วันที่ 5 ก.ค.65 เวลา 15.30 น. ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กทม. ครั้งที่ 24/2565 ณ ห้องนพรัตน์ กทม. ว่าปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กทม.จึงได้จัดทำมาตรการเชิงรุกที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กนักเรียน ซึ่งเมื่อติดแล้วมีอาการไม่มาก แต่อาจนำเชื้อไปติดผู้ที่ใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวซึ่งเป็นกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์)ได้โดยหลังมีประกาศผ่อนปรนเรื่องหน้ากากอนามัย พบว่าเด็กนักเรียนมีการติดเชื้อมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กโต รวมถึงพบว่ากลุ่ม 608 ที่ติดเชื้อจะมีการครองเตียงผู้ป่วยวิกฤติเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากข้อกังวลดังกล่าว สำนักการแพทย์และสำนักอนามัยจึงได้เตรียมพร้อมระบบส่งต่อ ศูนย์เอราวัณ อัตราการครองเตียง และจัดทำแผนสำรอง เพื่อเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยคาดการณ์จากสถานการณ์ที่อาจจะรุนแรงขึ้นในอีก 1 เดือน และเดินหน้าตามแผนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้แก่ผู้ที่รับวัคซีนเข็มล่าสุดมานานแล้ว โดยให้บริการเชิงรุกในชุมชน ควบคุมไปกับการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก Active Case Finding เพื่อให้กรุงเทพมหานครมีฐานข้อมูลที่ละเอียดและชัดเจนมากยิ่งขึ้น 

สำหรับข้อมูลรายงานสถานการณ์การติดเชื้อในกลุ่มเด็กนักเรียนสังกัดกทม. ระหว่างวันที่ 17 พ.ค. - 4 ก.ค.65 พบนักเรียนติดเชื้อ 1,885 คน จากนักเรียนทั้งหมด 253,515 คน คิดเป็น 0.74% แบ่งเป็น ระดับอนุบาลศึกษา ติดเชื้อ 148 คน ระดับประถมศึกษา 1,375 คน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 304 คน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ติดเชื้อ 58 คน 

ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวอีกว่า กรุงเทพมหานครได้ดำเนินมาตรการสร้างความปลอดภัย ป้องกันโควิด-19 ในสถานศึกษากรุงเทพมหานคร 7 มาตรการเข้ม เพื่อสร้างความมั่นใจดังนี้ 1.ประเมิน Thai Stop Covid Plus (TSC+) และรายงานผลผ่าน MOECOVID 2.หยุดกิจกรรมรวมกลุ่มใหญ่ ทำกิจกรรมกลุ่มย่อย 3.จัดระบบให้บริการอาหารตามหลักสุขาภิบาล และโภชนาการ 4.อนามัยสิ่งแวดล้อมตามเกณฑ์มาตรฐาน (การระบายอากาศ และการจัดการขยะ) 

5.จัดทำแผนเผชิญเหตุ เตรียมพร้อม School Isolation 6. ควบคุมการเดินทางเข้า-ออกสถานศึกษา 7.School Pass เก็บประวัติการรับวัคซีน และผลการตรวจคัดกรองเชื้อ สำหรับนักเรียน ครู และบุคลากรการศึกษา อย่างไรก็ตามหากกรณีพบคลัสเตอร์เล็กๆ ขอให้เป็นดุลยพินิจของผู้บริหารโรงเรียน 

ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวถึงการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรายเขตแต่ละวันว่า กทม.จะยังคงรายงานต่อไป เพื่อใช้ข้อมูลดังกล่าวในการทำนายการระบาดรายสัปดาห์ ยอมรับว่า ที่ผ่านมาศักยภาพของศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงพยาบาลสังกัด กทม.รับผู้ป่วยโควิด-19 ได้อยู่เพียง 30-40% ของผู้ป่วยทั้งหมด จากนี้ กทม.จึงจะเชื่อมระบบกับภาคประชาสังคม และโรงพยาบาลอื่น เพื่อให้ระบบรองรับผู้ป่วยมีศักยภาพมากขึ้น หากสถานการณ์โควิด-19 รุนแรง อาจนำระบบจัดสรรผู้ป่วยเขียว เหลือง แดง กลับมาอีกครั้ง พร้อมทั้งมอบหมายให้โรงพยาบาลในสังกัดใช้ระบบเทเลเมดิซีน เพื่อให้ดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึง