เด็กเพื่อไทย เสนอ 8 มาตรการ แก้ปัญหาพลังงาน  ช่วยประชาชน ปรับโครงสร้างราคา การผลิต และการใช้พลังงาน  เจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ลดพึ่งพาก๊าซจากเมียนร์มา  ติงรถ "ประยุทธ์" เข้าเกียร์ถอยหลังมาตลอด ”อนุสรณ์" ซัดนายกฯใช้ “สมช.”นำแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 

เมื่อวันที่ 5 ก.ค.65 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า สภาวะเศรษฐกิจของโลกน่าจะมีโอกาสเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยธนาคารสหรัฐฯ จะขึ้นดอกเบี้ยอีกหลายครั้งในปีนี้ โดยผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯกล่าวว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ยอมรับความเสี่ยงที่จะให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยดีกว่าที่จะไม่สามารถควบคุมเสถียรภาพของราคาสินค้า หรือคุมเงินเฟ้อไม่อยู่ ซึ่งจะมีผลเสียมากกว่ามาก ดังนั้นประเทศไทยจะต้องเตรียมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่จะผันผวน โดยภาวะเงินเฟ้อของไทยในเดือนมิถุนายนคาดว่าจะสูงถึง 8% และยังมีโอกาสที่จะสูงขึ้นไปอีก จากราคาพลังงานทั้งน้ำมัน ก๊าซ และไฟฟ้าที่จะสูงขึ้น และราคาข้าวของที่จะแพงขึ้นอีก ซึ่งจะทำให้ประชาชนลำบากขึ้นไปอีกมาก รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องหาทางควบคุมไม่ให้ระดับราคาสินค้าพุ่งสูงเกินไปจนคุมไม่อยู่ ซึ่งจะเป็นปัญหาอย่างหนักเหมือนในหลายประเทศที่ประสบ 

นายพิชัย กล่าวว่า ทั้งนี้ ราคาก๊าซหุงต้มได้ปรับขึ้นเป็น 378 บาท/ถัง 15 กก. แล้วเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมาและจะขึ้นอีกในเดือนสิงหาคม และเดือนกันยายนจนถึงราคา 408 บาท/ ถัง 15 กก. ราคาน้ำมันดีเซลจะขึ้นทะลุลิตรละ 35 บาท ไปถึงลิตรละ 38 บาท หรือมากกว่านั้น แต่คงกลัวโดนด่าเลยขอตรึงราคาที่ลิตรละ 35 บาท ไปก่อน ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้รัฐบาลอ้างว่าเป็น 2 ใน 8 ของมาตรการช่วยเหลือแต่จริงๆ เป็นการประกาศขึ้นราคามากกว่า เป็นที่น่าสังเกตว่ามาตราข่วยเหลือของรัฐบาลทั้ง 2 ครั้ง ไม่ได้ช่วยเหลือประชาชนส่วนใหญ่จริง แต่เป็นการซ้ำเติมมากกว่า อีกทั้ง แนวคิดเตาอั้งโล่ที่ย้อนยุค แถมมีข่าวว่าจะนำคนคิดเตาอั้งโล่นี้มาเป็นปลัดกระทรวงพลังงานก็พอจะเห็นอนาคตของพลังงานไทยได้เลย และ พลเอกประยุทธ์จะตั้งกรรมการกี่ชุดก็จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้เพราะหลักคิดของผู้นำย้อนยุคไปต่อไม่ได้แล้ว 

ดังนั้น คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยขอเสนอ 8 แนวทางแก้ไขปัญหาพลังงานและช่วยเหลือประชาชนดังนี้ 1. เก็บเงินจากก๊าซ LPG ที่ส่งเข้าโรงงานปิโตรเคมี กก. ละ 5 -8 บาท เพื่อนำมาช่วยลดราคาก๊าซหุงต้ม เรื่องนี้สามารถทำได้ทันที และทำได้ง่ายกว่าการขอเงินจากค่าการกลั่นจากโรงกลั่นน้ำมัน  2. ปรับราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นให้เท่ากับราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์ไม่ต้องมีค่าขนส่ง ค่าประกัน ค่าระเหย เรื่องนี้เป็นการเอาเปรียบประชาชนมาเป็นสิบปีแล้ว และต้องแก้ไข ส่วนค่าการกลั่นที่สูงที่รมว. พลังงานอ้างว่าจะสามารถเจรจาได้แต่ทำท่าจะเหลว ทั้งนี้ ไม่ใช่กำไร 1 -2  บาท ตามที่ รมว. พลังงานบอก เพราะในต่างประเทศกำไรของโรงกลั่นสูงขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตามราคาหน้าโรงกลั่นต้องปรับลงมาก่อนเพื่อความยุติธรรม 

