เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 4 ก.ค. 2565 ที่ห้องประชุมวิจิตรวาทการ ชั้น 3 สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 โดยการประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมเต็มคณะ ทั้งกระทรวงด้านความมั่นคงและกระทรวงด้านเศรษฐกิจ  อาทิ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายสุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคมเติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชัยวุฒิ ธนาธนานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เข้าร่วม โดยใช้เวลาประชุมกว่า 3 ชั่วโมง 

 

ต่อมาเวลา 18.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ แถลงผลการประชุมนานกว่า 20 นาที ว่า การประชุมใช้เวลายาวนานซึ่งเป็นการประชุมในด้านพลังงาน วันนี้เป็นการประชุม สมช. ซึ่งหลายคนไม่เข้าใจตรงนี้ว่า สมช. มีหน้าที่เกี่ยวข้องอย่างไรเพราะไม่ใช่เรื่องของทหาร ทั้งนี้ สมช. ไม่ใช่ดูแลเฉพาะหน่วยงานด้านทหารแต่ดูแลหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วันนี้ได้มีการหารือและกำหนดแผนเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ โดยเฉพาะปัญหาด้านพลังงาน ซึ่งถ้าทุกคนติดตามความก้าวหน้าเหตุการณ์และสถานการณ์โลกปัจจุบันมีหลายปัญหา ซึ่งหน่วยงาน สมช. เป็นหน่วยงานที่ต้องดูแลเรื่องของความมั่นคงซึ่งความมั่นคงของประเทศเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและพลังงานก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่วันนี้สิ่งที่ได้รับผลกระทบที่มีการวิเคราะห์กันในขณะนี้เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนเตรียมพร้อม คือ1. เรื่องการเมืองความมั่นคงระหว่างประเทศ 2. เศรษฐกิจโลก การค้าการลงทุนต่างประเทศ 3. พลังงาน 4. เรื่องการเงินการธนาคาร 5. ผลกระทบด้านการท่องเที่ยว 

 

นายกฯ กล่าวว่า การประชุมวันนี้มีการหารือระหว่างหน่วยงาน ซึ่งมีหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมที่ประชุม มีการกำหนดมาตรการและวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆจากสาเหตุที่เกิดขึ้นในเวลานี้ผลกระทบที่เกิดจากสงคราม รวมทั้งสงครามการค้ากินระยะเวลายาวนาน จากนี้ไป 3-6 เดือนแล้วจะเกิดอะไรขึ้น หรือเกิน 6 เดือนไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น เราจึงต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดผลกระทบกับประเทศไทยน้อยที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าจากต้นทุนที่เรามีอยู่ในปัจจุบันเราไม่สามารถที่จะดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องมากขึ้นเรื่อยๆโดยการใช้เงินมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะจะทำให้มีปัญหา สิ่งสำคัญที่สุดจึงต้องเตรียมความพร้อมไว้ เพราะผลกระทบมีมากมายหลายส่วนด้วยกัน

 

“โดยสรุปเรากำหนดว่าการทำงานของเราที่ผ่านมามีมาตรการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางต่างๆซึ่งทำมาโดยลำดับ ตั้งแต่ช่วงเกิดโควิดและหลังการเกิดโควิด มีการคลี่คลายมากขึ้น วันนี้อยู่ในระยะ 3 เดือน คือตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย. เราต้องมาดูว่าในช่วง 3 เดือนนี้มีอะไรเกิดขึ้นใหม่อีกที่มีผลกระทบในทุกๆด้าน เราก็ต้องมาดูว่าเรายังมีงบประมาณอีกเท่าไหร่ และจะหาเงินได้จากที่ไหน หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆแต่วันนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการแถลงและชี้แจงแล้วว่ามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ ซึ่งคงมีการชี้แจงเพิ่มเติมว่าสิ่งไหนทำได้หรือไม่ได้ สิ่งไหนทำแล้วจะถูกฟ้องร้องยืนยันว่าทั้งหมดไม่ได้เอื้อประโยชน์กับใคร แต่ยึดกฎหมายคุ้มครองที่มีอยู่เราพยายามทำให้มากที่สุด สิ่งที่สรุปวันนี้คือการเตรียมมาตรการ 3 เดือน ดังนั้นสิ่งที่เคยให้ไปในขณะนี้เราจะมาดูว่าเราจะพิจารณาให้อะไรเพิ่มเติมได้อีกหรือไม่ และจะดูแลตรงไหนได้อีกบ้างและมีเงินอีกจำนวนเท่าไหร่ จะหาเงินได้จากที่ไหนถ้าใช้การกู้เงินมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเป็นการสะสมหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นไปตามลำดับซึ่งจะมีผลต่อการเงินในระยะยาว ส่วนในเรื่องการที่จะไปบังคับอะไรต่างๆนั้นกฎหมายทำไม่ได้ ถ้าทำไปก็จะเสี่ยงถูกฟ้องร้อง ก็ต้องระมัดระวังมากที่สุด” นายกฯ กล่าว

 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ข้อสรุปก็คือมาตรการในช่วง 3 เดือนคือตั้งแต่ ก.ค.-ก.ย. การหารือวันนี้ก็มีมาตรการที่จะต่ออายุเพิ่มเติมให้ และจะหาเงินจากที่ไหนได้บ้าง หลังจากนั้น 3 เดือนต่อไป ต.ค.-ธ.ค. จะทำอะไรได้ต่อหรืออะไรที่ทำไม่ได้แล้ว ถ้าทำแล้วจะเกิดปัญหาต่อระบบการเงินการคลังก็ต้องไปดูอีกเพราะเป็นเรื่องของหนี้สาธารณะเพราะปัจจุบันตัวเลขพุ่งขึ้นตามลำดับ ก็ต้องระมัดระวังให้มากที่สุด และจากนั้นถ้ายังมีการสู้รบอย่างนี้อีกยาวไปจนถึงปีหน้า อีก 3 เดือน ต้องพิจารณาว่าเราจะทำอย่างไรได้บ้างหลายอย่างเราทำได้แต่หลายอย่างก็ต้องลดลงและไปดูเฉพาะกลุ่มที่เดือดร้อนโดยเรียงลำดับมากไปหาน้อย 

 

พล.อ.ประยุทธ์​ กล่าวว่า วันนี้เป็นการสรุปมาทุกประเด็นในเรื่องของปัญหาสถานการณ์ เราสร้างฉากทัศน์ของเรา 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี นี่เรียกว่าเป็นการวางแผนระยะยาวเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเป็นกลไกเหมือนกับครม.เศรษฐกิจกลายๆ และทั้งหมดนี้จะนำไปหารือกับภาคเอกชน ซึ่งจริงๆแล้ววันนี้ข้อมูลจากภาคเอกชนมีเข้ามาแล้ว เขาต้องการอะไร เดือดร้อนตรงไหน ไม่ว่าจะเรื่องเกษตร อุตสาหกรรมต่างๆ เรามีข้อมูลหมดแล้ว และเราจะดูว่าจะทำอะไรได้บ้าง และนำไปสู่การหารือของครม. เพราะครม.เป็นผู้ปฏิบัติงานในวันนี้ ซึ่งวันนี้เป็นเรื่องของนโยบาย กรอบการดำเนินการ 

 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า วันนี้เราต้องเตรียมรับในเรื่องของพลังงานจะต้องไม่ขาดแคลน และวันนี้เรายังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ขาดแคลนแต่ราคามันสูงถูกหรือไม่ ทั้งค่าน้ำมัน ค่าแก็ส อะไรต่างๆ ท่านต้องรู้ว่าวันนี้ราคาน้ำมันจริงมันเท่าไหร่ และดูราคาต่างประเทศด้วย ซึ่งมาจากมาตรฐานตัวเดียวกันในราคาต้นทุนน้ำมัน ในส่วนค่าการกลั่น ค่าอะไรต่างๆที่พูดๆกัน มันมีกฎหมายทุกตัว ซึ่งทางคณะกรรมการกฤษฎีกาจะเป็นผู้ชี้แจงอะไรทำได้หรือทำไม่ได้

