เมื่อวันที่ 5 ก.ค.65 รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจ "รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์" ว่า ..
# ตระหนัก แต่ไม่ตระหนกแผ่นดินไหว และสึนามิอันดามัน
ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (วันที่ 4 กรกฎาคม) เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4-5 Mw ที่บริเวณหมู่เกาะอันดามันกว่า 20 ครั้ง ในขณะเดียวกัน ทุ่นเตือนภัยในมหาสมุทรอินเดีย ทั้งของไทย (2 ทุ่น) และอินเดีย (5 ทุ่น) ใช้งานไม่ได้ ทำให้เกิดความตระหนก และกังวลเรื่องสึนามิชายฝั่งทะเลอันดามันเหมือนกับเหตุการณ์ในปี 2547 ผมขอทำความเข้าใจในประเด็นที่สำคัญดังนี้
1) แผ่นดินไหวที่จะทำให้เกิดสึนามิตามมาในระดับที่เป็นอันตรายต้องมีขนาดใหญ่ > 7.5 Mw
2) การเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กหลายครั้ง (Foreshock) อาจตามมาด้วยแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้
3) แผ่นดินไหวทุกครั้งไม่จำเป็นต้องเกิดสึนามิทุกครั้ง ขึ้นอยู่กับขนาด ความลึก แนวรรอยเลื่อน และลักษณะการมุดตัว
4) แม้ว่าแผ่นดินไหวคาดการณ์ และเตือนภัยไม่ได้ แต่เราสามารถคาดการณ์ และเตือนภัยสึนามิได้
5) ระบบเตือนภัยสึนามิโดยใช้ทุ่นมักจะได้รับความเสียหายบ่อยครั้ง จึงไม่ใช่ทางออก
6) ระบบคาดการณ์ และเตือนภัยโดยใช้ฐานข้อมูล จึงมีความจำเป็น โดยศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และภัยพิบัติ ใช้ระบบนี้เฝ้าระวัง (แต่เราเฝ้าระวังเฉพาะเวลาทำงาน 08.00-17.00) หากเกิดกลางคืน ตัวใครตัวมันน่ะครับ
7) ความตระหนักเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด กล่าวคือเมื่อรู้สึกว่าแผ่นดินไหวริมชายฝั่งทะเล ให้รีบขึ้นที่สูง แล้วท่านและครอบครัวที่รัก จะปลอดภัยครับ
ขอบคุณข้อมูล เพจ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์