เทศบาลเมืองชัยภูมิ  พร้อมรับมืออุทกภัยปี 65 หลังท่วมหนักปี 64 นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองชัยภูมิ ลงพื้นที่ระดมเครื่องจักรกลและสรรพกำลังจากเทศบาลและ 25 ชุมชน เร่งทำความสะอาด กำจัดขยะ ลอกท่อ ทางระบายน้ำ  ให้เสร็จ ก่อนฤดูฝนมาเยือนหลังมีน้ำท่วมหนักเมื่อปี2564
       
นาย ธีวรา วิตนากร นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหลังจากตรวจงานขุดลอกคลองน้ำฯ โดยกล่าวว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ กองช่างที่นำเครื่องจักรกล ไปขุดลอกคลองในเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ  เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในปี2565 และได้มอบหมายให้ ดร.สมเกียรติ  คงกระพี้  รองปลัดรักษาการณ์ปลัดเทศบาลเมืองชัยภูมิ นำทีมกองช่างสุขาภิบาล และกองช่างดับเพลิงสำนักงานเทศบาลเมืองชัยภูมิ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน วันละกว่า 20 คน นำอุปกรณ์เครื่องจักรกลลงพื้นที่ขุดลอกคลอง กำจัดผักตบชวาใช้เครื่องจักรดูดและกำจัดในท่อระบายทิ้ง บริเวณรอบเขตเทศบาล ทั้ง 25 ชุมชน เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมในเขตเทศบาลปีนี้อย่างเร่งด่วน ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่เทศบาลได้ลงมือทำงานรุดหน้าไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์แล้ว นอกจากนี้ยังได้ทำความสะอาด  ขุดลอกคลอง เก็บวัชพืช และสิ่งกีดขวาง รวมทั้งขยะที่อยู่ในลำคลองและลำรางน้ำ ทางน้ำรอบๆเมืองและในตัวเมือง จนสะอาด โดยใช้ทั้งคน และเครื่องจักรรวมทั้งอาสาสมัครด้วย ส่วนท่อระบายน้ำเสียและลำรางระบายน้ำในเมือง ก็ใช้เครื่องจักรดูดเลน และขยะออกจากท่อไปได้มากแล้ว  โดยรวม ระยะทางที่ต้องทำความสะอาดประมาณ 50  กิโลเมตร ส่วนปัญหาและอุปสรรคที่ประสบอยู่ก็มีหลายประการด้วยกันเช่น ทางน้ำบางส่วนเป็นที่ของเอกชนไม่สามารถเข้าไปได้ บางส่วนเครื่องจักรไม่สามารถเข้าไปทำงานได้  ทำให้เกิดความล่าช้ามากขึ้น  ที่น่าชื่นชมคือปีนี้ หน่วยราชการหลายหน่วยและชุมชนต่างๆ รวมทั้งน้องๆผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำ  ก็เข้ามาเป็นอาสาสมัครร่วมทำงานนี้ด้วย 


           
นาย ธีวรา วิตนากร  นายกเทศมนตรีฯ บอกต่อไปว่าสำหรับแผนการรับน้ำในปีนี้  เทศบาลเมืองชัยภูมิ นำสภาวะน้ำท่วมในปีที่ผ่านมาเป็นบทเรียนในการเตรียมตัวรับน้ำ   ปีนี้ ถึงแม้ว่าตัวเมืองชัยภูมิจะมีภูมิประเทศเป็นที่ลุ่มรับน้ำ แต่เทศบาลฯก็จะพยายาม ระบายน้ำ ส่งน้ำออกไปให้เร็วที่สุดโดยวางแผนการดำเนินการไว้ 5 ขั้นตอนดังนี้      1.จัดการสิ่งกีดขวางทางน้ำให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์  2. ดูดเลน และกำจัดขยะในท่อทางระบายน้ำ ให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ 3.เตรียมตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดเสี่ยง 14 จุด 27 เครื่อง สำรองอีก 4  เครื่อง  4. จัดเรือท้องแบนเข้าประจำการ 7 ลำ และเตรียมจัดหามาเพิ่มเติมอีกให้พอเพียงการใช้ช่วยเหลือประชาชน 5.เตรียมจัดตั้งศูนย์อำนวยการ  เตรียมแต่งตั้งผู้รับผิดชอบ มอบหมายหน้าที่ทำความเข้าใจการทำงาน  จัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือประชาชน เป็นต้น  ที่สำคัญเรื่องเตรียมงบประมาณการช่วยเหลือ และดำเนินการให้เพียงพอใช้จ่าย  จึงคาดว่าสถานการณ์น้ำท่วมขังในปีนี้คงลดน้อยลง หรือไม่มีเลย