 

“ไม่ได้เอื้อประโยชน์กับใคร ทำไมผมต้องไปเอื้อกับใคร ถ้ามันทำได้จริงผมก็ทำได้ มันก็เสี่ยงอยู่เหมือนกัน” นายกฯกล่าว

 

นายกฯ กล่าวอีกว่า อันแรกไฟต้องไม่ดับ พลังงานต้องมีเพียงพอ วันนี้ตนทราบว่าอัตราสำรองเรายังมีใช้ได้ระยะหนึ่ง แม้ไม่มีการนำเข้าอีก จะอยู่ได้กี่วันก็ได้หาข้อมูลไว้ก่อนแล้ว เราต้องเตรียมแผนตรงนี้ถ้ามันขาดแล้วจะทำอย่างไร ถ้านำเข้าไม่ได้อีกนี่คือปัญหา ส่วนเรื่องของอาหารตนคิดว่าประเทศเราไม่น่าจะมีปัญหาการขาดแคลนอาหาร แต่วันหน้าเราต้องเตรียมความพร้อม ในเมื่อเราจะเป็นแหล่งอาหารโลกจะต้องพัฒนาด้านการเกษตรอย่างไร ซึ่งวันนี้มีปัญหาเรื่องอาหารสัตว์ ต้นทุนปุ๋ย ต้นทุนการผลิตอะไรต่างๆเราจะสร้างความมั่นคงด้านนี้ได้อย่างไร ซึ่งจะมีการขับเคลื่อนนำแร่โปรแตชมาทำแม่ปุ๋ย และเรื่องพลังงานตนได้ให้ไปหารือกันจะหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติมได้หรือไม่ในอ่าวไทยหรือที่ไหนก็แล้วแต่ ซึ่งจำเป็นต้องมีการพูดคุยเจรจากับต่างประเทศหรือประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะความมั่นคงด้านพลังงานไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียวแต่เป็นความมั่นคงพลังงานของอาเซียนด้วย จะต้องหารือร่วมกันและหาทางออกให้ได้

 

นายกฯ กล่าวว่า ในเรื่องของเกษตรกรวันนี้ตนเป็นห่วงทุกคนจะดูแลเขาได้อย่างไร ซึ่งวันนี้มีหลายมาตรการดูแลอยู่แล้ว ก็ต้องดูแลว่าจะเพิ่มเติมตรงไหนได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้แล้วจะทำอย่างไร สิ่งสำคัญวันนี้ทุกคนต้องเข้าใจไปด้วยกันวันนี้ปัญหาเกิดขึ้นมากมายทั้งเงินเฟ้อ ปัจจัยจากราคาพลังงาน ต้นทุนการผลิตไปสู่ผู้บริโภค จะเห็นได้ว่าราคาขึ้นโดยผู้ผลิตซึ่งมีต้นทุนสูง ซึ่งราคาก็โยนมาให้ผู้บริโภครับไป  ดังนั้นต้องไปดูว่าปฏิบัติตามกฎหมายหรือเปล่า ราคาเป็นอย่างไร ขึ้นตามสัดส่วนที่ควรจะขึ้นหรือไม่ แต่เรื่องการฟื้นตัวต่างๆตนคิดว่าวันนี้ดีขึ้น การท่องเที่ยวดีขึ้น การส่งออกก็ดีขึ้น แต่อาจจะยังกระจุกตัวอยู่ ไม่กระจายไปสู่ประชาชนทุกกลุ่ม ที่น่าเป็นห่วงคือผู้มีรายได้น้อย กลุ่มเปราะบาง รายได้ต่ำ หนี้สินครัวเรือน ตรงนี้ก็ต้องไปแก้กันอีกทาง

 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับความเดือดร้อนในกลุ่มsmeด้านสินเชื่อต่างๆรัฐบาลก็อยากจะช่วยและอยากจะให้ แต่ก็ต้องระมัดระวังเพราะโอกาสผิดนัดชำระหนี้หรือหนี้เสียมากพอสมควร แต่ก็จะพยายามดูแลให้มากที่สุด เรื่องการเพิ่มต้นทุนการผลิตภาคการเกษตรจะต้องเพียงพอ วันนี้ยังโอเคอยู่ แต่ปุ๋ยต้นทุนการเกษตรสูงขึ้นก็ต้องหาทางแก้โดยหน่วยงานและกระทรวงที่เกี่ยวข้อง สรุปสิ่งที่หารือกันวันนี้คือการบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนจะทำอย่างไร ด้านอาหารต้องดูปัจจัยการผลิต การขนส่งแม้จะใช้ทางรางแต่ก็ไม่เหมือนกับรถที่ไปส่งถึงที่ หากค่าขนส่งสูงขึ้นต้องหาวิธีการจะลดตรงไหนได้ เราต้องรู้ราคาพลังงานต้นทุนจริงๆเท่าไหร่ในโลกใบนี้ ตอนนี้ 40 กว่า เรารักษาได้ประมาณนี้โดยใช้เงินมหาศาลแสนกว่าล้านบาท ถ้าใช้อย่างนี้ไปเรื่อยๆจะไหวไหม ขอให้เข้าใจตรงนี้กันด้วย ถ้าเรามีงบประมาณเพียงพอตนยินดี แต่ก็ต้องระวังในสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สาเหตุที่เรียกประชุมสมช.ในวันนี้เพราะมีปัจจัยเกี่ยวข้องด้านความมั่นคง ด้านเขตแดน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงต้องใช้กลไกนี้ประชุม และมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุดคือคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารวิกฤตเศรษฐกิจ คล้ายครม.เศรษฐกิจกลายๆโดยนายกฯเป็นประธาน และตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจติดตาม ประมวลผล วิเคราะห์ผลกระทบ และจัดทำข้อเสนอในการแก้ปัญหาทุกมิติ จัดแผนรองรับในทุกด้านตามวิกฤตการณ์ในอนาคตด้วย วันนี้ได้เอากฎหมายมาพิจารณาทั้งหมดว่ามีกฎหมายที่เกี่ยวมีอะไรบ้างทำได้หรือทำไม่ได้ 

 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามจากความคิดเห็นในที่ประชุมและข้อเสนอต่างๆหลายอย่าง ทั้งข้อกังวล ข้อห่วงใยเป็นการหารือกันอย่างรอบคอบ ซึ่งคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นจะไปหารือในรายละเอียดเพิ่มเติม หลังจากคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นหารือแล้วทั้งหมดจะต้องเข้าที่ประชุมครม. ส่วนสาเหตุที่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพราะจะเอาครม.มาทั้งครม.ไม่ได้

 

“สิ่งสำคัญวันนี้ขอสักอย่างได้หรือไม่ รู้ไหมจะขออะไรช่วยกันประหยัดหน่อยได้ไหม ช่วยประหยัดใช้พลังงานใช้ที่จำเป็นได้หรือไม่ เพื่อให้ค่าต่างๆลดลง ค่าไฟฟ้าลด ค่าFTลด ถ้าใช้เหมือนเดิมก็ลำบากเหมือนกัน แต่ผมก็ขอร้องเท่านั้นบังคับไม่ได้อยู่แล้ว ผมเองก็ใช้รถเท่าที่จำเป็น” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงการตั้งคณะกรรมการชายแดน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นการพูดถึงการหาแหล่งพลังงานในพื้นที่อื่นจะได้หรือไม่ เช่น อ่าวไทย อันดามัน จะสามารถขุดเจาะน้ำมันเพิ่มได้หรือไม่ จะมีการร่วมมือพื้นที่พัฒนาร่วม (เจดีเอ) ได้หรือไม่ซึ่งก็ต้องมีการหารือกัน เพราะวันหน้าเราจะพึ่งพลังงานจากประเทศไกลๆคงไม่ได้แล้ว วันนี้พลังงานก็รู้กันดีว่าน้ำมัน แก็ส มาจากไหน รอบบ้านเราทั้งนั้น ถ้ามีปัญหารอบบ้านแล้วจะเกิดอะไรขึ้น การค้าชายแดนจะมีปัญหาหรือไม่จะพันกันไปหมด เรื่องเศรษฐกิจความมั่นคงมันพันกัน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ฉะนั้นการจะทำอะไรก็ตามต้องระมัดระวังอย่างที่สุด ตนถึงได้บอกย้ำสิ่งสำคัญในวันนี้มูลค่าการค้าชายแดนสูงขึ้นมากเป็นแสนๆล้าน ฉะนั้นถ้ามีปัญหากันมากๆคนเดือดร้อนคือใครก็รู้อยู่ 

 

เมื่อถามว่า ในแผน 3 เดือนข้างหน้าจะมีการกู้เงินหรือไม่ และมีแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 อย่างไรพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้พูดถึงว่ามีความจำเป็นไหม จะต้องดูแลต่อไหม อันไหนที่ต้องพอแค่นี้ก่อน สิ่งสำคัญต้องเซฟให้ได้ก่อน จะเซฟตรงไหนลงได้บ้าง ไม่ใช่ไปเรื่อยๆจนไม่มีวันสิ้นสุดมันก็จะไปไม่ได้หมดถ้ามันไม่ได้แล้วจะกู้เงินหรือไม่ ควรต้องทำไหม จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนใช้รถใช้ถนนได้หรือไม่มันเกี่ยวข้องกันหมด อย่าไปคิดว่าเราโยนความรับผิดชอบให้ใคร ตนเจ็บปวด ตนไม่อยากจะพูด ตนเดือดร้อนกับท่านไปด้วย ไม่ใช่ตนสบาย ตนก็เดือดร้อนไปกับท่าน ตนเดือดร้อนในเรื่องการบริหาร ไม่สบายใจแต่พยายามจะทำให้ประชาชนมากที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ และต้องนึกด้วยว่าถ้าทำไปแล้วผิดจะทำอย่างไร ลองศึกษาดูกฎหมายมีอยู่ทุกตัว 

 

เมื่อถามว่า เรื่องประหยัดพลังงานนอกจากการขอร้องแล้วจะมีการออกเป็นกฎหรือมาตรการออกมาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ฝ่ายกฎหมายเขาก็พิจารณาและบอกว่าการออกกฎหมายมาต้องจำเป็นเด็ดขาดเท่านั้นถึงจะทำได้ มันมีความเสี่ยงสูง เมื่อถามว่ามาตรการ 3 เดือนที่จะเพิ่มให้มีอะไรบ้าง นายกฯ กล่าวว่า มาตรการเดิมที่เราดูแลอยู่มีอะไรบ้างต้องพิจารณาว่าจะต่อได้แค่ไหนและควรจะต่อหรือไม่ จะต้องลิมิตหรือไม่ ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นความเดือดร้อนก็ลดลง ไม่เช่นนั้นเราจะสมทบไปเรื่อยๆแสนกว่าล้านบาทเฉพาะเรื่องพลังงานอย่างเดียว 

 

เมื่อถามว่า จะมีการรณรงค์เรื่องการประหยัดพลังงานอะไรออกมาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ได้พูดไปหลายครั้งแล้ว หลายคนก็ย้อนกลับมาว่านายกฯไม่ลำบาก นายกฯมีรถประจำตำแหน่ง เติมน้ำมันฟรี ตนไม่ได้เติมน้ำมันฟรีเลย เมื่อถามว่า โครงการพลังงานหาร 2 จะกลับมาอีกหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า กำลังดูเรื่องเครดิตพลังงาน จะมีแท็กเครดิตก็ต้องหาเงินมาอีกจะเอาจากที่ไหน ซึ่งต้องขอความร่วมมือกันอีกตรงนั้น

 

เมื่อถามว่า จะพิจารณามาตรการเวิร์คฟอร์มโฮมกลับมาอีกหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า มาตรการเวิร์คฟอร์มโฮมก็เป็นสไตล์ดี แต่ปัญหาต้องเช็คว่าเวิร์คฟอร์มโฮมที่บ้านจริงหรือเปล่า เพราะท่านถือไปที่ไหนก็ได้ ถ้าเวิร์คฟอร์มโฮฒก็ต้องคุมตำแหน่งต้องอยู่ที่บ้าน ไม่เช่นนั้นมีปัญหาหมด บางครั้งการทำงานต้องอยู่ที่ศูนย์สั่งการที่กระทรวงที่ทำเนียบฯก็สำคัญ เพราะเป็นศูนย์การสั่งการข้อมูลเอกสารอยู่ในนี้หมด การทำงานข้างนอกก็เป็นครั้งคราวกับเจ้าหน้าที่บางส่วนต้องประกอบกัน 2 อย่างจะทำอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ยกเว้นเรื่องธุรกิจเขาพอทำได้ แต่ถ้าเป็นศูนย์ราชการลำบาก 

 

เมื่อถามว่า จะมีการพิจารณาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชาเพื่อหาแหล่งพลังงานหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า ต้องหารือกัน เราอย่าไปใช้พื้นที่อย่างนั้นเลย เราจะหาทางคุยกันได้หรือไม่ในลักษณะพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษทางทะเลได้หรือไม่ เพื่อเดินหน้าไปสู่การเจรจาพูดคุยให้เป็นเรื่องเป็นราว อย่าเอาไปพันกับเรื่องเขตแดนเดี๋ยวจะเป็นปัญหาใหญ่ทั้งหมด ต้องดูว่าวันนี้มีความจำเป็นหรือไม่ ไม่ทำมันก็ได้แต่มันเดือดร้อนหรือไม่ ก็ต้องช่างน้ำหนักเอาตรงนี้ เดี๋ยวคงเป็นเรื่องการหารืออีกครั้ง ตนขอร้องแแล้วกันหลายคนจ้องจับตาดูพวกนี้ อีกข้างอยากได้ อีกข้างไม่อยากให้ทำ แล้วมันทำได้สักอย่างไหม

 

เมื่อถามว่า คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นจะเร่งประชุมภายในสัปดาห์นี้หรือไม่ นายกฯกล่าวว่า เดี๋ยวเขาทำเองแนวทางอยู่ในช่วง 3 เดือนนี้อยู่แล้ว ค่าน้ำค่าไฟอะไรต่างๆจะทำได้ถึงเดือนธ.ค.หรือไม่ หรือจะเพิ่มอะไรได้บ้าง ต้องดูกระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวา ตนยืนยันจะดูแลให้เต็มที่มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าเปรียบเทียบหลายประเทศมีปัญหามากกว่าเรา ถ้าเรามองแต่ตัวเราก็จะรู้สึกว่าเราแย่ที่สุด มันไม่ใช่ คิดว่าทุกรัฐบาลก็พยายามแก้ไขปัญหาแม้ประเทศมหาอำนาจก็เจอปัญหาพลังงานเหมือนกัน เพราะเขาก็สั่งอะไรไม่ได้เหมือนกัน ลองตามดู ถ้าเราพูดกันเอาเองเอามัน มันก็ได้หมด เป็นการทำงานในรูปแบบยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ 3 เดือน 6 เดือน ไปว่ากันมา เป็นรัฐบาลต้องทำอยู่แล้ว 

 

ผู้สื่อข่าวถามว่านายกฯยังมีกำลังใจที่จะสู้ต่อหรือไม่ นายกฯ​กล่าวว่า “ผมไม่เคยท้อแท้อยู่แล้ว ถ้าอยู่ต่อก็ทำให้ ถ้าไม่อยู่ก็หาคนอื่นมาทำกันเอง ทำให้ดีกว่าก็แล้วกัน ประชาชนจับตาดูอยู่แล้ว “ 

 

ด้านพล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะทำงานชุดที่ตั้งขึ้นจะติดตาม ขับเคลื่อน ซึ่งจะมีความคล่องตัวอย่างมาก โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่ในส่วนคณะทำงานชุดที่ 2 จะมีผู้แทนจากกระทรวงการคลังเป็นประธาน ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงหรือปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่ง คณะกรรมการชุดนี้ชื่อคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจส่วนตัวย่อยังไม่ได้คิด อย่างไรก็ตามผลการประชุมในวันเดียวกันนี้จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 5 ก.ค. นี้