วันที่ 4 ก.ค.65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า...
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 316,674 คน ตายเพิ่ม 462 คน รวมแล้วติดไป 554,313,474 คน เสียชีวิตรวม 6,361,227 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อิตาลี ไต้หวัน ออสเตรเลีย เม็กซิโก และญี่ปุ่น
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 69.06 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 73.37
...สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า
จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
...การติดเชื้อปัจจุบันของไทย
ในแต่ละวัน รอบตัวเรามีคนติดเชื้อจำนวนมาก
เท่าที่ประเมินจากวงรอบที่รายงานมา สาเหตุที่พบบ่อย 3 อันดับแรกคือ สมาชิกในครอบครัวที่ติดจากเด็กๆ นักเรียน นิสิตนักศึกษา ซึ่งติดมาจากโรงเรียนหรือสถานศึกษา, คนวัยทำงานติดจากการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งในที่ทำงานจากเพื่อนร่วมงาน และระหว่างการกินอาหารร่วมกัน, และสุดท้ายคือ การติดเชื้อจากการปาร์ตี้สังสรรค์ในทุกเพศทุกวัยทุกอาชีพ
BA.5 มีสมรรถนะในการแพร่เชื้อเร็ว ดื้อต่อภูมิคุ้มกันทั้งจากวัคซีน ภูมิคุ้มกันจากการที่เคยติดเชื้อมาก่อน และดื้อต่อยาแอนติบอดี้ที่ใช้รักษาหลายชนิด
ด้วยเหตุผลทางการแพทย์ข้างต้น เราจึงไม่แปลกใจที่เกิดการแพร่ระบาดปะทุขึ้นมาอย่างรวดเร็วในกว่า 110 ประเทศทั่วโลกตอนนี้ รวมถึงประเทศไทย
เสรีการใช้ชีวิต ย้อนกลับไปใช้ชีวิตแบบอดีต ลัลล้าโดยไม่ป้องกันตัว ย่อมทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อกันไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงต้องยอมรับความจริงว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้ทำมาหากิน ศึกษาเล่าเรียน รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันนั้น จำเป็นต้องทำไปโดยใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวอยู่เสมอเป็นกิจวัตร
การตัดสินใจประกาศนโยบายถอดหน้ากากในที่สาธารณะ หรือให้ใส่ตามความสมัครใจ ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดทั่วโลกและในประเทศที่ยังกระจายทั่วนั้น จึงไม่ใช่ทิศทางที่ถูกต้อง
การใส่หน้ากากระหว่างการใช้ชีวิตประจำวันนั้นไม่ใช่เรื่องลำบากยากเย็น หากใส่ใจต่อสุขภาพของตนเองและคนรอบตัว และจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
...หาโอกาสพัฒนาในภาวะวิกฤติ
จะเห็นได้ว่า จากลักษณะการติดเชื้อปัจจุบันมักเกิดในโรงเรียน/สถานศึกษา ครอบครัว ที่ทำงาน และวงสังสรรค์
ธรรมชาติของโรคติดต่อนั้น จะแพร่ได้เกิดจากจำนวนคน ความใกล้ชิด ระยะเวลาที่คลุกคลีและสัมผัสกัน การระบายอากาศ และการป้องกันตัว
การติดเชื้อในครอบครัวน่าจะจัดการป้องกันได้ยาก ทางที่พอทำได้คือ การคอยสังเกตสังกาอาการผิดปกติของสมาชิก และรีบตรวจรีบแยกตัวรีบรักษาโดยเร็ว และประเมินตนเองเสมอว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงนอกบ้านมาหรือไม่ (early detection and early treatment)
ในขณะที่โรงเรียน สถานศึกษา ที่ทำงาน และสถานที่จัดงานสังสรรค์นั้น หากเกิดเหตุการณ์ติดเชื้อขึ้นมาจำนวนมาก ผู้ที่เกี่ยวข้องควรประเมินระบบของตนเองอย่างถี่ถ้วนว่าพอจะปรับปรุงสถานที่ และกระบวนการทำงาน/กิจกรรมต่างๆ ให้สามารถลดความแออัด เพิ่มวิธีระบายอากาศให้ถ่ายเท และเพิ่มกระบวนการตรวจคัดกรองต่างๆ ให้รัดกุมขึ้นได้หรือไม่
สุดท้ายคือ การที่ทุกคนป้องกันตัวให้รัดกุม ใส่หน้ากากเสมอ เวลาออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ก็จะช่วยลดโอกาสเกิดการระบาดในที่ต่างๆ ได้
โควิด...ติดเชื้อไม่จบแค่ชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อ Long COVID ที่บั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะในการใช้ชีวิตและการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายต่อผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศ
ติดเชื้อแล้ว ก็ติดซ้ำได้ และติดเชื้อซ้ำ จะมีโอกาสป่วยรุนแรงมากขึ้น โอกาสเสียชีวิตมากขึ้น หลายเท่า
Long COVID ยังไม่มีวิธีที่จะป้องกันหรือรักษาได้แบบเฉพาะเจาะจง แม้ฉีดวัคซีนแต่ลดโอกาสได้ราว 15%
ดังนั้นการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
เป็นกำลังใจให้เราช่วยกันพัฒนาระบบการใช้ชีวิตที่รัดกุมขึ้น เพื่อให้สามารถทำมาหากิน ศึกษาเล่าเรียนได้อย่างปลอดภัยไปด้วยกัน