เมื่อวันที่ 3 ก.ค.65 นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่าผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนพลังงานของการบินไทยเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมที่ระดับ 30% ของค่าใช้จ่ายรวมปัจจุบันเพิ่มเป็น 40% และล่าสุดบริษัทได้รับอนุญาตจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ให้ปรับค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับการขนส่งทางอากาศ (Fuel Surcharge ) จากเดิมที่กำหนดเพดานไว้ที่ 130 ดอลลาร์สหรัฐเป็น 150 ดอลลาร์สหรัฐต่อเที่ยว ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ 11 กรกฎาคม 2565 นี้เป็นต้นไป โดยการปรับขึ้น Fuel Surcharge ดังกล่าวนี้เป็นการปรับขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้ หลังจากที่ปรับไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา
“หมายความว่าผู้ที่ซื้อตั๋วโดยสารตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไปจะจ่ายราคาตั๋วโดยสารแพงขึ้น ดังนั้นใครที่มีแผนเดินทางชัดเจนอยู่แล้วให้รีบซื้อตั๋วล่วงหน้าก่อนเลย ทั้งนี้ค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิงจะบวกเพิ่มขึ้นตามระยะทางและตามเส้นทางบินในแต่ละภูมิภาค”
นายสุวรรธนะกล่าวถึงสถานการณ์การบินในปัจจุบันว่า บรรยากาศการเดินทางเริ่มกลับมาหลังการผ่อนคลายของหลายๆ ประเทศ โดยกลุ่มคนเดินทางขณะนี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง รวมทั้งเป็นกลุ่มนักธุรกิจ ทำให้ตั๋วโดยสารโดยเฉพาะเส้นทางยุโรป อย่างอังกฤษ และอีกหลายๆ ประเทศ ที่นั่งในชั้นบิสสิเนสคลาสและเฟิร์สท์คลาสมีความต้องการสูงมาก
ขณะที่จำนวนที่นั่งมีจำนวนจำกัด บริษัทฯ จึงสามารถจำหน่ายตั่วได้ในราคาที่ค่อยข้างดี เนื่องจากระบบการขายตั๋วปัจจุบันจะปรับขึ้นลงตามดีมานด์-ซัพพลาย หากมีคนจองเข้ามามากๆ ราคาก็จะปรับขึ้นตามดีมานด์ ซึ่งที่ผ่านมาราคาตั๋วโดยสารในชั้นบิสสิเนสคลาสและเฟิร์สท์คลาสบางเส้นทางพุ่งสูงกว่า 200,000 บาท
นอกจากนี้ เพื่อตอบโจทย์คนที่มีแผนการเดินทาง การบินไทยได้เปิดขายสมาชิกบัตรทอง “TIME TO GOLD” แพ็กเกจที่มอบเครดิตเงินสำหรับการชำระค่าบัตรโดยสารเครื่องบินมูลค่า 350,000 บาท พร้อมอภินันทนาการสถานภาพสมาชิกบัตรทอง รอยัล ออร์คิด พลัส และข้อเสนอพิเศษต่าง ๆ ตลอดระยะเวลา 2 ปี ของสถานภาพสมาชิกบัตรทอง ตั้งแต่ 25พ.ค. -31 ก.ค. 2565 นี้ ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าค่อนข้างดี โดยสิ้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาขายไปได้กว่า 700 ใบ ซึ่งก็ทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดเข้ามาล่วงหน้ากว่า 200 ล้านบาท
นายสุวรรธนะกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกที่เริ่มคลี่คลาย บริษัทฯ ได้เพิ่มจำนวนเที่ยวบินและเส้นทางบินเพื่อรองรับปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการเติบโตด้านรายได้อย่างมีนัยสำคัญมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา
โดยในเดือนมิถุนายน 2565 การบินไทยและไทยสมายล์มีจำนวนผู้โดยสารรวมเฉลี่ยในแต่ละวันอยู่ที่ 12,568 และ 12,257 คนต่อวัน จาก 269 และ 4,929 คนต่อวันในช่วงเดือนเมษายน – เดือนตุลาคม 2564 อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ของการบินไทยช่วงดังกล่าวปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 75 และมีอัตราการสำรองที่นั่งล่วงหน้าในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ที่เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน