รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ (อ.เจษฎา) อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์
(โพสต์นี้เป็นเรื่องความสงสัย ล้วนๆ นะครับ ไม่ได้มีประเด็นดราม่าอะไร)
"% โซเดียมที่ลดลงของ "มาม่า" สูตรใหม่ เค้าคิดมายังไงน่ะครับ ?"
ได้คำถามนี้มาหลังไมค์ แล้วผมก็งง ตามไปด้วย เนื่องจากผมคิดเลขไม่เก่งเลย ... คือ มีข่าวว่าบะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้อ "มาม่า” เค้าจะสู้กับวิกฤตเรื่องราคาสินค้า ซึ่งไม่สามารถขึ้นราคาได้ เลยใช้วิธีออกสูตรใหม่ Less Sodium ที่อ้างว่าลดโซเดียมลงไป แล้วขายราคาสูงขึ้น
ปัญหาคือ ตัวเลขเปอร์เซนต์ ที่เค้าอ้างว่าได้ลดปริมาณโซเดียมลงไปเนี่ย คิดมายังไงน่ะครับ ? (อันนี้คือคำถามที่ผมได้รับมา แต่ก็ยังหาคำตอบไม่ได้อ่ะ)
ลองดูตัวเลขโซเดียม ดังนี้ครับ
-รสต้มยำกุ้ง (55 กรัม) มีโซเดียม 1,010 มิลลิกรัม ... เคลมว่า ลดลง 43%
-รสต้มยำกุ้งน้ำข้น (55 กรัม) มีโซเดียม 1,030 มิลลิกรัม ... เคลมว่า ลดลง 38%
-รสเส้นหมี่น้ำใส (55 กรัม) มีโซเดียม 980 มิลลิกรัม ... เคลมว่า ลดลง 38%
-รสหมูสับ (60 กรัม) มีโซเดียม 1,170 มิลลิกรัม ... เคลมว่า ลดลง 32%
แต่เท่าที่หาข้อมูลของ "มาม่า" สูตรเก่ามาเทียบ (ดูภาพประกอบ)
-รสต้มยำกุ้ง สูตรเก่า (55 กรัม) มีโซเดียม 1280 มิลลิกรัม ... ก็น่าจะคำนวณได้ว่า ลดลง 21%
-รสต้มยำกุ้งน้ำข้น สูตรเก่า (55 กรัม) มีโซเดียม 1270 มิลลิกรัม ... ก็น่าจะคำนวณได้ว่า ลดลง 19%
-รสหมูสับ สูตรเก่า (60 กรัม) มีโซเดียม 1490 มิลลิกรัม ... ก็น่าจะคำนวณได้ว่า ลดลง 21%
ผมก็งงเลย ตอบไม่ถูกเหมือนกันว่าทำไมคำนวณออกมาต่างกันมากเลย (ตัวเลขที่เค้าเคลม มันเหมือนกับเป็น 2 เท่าของที่คำนวณได้ ไม่รู้ว่าเกี่ยวกับหรือเปล่า) ... เอาเป็นว่า ใครรู้วิธีการคำนวณ ช่วยบอกมาหน่อยนะครับ จะได้เป็นความรู้ใหม่ประจำวันนี้
อ่อ.. ยังไงก็ตาม ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีมากๆ นะครับ ที่มีความพยายามจะลดปริมาณของโซเดียมในอาหารที่เรากินแต่ละวันลง ซึ่งองค์การอนามัยโลก แนะนำให้กินโซเดียมแค่วันละไม่เกิน 2000 มิลลิกรัมเท่านั้น (เจอบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อต่างๆ ไป 2 ซอง ต่อวัน ก็เกินแล้ว) ดูโทษของโซเดียม ต่อสุขภาพของเรา ได้ด้านล่างครับ
โทษของโซเดียมต่อสุขภาพ
แม้โซเดียมจะเป็นแร่ธาตุที่ร่างกายขาดไม่ได้ แต่หากเรารับโซเดียมมากเกินไป ก็อาจเกิดโทษต่อสุขภาพตามมาได้ เช่น
-เมื่อโซเดียมในร่างกายสูง จะทำให้เลือดข้น ส่งผลให้มีการดึงน้ำจากในเซลล์ออกมาในกระแสเลือด และทำให้เกิดความดันโลหิตสูงตามมา
-ไตต้องทำงานหนักขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคไตเรื้อรัง และเกิดภาวะไตวายในอนาคตได้
-หัวใจก็ต้องทำงานหนักขึ้นเช่นกัน จึงเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้