วันที่ 4 ก.ค.65 นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 11/2565 ณ ห้องประชุม ชั้น 35 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกทม. ดินแดง ว่า ที่ประชุมมีรายงานเรื่อง ความคืบหน้าการพิจารณาเพิ่มเงินค่าตอบแทนสำหรับพนักงานกวาด ทั้งนี้ จากนโยบายนายชัชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ต้องการให้สวัสดิการพันกงานกวาด ซึ่งตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องค่าตอบแทน พ.ศ.2546 กำหนดไว้ว่าค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บได้สามารถนำมาให้ค่าตอบแทนคนงานเก็บขนมูลฝอย และคนงานเก็บสิ่งปฏิกูล ยังขาดกลุ่มของคนงานกวาด ซึ่งได้ให้สำนักสิ่งแวดล้อมไปศึกษาข้อบัญญัติดังกล่าว ปรับแก้เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม อยู่ระหว่างร่างแก้ไขข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องค่าตอบแทน พ.ศ.2546 เมื่อเสร็จจะส่งให้สำนักงานกฎหมายและคดีพิจารณา และส่งต่อคณะกรรมการกลั่นกรองก่อน เสนอผู้ว่าฯกทม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ

สำหรับคนงานของกรุงเทพมหานครปัจจุบัน มีจำนวนรวม 28,122 ราย เป็นในส่วนลูกจ้างประจำ จำนวน 17,901 ราย แบ่งเป็น พนักงานเก็บขนมูลฝอย 7,489 ราย พนักงานกวาด 6,029 ราย พนักงานสวนสาธารณะ 3,492 ราย และ พนักงานเก็บสิ่งปฏิกูล 891 ราย ส่วนของลูกจ้างชั่วคราว จำนวน 10,221 ราย เป็นพนักงานเก็บขนมูลฝอย 3,710 ราย พนักงานกวาด 3,811 ราย พนักงานสวนสาธารณะ 2,096 ราย และ พนักงานเก็บสิ่งปฏิกูล 604 ราย 

นอกจากนี้ ยังมี เรื่อง มาตรการในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่เด็กนักเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้งโรงเรียนในสังกัด และโรงเรียนนอกสังกัด โดยพล.ต.อ. อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เสนอ 5 มาตรการ เพื่อดูแลความปลอดภัยรอบบริเวณโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ ประกอบด้วย 1.ตรวจสอบกล้อง CCTV ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน หากชำรุดหรือไม่พร้อมใช้งานให้เปบี่ยนทันที รวมทั้งให้จัดทิศทางมุมกล้องและความคมชัดของกล้องให้เหมาะสม 2.ไฟฟ้าส่องสว่าง และต้อนไม้กิ่งไม้ที่บดบังทัศนวิสัย บดบังไฟและกล้องให้ตัดให้เรียบร้อย 3. จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจดูแลความปลอดภัยรอบบริเวณโรงเรียน ตั้งแต่ 05.00 -06.00 น. 4.จัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดช่วยดูแลสอดส่องเป็นหูเป็นตา รวมทั้งร่วมกับตำรวจอบรมซักซ้อมปฏิบัติการดูแลความปลอดภัย 5.เน้นการทำงานกับทุกกลุ่มเพื่อป้องกันเหตุโดยเฉพาะพื้นที่รกร้าง ซึ่งปัจจุบันมีจุดเสี่ยงที่สำรวจไว้ทั่วกรุงเทพฯ 463 จุด แบ่งเป็น 7 ประเภท คือ 1.บริเวณท่ีรกร้าง 12 แห่ง 2.อาคารร้าง 6 แห่ง 3.สะพานลอยคนข้าม 66 แห่ง 4.สวนสาธารณะ-สวนหย่อม 46 แห่ง 5.จุดอับจุดมืดจุดอับสายตา 88 แห่ง 6.โรงเรียน-สถานศึกษา 64 แห่ง และ 7.อื่นๆ เช่น ถนน ตรอกซอย เปลี่ยวช่วงกลางคืน 181 แห่ง