โดย จาง เหลย
เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ปี 2022 จรวดขนส่งลองมาร์ช-2F ซึ่งพัฒนาโดยสถาบันวิจัยเทคโนโลยีจรวดขนส่งแห่งประเทศจีน (ต่อไปเรียกย่อว่า "สถาบันจรวด")เป็นหลัก ได้ส่งทีมนักบินอวกาศของยานเสินโจว-14 เข้าสู่อวกาศ นับจากนี้เป็นต้นไป ภารกิจต่างๆ ในขั้นตอนการก่อสร้างสถานีอวกาศจีนได้เริ่มขึ้นแล้ว
“ออกรบ”มาแล้วหลายครั้ง คุณรู้หรือไม่ว่าจรวดลองมาร์ช-2F มีความพิเศษอย่างไร?
"ยืนเฝ้ายาม" นานที่สุด
การปล่อยยานเสินโจว-14 ด้วยจรวดลองมาร์ช-2F นั้น เป็นภารกิจการบินอวกาศพร้อมมนุษย์ครั้งแรกในขั้นตอนการก่อสร้างสถานีอวกาศ
นายเฉียน หาง นักออกแบบซอฟต์แวร์จาก"สถาบันจรวด" ผู้ที่คอยเฝ้าตรวจจับความผิดพลาดของจรวดลองมาร์ช-2F แนะนำให้ฟังว่า "เพื่อประกันความปลอดภัยในชีวิตของนักบินอวกาศอีกระดับ เริ่มตั้งแต่จรวดลองมาร์ช-2F Y12 และ Y13 ได้ใช้โหมดการยิงส่งแบบ 'ยิง 1 ลูก สำรอง 1ลูก' และ 'จากตัวสำรองขึ้นเป็นตัวหลักในครั้งต่อไป'"
ในฐานะเป็นจรวดที่เตรียมไว้รับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินในภารกิจปล่อยยานอวกาศพร้อมมนุษย์เสินโจว-13 จรวดลองมาร์ช-2F Y14 ที่ยิงส่งในครั้งนี้ได้ผ่านการทดสอบการประกอบขั้นสุดท้ายระดับพื้นฐานเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว และถูกปิดผนึกในท่าตั้งตรงไว้ในอาคารโรงงานพื้นที่ทางเทคนิค ได้เป็นสักขีพยานตั้งแต่ต้นจนจบของกระบวนการทดสอบการประกอบขั้นสุดท้าย การขนส่ง และการปล่อย"จรวดพี่น้อง"ลองมาร์ช-2F Y13 จนกระทั่งทีมนักบินอวกาศ 3 คนของยานเสินโจว-13 ได้แก่ ไจ๋ จื้อกัง, หวัง ย่าผิง และเย่ กวงฟู่ ได้เสร็จสิ้นการท่องอวกาศเป็นเวลา 183 วันและกลับสู่โลกอย่างราบรื่น จรวดลองมาร์ช-2F Y14 ถึงได้สิ้นสุดการอยู่เวร"ยืนเฝ้ายาม"เพื่อคอยรับมือกับเหตุฉุกเฉินที่กินเวลานานประมาณ 6 เดือน และเข้าสู่ขั้นตอนการปล่อยที่เปลี่ยนจาก “ฉุกเฉิน” สู่ “ปกติ” เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับภารกิจนำส่งยานอวกาศพร้อมมนุษย์เสินโจว-14 ขึ้นสู่อวกาศ
จาก "ยืนเข้าประจำที่" สู่ "ส่งมอบหน้าที่และเปลี่ยนเวร" จรวดลองมาร์ช-2F Y14 ได้ยืนอยู่เวรนานกว่า 6 เดือน บวกกับเวลาเตรียมความพร้อมรอการปล่อยที่ต้องยืนตระหง่านอยู่อีกเป็นเวลาเกือบ 10 เดือน จึงนับเป็นสถิติสูงสุดในการยืนเข้าประจำที่ของจรวดปล่อยยานอวกาศพร้อมมนุษย์ของจีน
ความน่าเชื่อถือสูงสุด
"ในประวัติศาสตร์การบินอวกาศของจีน จรวดลองมาร์ช-2F ได้ปฏิบัติภารกิจนำส่งยานอวกาศพร้อมมนุษย์และยานอวกาศเป้าหมายของจีนทั้งหมดขึ้นสู่อวกาศ ตั้งแต่ยานเสินโจว-1 มาจนถึงปัจจุบัน โดยมีอัตราความสำเร็จ 100% จึงได้รับการขนานนามว่า 'จรวดวิเศษจีน' ภาระหน้าที่อันหนักหน่วงแห่งการปล่อยยานอวกาศพร้อมมนุษย์เสินโจว-14 ในครั้งนี้ได้ตกอยู่บน 'บ่า' ของจรวดลองมาร์ช-2F อีกครั้ง” นายจิง มู่ชุน หัวหน้าผู้บัญชาการงานจรวดลองมาร์ช-2F จาก"สถาบันจรวด"กล่าว
เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของจรวดอีกระดับและกำจัดจุดอ่อน เจ้าหน้าที่วิจัยและพัฒนาจึงได้ดำเนินการปรับปรุงทางเทคนิคอย่างต่อเนื่อง เบื้องหลังของการปรับปรุงแต่ละครั้งล้วนหมายถึงการวิเคราะห์เชิงทฤษฎี การจำลองทางคณิตศาสตร์ และการตรวจสอบการทดลองนับไม่ถ้วน การยกระดับให้สูงยิ่งขึ้นภายใต้สภาพที่มีความน่าเชื่อถือค่อนข้างสูงอยู่แล้วนั้น ถือเป็นเรื่องยากมากที่จินตนาการได้ ด้วยเหตุนี้ นายฉาง อู่เฉวียน หัวหน้านักออกแบบภาพรวมของจรวดลองมาร์ช-2Fจาก "สถาบันจรวด" ได้อธิบายเปรียบเทียบกับการทำข้อสอบว่า "มันค่อนข้างง่ายที่จะยกระดับจาก 50 คะแนนเป็น 90 คะแนน แต่จาก 90 คะแนนเพิ่มเป็น 91 คะแนนนั้น การทำงานเบื้องหลังไม่ได้น้อยไปกว่าการเพิ่มจาก 50 คะแนนเป็น 90 คะแนนแต่อย่างใดเลย"
ในที่สุดนักพัฒนาจรวดได้เพิ่มดัชนีความน่าเชื่อถือของจรวดลองมาร์ช-2F จาก 0.97 เป็น 0.9894 ส่วนค่าการประเมินความปลอดภัยของนักบินอวกาศที่พึ่งพาระบบหลบหนีเป็นหลักประกันก็สูงถึง 0.99996 กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ปล่อยจรวด 100 ครั้ง มีความเป็นไปได้ที่อาจเกิดความขัดข้องในการบิน 1 ครั้ง และสมมติว่าเกิดความขัดข้องในการบิน อาศัยระบบหลบหนี 100 ครั้ง มีความเป็นไปได้ที่อาจเกิดความล้มเหลวในการหลบหนีน้อยกว่าหนึ่งครั้ง
แบกภารกิจที่ทรงคุณค่าที่สุด
ภายในปีนี้ จรวดลองมาร์ช-2F จะส่งทีมนักบินอวกาศ 2 ชุดของยานเสินโจว-14 และยานเสินโจว-15 รวม 6 คน เข้าสู่อวกาศตามแผนที่วางไว้ หลังจากเสร็จสิ้นการก่อสร้างในวงโคจรแล้ว โครงการสถานีอวกาศจะเปลี่ยนเข้าสู่ขั้นตอนการใช้งานและการพัฒนาที่กินเวลานานกว่า 10 ปี โดยมีแผนเบื้องต้นคือ แต่ละปีจะปล่อยยานอวกาศพร้อมมนุษย์ 2 ลำและยานอวกาศขนส่งสัมภาระ 2 ลำ ซึ่งถือเป็นการเรียกร้องความปลอดภัยของจรวดในระดับที่สูงยิ่งขึ้น
“จรวดอื่น ๆ จะขนส่งสิ่งของที่มีค่ามากเพียงใด ก็ล้วนสามารถประเมินคุณค่าได้ แต่จรวดลองมาร์ช-2F ทำหน้าที่ขนส่งนักบินอวกาศ ซึ่งชีวิตของพวกเขาสุดที่จะประเมินค่าได้” นางหรง อี้ หัวหน้านักออกแบบจรวดลองมาร์ช-2F จาก"สถาบันจรวด" ย้ำครั้งแล้วครั้งเล่าว่า “การบินอวกาศพร้อมมนุษย์ สำคัญที่สุดเพราะเกี่ยวพันถึงชีวิตมนุษย์" การประกันให้นักบินอวกาศเข้าสู่อวกาศได้อย่างปลอดภัยเป็นภารกิจและความรับผิดชอบพิเศษของนักพัฒนาจรวดขนส่งมนุษย์
เพื่อประกันความปลอดภัยในชีวิตของนักบินอวกาศ จรวดลองมาร์ช-2F ได้ออกแบบระบบหลบหนีโดยเฉพาะ คือ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น ระบบหลบหนีก็จะเปิดใช้งานทันที ยานหนีภัยพ่วงโมดูลส่งกลับจะแยกออกจากจรวดที่เกิดเหตุขัดข้องได้เสมือนการ "ถอนหัวไชเท้า" จากนั้นโมดูลส่งกลับจะแยกออกจากยานหนีภัยอีกทีหนึ่ง เปิดร่มชูชีพ และนำพานักบินอวกาศกลับสู่พื้นโลก
"เราวิจัยและพัฒนาระบบหลบหนีของจรวดตามมาตรฐานสูงสุดและคุณภาพที่เข้มงวดที่สุด มันเป็นผลงานที่ได้จากการร่วมใช้ความพยายามอย่างสุดกำลังความสามารถของชาวการบินอวกาศรุ่นแล้วรุ่นเล่า แต่ทว่า การไม่เปิดใช้งานฟังก์ชันนี้ได้อย่างถาวรนั้นเป็นความปรารถนาของพวกเราทุกคน" นายเฉียน หางกล่าว