3. ลดราคาค่าไฟฟ้า โดยนำกำไรสะสมจากรัฐวิสาหกิจเป็นแสนๆล้านบาท มาช่วยพยุงราคา อีกทั้งลดค่าส่วนต่างราคาซื้อจากเอกชน และ ราคาขายให้กับประชาชน รวมถึงต่อรอง “ค่าความพร้อม” ที่โรงงานไฟฟ้าที่ตั้งแล้วแต่ยังไม่ได้ไม่ผลิตไฟฟ้าแล้วรัฐยังต้องจ่ายเงินอยู่ ลดใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า ออกเฉพาะที่จำเป็นและเป็นอนาคตเท่านั้น  4. ออกมาตรการลดค่าใช้จ่ายประชาชน รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี น้ำประปาฟรี  ไฟฟ้าฟรี สำหรับผู้มีรายได้น้อยและต้องใช้อย่างประหยัด รวมถึงการปรับลดค่าโดยสารสาธารณะของขนส่งมวลชนที่ได้ชื่อว่าแพงที่สุดในโลก และจะต้องมีมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆด้วย 

5. ปรับโครงสร้างการใช้พลังงานของไทย โดยปรับประเทศไทยเข้าสู่อนาคต ส่งเสริมการใช้รถพลังงานไฟฟ้าให้มากและเร็วที่สุด  6. ปรับโครงสร้างการผลิตและการใช้ไฟฟ้า โดยเร่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานจากแสงแดดและพลังงานจากลม โดยจะต้องพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ให้มีทั่วประเทศ  7. เร่งเจรจาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อน ไทย-กัมพูชา ซึ่งจะทำให้ไทยมีแหล่งพลังงานที่มั่นคงและมีราคาถูก อีกทั้งได้เงินจำนวนมากปีละหลายแสนล้านบาท ในการนำมาพัฒนาประเทศและจัดทำสวัสดิการให้ผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง  8. ส่งเสริมการพัฒนา นวัตกรรมสมัยใหม่ในการเดินทางเพื่อประหยัดพลังงาน เช่น โดรนไฟฟ้า มอเตอร์ไซด์พลังงานไฟฟ้า เรือพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น 

"เป็น 8 มาตรการที่สามารถทำได้ทันที และจะช่วยเหลือประชาชน  เป็นทิศทางของอนาคตของโลกที่ไทยต้องปรับตัวตาม โดยอยากให้เปรียบเทียบกับ 8 มาตรการของรัฐบาล และอยากตอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ที่ชวนประชาชน 70 ล้านคน ไปนั่งรถที่พล.อ.ประยุทธ์ขับว่า คนขับยังเข้าเกียร์ถอยหลัง แต่เข้าใจว่ารถเดินไปข้างหน้า แล้วจะตามโลกทันได้อย่างไร” 

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม มีคำสั่งให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นำการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ว่า รัฐบาลแก้วิกฤตราคาพลังงาน เงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูง ด้วยการใช้หน่วยงานความมั่นคงนำการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ผิดฝาผิดตัว ตลอด 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ดูเหมือนจะยึดวิธีถ้าบริหารผิดพลาด ไร้ประสิทธิภาพ จะปัดความรับผิดชอบให้พ้นตัว หรือโยนความผิดให้คนอื่นไว้ก่อน วิธีคิดถ้ารถเสียให้ทุกคนลงไปช่วยกันเข็น เห็นได้ในหลายสถานการณ์ ประชาชนคนไหนจะอยากอยู่บนรถที่น้ำมันหมด คนขับ ขับไม่เป็น บังคับพวงมาลัยผิดทิศผิดทาง เข้ารกเข้าพง โอกาสรถพุ่งลงเหวสูง 


“8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ ใช้ความมั่นคงนำทุกอย่าง เพื่อความมั่นคงของเก้าอี้ตัวเองก่อนความมั่นคงของประชาชนหรือไม่ วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ใช้สมช.นำหน่วยงานด้านสาธารณสุขจนพรรคร่วมรัฐบาลต่างโวยวายว่าถูกยึดอำนาจ รัฐซ้อนรัฐ วิกฤตเศรษฐกิจแทนที่จะใช้สภาพัฒน์ร่วมกับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจอื่นๆกลับใช้สมช.นำหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ สะท้อนว่าพล.อ.ประยุทธ์ขาดความรู้ ความสามารถ ขาดความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจ ไม่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาวิกฤต”