาษาท้องถิ่นล้อเลียนกันอย่างสนุกสนาน อมรเป็นคนเฮฮาแต่เพื่อน ๆ มักบอกว่าคุยอะไรไม่ค่อยรู้เรื่อง มีความคิดแปลก ๆ และก็ชอบทำอะไรแปลก ๆ จนบางคนก็ไม่อยากคบ แต่ผมก็คบกับเขาได้อย่างสนิทสนม อาจจะเป็นด้วยที่ผมไม่ค่อยถือสาอะไร รวมทั้งที่รู้สึกสงสารอมรในสภาพบางอย่างที่เรามีคล้าย ๆ กัน
พ่อและแม่ของอมรแยกทางกันตั้งแต่อมรยังเล็ก อมรอาศัยอยู่กับตายายที่เป็นครูและเรียนที่โรงเรียนที่ตายายสอนอยู่นั้น ที่จริงตายายก็อยากให้อมรเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนนั้น แต่อมรอยากจะตามเพื่อนอีกคนหนึ่งมาเรียนที่กรุงเทพฯ ตายายทนรบเร้าไม่ได้ก็ต้องยอม โดยได้ฝากฝังกับหลวงลุงที่มาบวชอยู่ในกรุงเทพฯ อมรจึงได้เป็นเด็กวัดพร้อมกับเรียนหนังสือไปด้วย ซึ่งอมรก็ทำหน้าที่ได้ดี เพราะเป็นเด็กวัดต้องตื่นเช้าเพื่อตามหลวงลุงไปรับบิณฑบาต รวมถึงที่ต้องเก็บกวาดกุฏิ ซักสบงจีวร เช็ดล้างจานชามและบาตร กวาดลานหน้ากุฏิและเก็บกวาดใบไม้รอบบริเวณกุฏินั้น เช่นเดียวกันกับที่ได้ทำหน้าที่นักเรียนได้อย่างไม่บกพร่อง แม้จะไม่ใช่คนเรียนเก่ง แต่ก็เป็นคนที่ตั้งใจเรียน และช่วยทำงานในหน้าที่ของนักเรียนทุกอย่าง เช่น ทำความสะอาดห้อง ลบกระดาน และเช็ดถูโต๊ะเก้าอี้ ถือได้ว่าเขาเป็นนักเรียนที่ครู ๆ ทุกคนให้ความเมตตามากกว่าคนอื่น ๆ
ในชั้นมัธยมปีที่ 1 ผมนั่งแถวหน้าคู่เดียวกันกับอมร โดยอมรนั่งติดหน้าต่างด้านข้างห้องที่มองออกไปเห็นท้องถนนและลำคลอง โรงเรียนของเราอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ฝั่งตรงข้ามเป็นกระทรวงศึกษาธิการที่มีกำแพงสีขาวทรงโบราณพร้อมเชิงเทินเป็นซี่ขาว ๆ ผมแอบเห็นอมรชอบวาดรูปกำแพงนี้กับต้นหางนกยูงที่ริมคลอง เขาใช้ปากกาลูกลื่นวาดเป็นลายเส้น ใช้ปากกาสีน้ำเงินเขียนเป็นเส้นของพลิ้วน้ำในคลอง ใช้ปากกาสีดำเขียนเป็นกำแพงและอาคารต่าง ๆ กับต้นหางนกยูง และใช้ปากกาสีแดงเขียนเป็นดอกหางนกยูงที่บานเต็มต้น และมีบางดอกปลิวร่วงมาลอยไปตามน้ำ เขาวาดได้มีชีวิตชีวามาก เหมือนน้ำนั้นกำลังไหลไปจริง ๆ และกลีบดอกหางนกยูงก็ดูบางเบาจนแทบจะสัมผัสความนุ่มนวลนั้นได้
ผมทักเขาในวันหนึ่งระหว่างวิชาภาษาไทยที่ดูเขาออกจะเบื่อ ๆ “ตรงที่ครูพูดมีออกข้อสอบนะ”
“เออ ฉันจำได้ ท่อง ๆ เอาเดี๋ยวก็จำได้หมดแหละ” แล้วเขาก็ก้มหน้าอยู่กับกระดาษที่กำลังขีดเขียนรูปของหนุมานกำลังปีนยอดเขาสัตบรรพตเพื่อหายาสังกรณีตรีชวา ที่จะเอาไปถอนพิษหอกโมกขศักดิ์ให้พระลักษณ์ ในขณะที่ครูก็ให้นักเรียนในห้องท่องอาขยานบทนั้นไปด้วย อมรก็ท่องไปและวาดภาพไป ดูเขามีความสุขมาก เช่นเดียวกันกับในวิชาอื่น ๆ ที่ดูเขาจะไม่ค่อยตั้งใจเรียน แต่ตั้งใจเขียนรูปอยู่แทบทุกชั่วโมง ส่วนมากจะเป็นภาพวิวทิวทัศน์และต้นไม้ดอกไม้ โดยใช้ปากกาที่ใช้เรียนหนังสือ ซึ่งเขาเหมือนจะมีเซ้นส์พิเศษที่พอเวลาครูหันมาเขาก็จะหันมาสบตาครูได้ทุกครั้ง แล้วพอครูละสายตาไปเขาก็จะก้มหน้าลงเขียนรูปต่อไป
“ฉันอยากเป็นศิลปิน” อมรบอกกับผมระหว่างเปลี่ยนชั่วโมงรอครูในวิชาต่อไป
“เออ เอ็งวาดรูปเก่งใช้ได้เลยว่ะ” ผมพูดขึ้นด้วยความจริงใจ เพราะเขาเขียนรูปได้สวยจริง ๆ
“แล้วทำไมไม่ไปเรียนช่างศิลป์หรือเพาะช่างวะ” ผมถามต่อด้วยความอยากรู้จริง ๆ
“ตากับยายอยากให้ฉันรับราชการ นี่ก็บอกว่าเดี๋ยวจบ ม.ศ. 3 แล้ว ให้สอบเข้าเตรียมทหาร แล้วไปต่อโรงเรียนายร้อย เป็นทหารตำรวจอะไรก็ได้ แต่ฉันเกลียดข้าราชการว่ะ” อมรตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำ
ในวันลอยกระทงปีนั้น ชมรมศิลปะของโรงเรียนจัดให้มีการวาดภาพประกวด ภาพของอมรได้รางวัลชนะเลิศ ครูหัวหน้าหมวดศิลปะที่เป็นประธานการประกวดบอกว่า “เขียนได้สวยกว่าพวกมัธยมปลายเสียอีก” อมรแอบบอกผมว่านี่แหละที่เขาได้ฝึกฝีมือมาจากในวัด โดยลอกภาพไทยตามผนังโบสถ์ แต่แรกคิดว่าจะเอาไว้ดูเล่น ๆ เป็นผลงานส่วนตัว แต่พอได้มาประกวดแล้วชนะเลิศ ก็ทำให้ฮึกเหิมอยากจะประกวดในงานอื่น ๆ ต่อไป จนกระทั่งในปีต่อมาเขาก็ได้ส่งภาพ “ชีวิตไทย” เข้าร่วมประกวดในงานศิลปะนักเรียน ที่กระทรวงศึกษาธิการจัดประกวดทุกปี ภาพของเขาก็ได้รางวัลรองชนะเลิศ โดยศิลปินท่านหนึ่งที่เป็นกรรมการประกวดบอกว่าเขาแพ้ไปนิดเดียว ทั้งที่เขาเขียนลายได้ละเอียดอ่อนช้อย และลงสีได้สดใสสวยงามกว่าภาพที่ชนะเลิศ เพียงแต่ว่าภาพนี้กรรมการหลายคนก็บอกว่าเหมือน ๆ กันว่า ดูเหมือนจะได้เคยเห็นที่ผนังโบสถ์วัดไหนมาก่อน ก็คือแพ้ตรงความคิดสร้างสรรค์
นอกจากจะเป็นคนวาดรูปเก่งแล้ว อมรยังมีความสามารถด้านการถ่ายภาพอีกด้วย อมรมีกล้องถ่ายรูปเก่า ๆ อยู่ตัวหนึ่ง เป็นกล้องโกดักอินสตาแมติกที่เขาได้มาจากโยมที่มาเยี่ยมหลวงลุงในวันหนึ่ง ซึ่งโยมคนนั้นก็คงจะสังเกตว่าเขาแอบลูบคลำกล้องตัวนั้นอยู่เป็นนานในระหว่างที่โยมกำลังคุยกับหลวงลุง พอโยมถามว่าชอบหรือ แล้วเขาตอบว่าชอบ โยมก็ยกให้ในทันที โดยพูดขึ้นว่า “มันเก่ามากแล้วล่ะ แต่ก็ยังใช้ได้ดีนะ ลูกชายของอาเขาเพิ่งเสียไป ก็เลยเอามาใช้ เขาก็จะอายุเท่า ๆ หลานนี่กระมัง ยังเรียนไม่จบมัธยมเลย”
หลังอาหารกลางวันในวันหนึ่งที่ห้องสมุดของโรงเรียน ผมก็ไปหาหนังสือภาษาอังกฤษรายสัปดาห์ที่ผมชอบอ่านและเล่นเกมอักษรไขว้เช่นตามปกติ แต่วันนั้นกลับไม่ปกติเพราะผมมองไปเห็นอมรแอบซุ่มนั่งเขียนอะไรบางอย่างอยู่ที่โต๊ะหลังห้อง ซึ่งโดยปกติไม่เคยเห็นอมรทำแบบนี้ ผมก็นึกว่าเขาคงแอบมาเขียนรูปหรือลอกรูปอะไรจากหนังสือในห้องสมุดนี้กระมัง จึงเข้าไปทัก แต่ดูท่าเขาจะตกใจมาก พร้อมกับปิดหนังสือแล้วเอามาทับบนกระดาษที่ยังวาดภาพอะไรสักอย่างอยู่นั้น ผมอ่านหน้าปกหนังสือได้ว่า “กล้องถ่ายภาพและการถ่ายภาพเบื้องต้น”
อมรคงเห็นผมอมยิ้ม จึงพูดอธิบายขึ้นเบา ๆ ว่า “หนังสือนี้มีเล่มเดียว ไม่รู้จะไปหาซื้อที่ไหน และมันก็แพงมาก เลยมานั่งเขียนลอก ๆ เอา เอาที่มันจำเป็น นี่ก็ได้เยอะแล้ว” (สมัยนั้นการทำสำเนาก็มีแต่การใช้เครื่องโรเนียวที่ทำได้เฉพาะตัวหนังสือ โดยใช้เครื่องพิมพ์ดีดพิมพ์ตัวหนังสือที่ต้องการบนกระดาษไข แล้วเอากระดาษไขนั้นไปใส่ในเครื่องโรเนียวให้เครื่องพิมพ์สำเนาออกมาตามต้องการ ส่วนการถ่ายเอกสารแบบที่เรียกว่าซีร็อกซ์ก็ยังไม่แพร่หลายและแพงมาก ตอนที่ผมเข้ามหาวิทยาลัยใน พ.ศ. 2519 จึงเริ่มแพร่หลาย แต่ก็ราคาแพงมาก คือหน้าละ 3-4 บาท ในขณะที่ข้าวแกง 1 จาน และก๋วยเตี๋ยว 1 ชามก็ราคาเท่ากัน) ผมก็เข้าใจว่าเขาคงประหยัดเงินและอยากได้ “ความรู้” จากหนังสือเล่มนั้นจริง ๆ
ผมขอดูกระดาษที่เขาคัดลอก พอเห็นแล้วก็ต้องหัวเราะออกมาเบา ๆ (แต่กระนั้นบางคนในห้องสมุดก็ยังแอบทำตาเคือง ๆ ค้อนมาให้) เพราะเขาไม่ได้เพียงแต่ลอกข้อความตัวอักษรเท่านั้น เขายังลอกภาพส่วนประกอบต่าง ๆ ของกล้องอย่างละเอียดทุกชิ้นส่วน ลอกแม้กระทั่งภาพถ่ายสวย ๆ ที่อยู่ในหนังสือเล่มนั้น ซึ่งเขาลอกได้สวยงามชัดเจนอย่างกับว่าเขาได้ถ่ายภาพเหล่านั้นด้วยมือของเขาเอง